LINE MAN จับตาเทรนด์ “ชาไทย Specialty” มาแรงในรอบ 3 ปี ร้านเปิดใหม่พรึ่บ ยอดสั่งเติบโต 81% ทะลุ 4 แสนแก้วในปี 2567 ก้าวสู่สนามเครื่องดื่ม Specialty เต็มตัว
แนวโน้มการเติบโตของ ชาไทย Specialty มีจุดเริ่มต้นในปี 2565 ที่อุตสาหกรรมชาขยายตัวในเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านคุณภาพของใบชา ความหลากหลายของแหล่งปลูก และกำลังการผลิต ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นตลาดค้าชาใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
ปัจจุบัน ชาไทยเป็นที่ต้องการสูงจากทั้งในไทยและทั่วโลก พันธุ์ชาที่นิยมปลูกในไทยได้แก่ ชาจีน (Chinese Tea) และชาอัสสัม (Assam Tea) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของชาไทยสีส้มที่พวกเราคุ้นเคย แล้วถูกพัฒนามาเป็นเมนู ชาไทย Specialty ที่สามารถเลือกรสชาติและกลิ่นหอมได้ เหมือนกับเมนูกาแฟ Specialty
แพร-มิญชยา บูรณะเศรษฐกุล เจ้าของร้าน KHIRI Thai Tea หนึ่งในร้านชาไทย Specialty ที่มียอดออร์เดอร์สูงสุดบน LINE MAN เล่าว่าชาไทยอยู่คู่คนไทยมานาน แต่ด้วยเทรนด์ผู้บริโภคชาวไทยในช่วงหลังที่หันมาบริโภคเครื่องดื่ม Specialty จากตลาดกาแฟ Specialty ทำให้เกิดตลาดชาไทย Specialty ขึ้นตามมา
รูปแบบของชาไทย Specialty จะเชื่อมโยงทุกกระบวนการพัฒนาชาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้ใบชาจากเกษตรกรไทย พัฒนาโดยคนไทย และถ่ายทอดเป็นเมนูที่สะท้อนรสชาติแท้ของชาไทย ปัจจุบัน ร้านชาไทยทั่วประเทศเริ่มคัดสรรใบชาคุณภาพจากแหล่งปลูกหลากหลายทั่วไทย ซึ่งมี Taste Notes เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ เช่น ชาเชียงรายให้กลิ่นอายดอกไม้และเบอร์รี่ ชาแม่ฮ่องสอนมีโน้ตของส้มและเนยสด ชาปัตตานีมีกลิ่นหอมของเนยถั่วและลูกสน

นอกจากนี้ กระแส ชาไทยลิซ่า เมนู Thai up the World by Lisa ที่สร้างสรรค์โดย ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ร่วมกับ Erewhon ซูเปอร์มาร์เก็ตหรูในอเมริกา ผู้บริโภคกระแสหลักจึงสนใจเมนูชาไทยพรีเมียมมากขึ้น ส่งผลให้ร้านดังอย่าง KHIRI Thai Tea, Unicorn Signature, C PROM และร้านเครื่องดื่มทั่วประเทศเพิ่มเมนู ชาไทยลิซ่า ตามมา
เดลิเวอรีหนุนตลาดชาไทย Specialty โตแรงทั่วประเทศ
จากฐานข้อมูลของ LINE MAN พบแนวโน้มการเติบโตที่สำคัญของเมนูชาไทย Specialty อย่างชัดเจน ในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้
- ร้านเครื่องดื่มที่ขายชาไทย Specialty เพิ่มขึ้นกว่า 205% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สอดรับกับพฤติกรรมคนไทยที่หันมาดื่มชาไทยคุณภาพสูงมากขึ้น โดยปี 2567 มียอดสั่งเดลิเวอรีรวมแตะ 4 แสนแก้ว โต 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
- กรุงเทพฯ ยังคงเป็นศูนย์กลางของเทรนด์ชาไทย Specialty มีจำนวนร้านมากที่สุด คิดเป็น 46% ของทั้งประเทศ ตามมาด้วยนนทบุรี และชลบุรี
เจ้าของร้าน KHIRI Thai Tea กล่าวว่า ถ้าเราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของชาไทยได้ดี และมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การพัฒนาเมนูใหม่ การขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น หรือการผลักดันจากแบรนด์ใหญ่ โอกาสที่ชาไทย Specialty จะแมสใกล้เคียงกับกาแฟ Specialty อาจเกิดได้เร็วขึ้นทั้งในไทยและระดับโลก
สำหรับภาพใหญ่ของตลาดเครื่องดื่ม Specialty ทั้งหมด กาแฟ Specialty ยังเป็นผู้นำตลาดในแง่จำนวน ส่วนตลาดชาไทย Specialty กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเทียบอัตราการเติบโตในช่วง 3 ปีล่าสุด (2565-2567 ) จากฐานข้อมูล LINE MAN พบว่า ยอดสั่งชาไทย Specialty โตขึ้นกว่า 3.3 เท่า เทียบกับกาแฟ Specialty ที่เติบโต 2.7 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- นโยบายทรัมป์ 2.0: ส่องส่งออกยางรถยนต์ไทยกับมาตรการเก็บภาษีตอบโต้ของสหรัฐ
- ผลศึกษาชี้ ‘เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล’ ต้นเหตุเสียชีวิต 3.4 แสนรายต่อปี
- ส่องเทรนด์ ‘อาหารและเครื่องดื่ม ปี 2568’ ผู้บริโภคเน้นคุณภาพ ควบคู่สุขภาพและความพึงพอใจ
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook : https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X : https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram : https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg