ศุกร์ (สุข) ละวัด พาไป วัดป่าสาลวัน ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 หลวงชาญนิคม พร้อมด้วยบุตรภรรยา ได้สร้างวัดให้เป็นสำนักสงฆ์วัดหนึ่งท่านเจ้าคุณ พระพรหมมุนี (ติสสเถระ) เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา
นามว่า วัดป่าสาลวัน เพราะบริเวณสร้างวัดนี้โดยมากเป็นป่าไม้เต็งรัง เป็นที่ดินสวนของหลวงชาญนิคม พื้นดินเป็นทราย ภายนอกกำแพงเป็นทางเกวียนรอบวัด เมื่อก่อนเป็นป่าช้า ทั้งหมด ทางด้านอนามัย(ทิศใต้ของวัด)เป็นทุ่งนา ชาวบ้านเขาเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นอิฐมอญเผาขายกัน เดี๋ยวนี้ เป็นหมู่บ้านโฮมแลนด์
ส่วนด้านข้างเมรุหรือเมรุเผาศพ (ทุบทิ้งแล้ว) ปัจจุบันเป็นหนองน้ำ เมื่อก่อนเขาเรียกหนองน้ำนี้ว่า “หนองหัวช้าง” เดี๋ยวนี้ยังเป็นหนองอยู่ เมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นป่าไผ่ และเป็นหนองน้ำ อยู่ตรงกลางเป็นหนองเล็กๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันเป็นหนองใหญ่อยู่นอกกำแพงข้างเมรุ เมื่อก่อนจะมีกองเกวียนผ่านบริเวณแห่งนี้ และควาญช้างนำช้างผ่านมาทางนี้เป็นประจำ จะมาพักอยู่บริเวณหนองน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกหนองนี้ว่า “หนองแก้ช้าง” อยู่ทุกวันนี้
รอบวัดเมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นป่าเปลี่ยว ไม่ค่อยมีคนมาทำบุญเหมือนปัจจุบัน พระก็มีไม่มาก ประมาณ 3 โมงเย็น ก็ไม่มีใครกล้าเข้าวัดกันแล้ว รอบบริเวณวัดก็ไม่มีคนผ่าน รถก็ไม่ค่อยมี สิ่งที่เหลือภายในวัดตอนนี้ ศาลาไม้ หลังเก่าคือศาลาที่ใช้ทำวัตรเช้าเย็นเป็นประจำ หอระฆังเก่าและกุฏิอยู่ข้างหอระฆังเหลือประมาณ 6 หลังด้วยกัน ส่วนศาลาเล็ก รื้อไปหมดแล้วเหลือบันไดปูนและแท็งก์น้ำปูนเก่าๆข้างกุฏิห้า แสนหลังใหม่ ส่วนกุฏิหลวงปู่อ่อน หลังเก่าก็รื้อไปหมดแล้ว เหลือแต่หลังใหม่อยู่ ส่วนเสาธงเมื่อก่อนยังมีเสาและธงแต่ตอนนี้เหลืออยู่แต่ฐานเท่านั้น และที่เผาศพของหลวงปู่สิงห์ยังเหลืออยู่ข้างวิหารใหม่
ปัจจุบันวัดป่าสาลวัน มีเนื้อที่ 43 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวา มีกุฏิ 84 หลัง มีศาลาการเปรียญ วิหาร อุโบสถ สำนักงานสงฆ์ พระตำหนัก โรงครัว โรงไฟ ห้องเก็บพัสดุ บูรพาจารย์เจดีย์ วัดป่าสาลวัน เป็นสถานปฏิบัติธรรมวัดหนึ่งที่สำคัญของพระสงฆ์พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ถือเป็นฐานปฏิบัติธรรมที่สำคัญมาอย่างยาวนานกว่า 74 ปี ด้วยเป็นแหล่งรวมของ พระปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานแห่งกองทัพธรรม
พระคุณเจ้าแต่ละรูปที่ได้ร่วมสร้างและถือปฏิบัติยังวัดป่าสาลวันแห่งนี้ ล้วนเป็นพระที่สร้างคุณูปการ ให้กับวงการศาสนาอย่างใหญ่หลวง อาทิ หลวงปู่เสาร์ กันตะสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม พระอาจารย์พร สุมโน และหลวงพ่อพุธ ฐานิโย พระคุณเจ้า ทุกรูปดังที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นที่นับถือศรัทธาของสาธุชนอย่างไม่เสื่อมคลาย แม้จะมรณภาพละสังขารไปแล้วก็ตามด้วยศรัทธาที่เปี่ยมในความเป็นอริยสงฆ์แห่งพระพุทธศาสนา จึงเป็นแนวคิดการก่อสร้างบูรพาจารย์เจดีย์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ในเวลาต่อมา เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการระลึกถึงในวัตรปฏิบัติ และเป็นสถานที่กราบไหว้บูชาบูรพาจารย์แต่ละรูป พร้อมทั้งยังเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติอันเป็นแบบอย่างของสงฆ์และฆราวาสสืบไป
สำคัญที่สุด ณ บูรพาจารย์เจดีย์ แห่งนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุแห่งบูรพาจารย์และของหลวงพ่อพุธ เพื่อให้พุทธศาสนิกชน และประชาชนไว้เป็นที่เคารพกราบไหว้ เป็นเครื่องเตือนใจเตือนสติในแนวทางแห่งพระธรรมคำสอน อันจะส่งผลให้เกิดความสงบร่มเย็น ต่อสังคม
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หาบน้ำแก้บน’ ยลตลาดไทยย้อนยุค กับ ‘บ้านระจัน สิงห์บุรี’
- ศุกร์ (สุข) ละวัด กับ ‘วัดพระแก้ว’ จังหวัดชัยนาท
- ศุกร์ (สุข) ละวัด : พาไปวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg