Entertainment

ต้อนรับวาเลนไทน์ NARIT ชวนบอกรักผ่านดวงจันทร์ สไตล์ดาราศาสตร์

NARIT ร่วมต้อนรับวันวาเลนไทน์ แบ่งปันวิธีบอกรักผ่านดวงจันทร์ แบบดาราศาสตร์ ในแต่ละประเทศ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT โพสต์เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ รวมตัวอย่างการบอกรักในแต่ละประเทศผ่านวงจันทร์ โดยระบุว่า

วาเลนไทน์

บอกรักผ่านดวงจันทร์

ดวงจันทร์ เป็นวัตถุท้องฟ้าในยามค่ำคืนที่มนุษย์รู้จักกันดีที่สุด ชีวิตของเรานั้นผูกอยู่กับดวงจันทร์ แม้กระทั่งในยุคที่นาฬิกาอิงสัญญาณจากนาฬิกาอะตอมผ่านอินเตอร์เน็ตดาวเทียมนี้ เราก็ยังคงการนับเวลาเอาไว้เป็น เดือน ซึ่งมาจากรอบของดวงจันทร์ นอกจากนี้ ดวงจันทร์ยังคงเป็นวัตถุอันงดงาม ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับกวีและศิลปินมาทุกยุคทุกสมัย

ในช่วงโอกาสวันวาเลนไทน์นี้ ก็เลยอยากจะแบ่งปันเรื่องราวตัวอย่างของการ บอกรัก  แบบดาราศาสตร์ ผ่านทางดวงจันทร์ ในแต่ละประเทศกันดูบ้าง

ญี่ปุ่น – 月が綺麗ですね คืนนี้ดวงจันทร์สวยดีนะ 

ประโยคในตำนานนี้ มาจากนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นชื่อดัง นัตสึเมะ โซเซกิ (1867-1916) (ผู้ซึ่งเคยปรากฏอยู่บนธนบัตร 1000 เยนของญี่ปุ่นในซีรีส์ D) ในยุคที่เขาสอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย เขาเหลือบไปเห็นนักศึกษาญี่ปุ่นคนหนึ่ง กำลังแปลประโยคภาษาอังกฤษว่า I love you เป็น วาเระ คิมิ โวะ ไอสึ หรือแปลตรงตัวว่า ฉันรักเธอ

ญี่ปุ่น

นัตสึเมะ โซเซกิ ก็ส่ายหน้า ตำหนินักเรียนว่าแม้ว่าการแปลนี้จะตรงตามความหมาย แต่…นี่มันช่างขาดจิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่น! เพราะว่าการแปลตรงตัวแบบนี้ไม่ได้คำนึงถึงบริบทของสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง ซึ่งชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นการจะบอกรักไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนจะบอกกันตรงไปตรงมาเช่นนั้น

เมื่อถามว่าการแปลที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร เขาจึงตอบไปว่า สึกิ กะ คิเร เดะสึเนะ  (月が綺麗ですね) ซึ่งแปลได้ว่า คืนนี้ดวงจันทร์สวยดีนะ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการบอกที่อ้ออออออมค้อมสุด ๆ ไปเลยตามสไตล์ของชายญี่ปุ่นในยุคนั้น แต่กลับแอบแฝงไปด้วยความแอบโรแมนติก

นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการเล่นคำพ้องเสียง เนื่องจากคำว่า ดวงจันทร์ (月 – สึกิ) นั้นแอบมีเสียงคล้ายคลึงกับคำว่า ชอบ (好き – สึกิ) อีกด้วย

จีน – 月亮代表我的心  ดวงจันทร์แทนใจฉัน 

ประโยคนี้ มาจากชื่อเพลงภาษาจีนในตำนานสุดคลาสสิกของเติ้งลี่จวิน ยเวี่ยเหลียงไต้เปี๋ยวหว่อเตอซิน หรือแปลเป็นไทยว่า ดวงจันทร์แทนใจฉัน ซึ่งมีเนื้อเพลงเกี่ยวกับสตรีผู้หนึ่งที่ถูกคนรักถามว่า เธอรักเขามากแค่ไหน

จีน

แทนที่จะสาธยายยาว ๆ เธอกลับเลือกที่จะตอบสั้น ๆ ว่า ให้ดวงจันทร์แทนใจฉัน โดยให้ความเรียล และความมั่นคงถาวรไม่เปลี่ยนแปลงไปของดวงจันทร์นั้นเป็นตัวแทนของความจริงใจและความไม่แปรเปลี่ยนของความรักของเธอ

แน่นอนว่าในแง่ของความมั่นคงไม่แปรเปลี่ยนนั้น เติ้งลี่จวินคงไม่ได้พูดถึงดวงจันทร์ในแง่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 4,500 ล้านปีที่แล้ว และกำลังค่อย ๆ ถอยห่างออกไปจากโลก 3.78 ซม. ในทุก ๆ ปี และที่เคยถูกกระหน่ำไปด้วยอุกกาบาตในยุค Late Heavy Bombardment แต่ทั้งหมดนี้ถ้าเทียบกับชั่วอายุของมนุษย์แล้วก็คงถือว่ายืนยาวและไม่เปลี่ยนแปลงได้ล่ะมั้ง

อังกฤษ – I love you to the moon and back รักเธอมากไปถึงดวงจันทร์ แล้วกลับมาอีกรอบ

วลีภาษาอังกฤษนี้มีต้นกำเนิดมาจากนิยายเด็กที่มีชื่อว่า Guess How Much I love You แต่งโดย แซม แม็คบราทนีย์ และวาดภาพประกอบโดย แอนิต้า เฌอแรม ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1994 เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระต่ายพ่อลูกสองตัว ที่ระหว่างพ่อกำลังจะกล่อมนอน ลูกก็ให้พ่อทายว่าเขารักพ่อมากแค่ไหน ซึ่งทุก ๆ ครั้งที่ลูกพยายามจะอ้าแขนกว้างที่สุดว่ารักพ่อเท่านี้ พ่อก็จะบลั๊ฟกลับว่าแต่พ่อรักลูกมากกว่า และอ้าแขนกว้างไปอีก

อังกฤษ

หลังจากบลั๊ฟกันไปกันมาสักพักจนเริ่มง่วง ลูกกระต่ายก็เหลือบไปเห็นดวงจันทร์ และบอกพ่อว่า ผมรักพ่อไกลถึงดวงจันทร์เลย พร้อมกับที่ง่วงจนเกือบหลับไปพอดี พ่อที่เริ่มกังวลว่า โอ้ ดวงจันทร์นี่ไกลมากเลยนะ จึงเอาลูกวางลงนอนช้า ๆ และกระซิบกลับไปว่า แต่พ่อรักลูกไปถึงดวงจันทร์ แล้วกลับมาอีกรอบเลยนะ จึงเป็นที่มาของวลียอดฮิตว่า I love you to the moon and back

จะเห็นได้ว่า ดวงจันทร์ นั้นมักจะเป็นวัตถุโรแมนติกสุดคลาสสิกเสมอมา ที่กวีและนักประพันธ์มักจะกล่าวถึงและเป็นตัวแทนถึงความรัก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความงดงาม ความคงทนสม่ำเสมอ หรือระยะทางอันไกลแสนไกล ในโอกาสวันวาเลนไทน์นี้ ใครที่สนใจจะชวนคนไปดูดวงจันทร์สื่อแทนความในใจ ก็สามารถดูดวงจันทร์ค่อนดวงขึ้นทางทิศตะวันออกได้เวลาประมาณสองทุ่ม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo