Lifestyle

ถึงเวลาต้องคุมเข้มหรือยัง?? ‘ฟอร์มาลิน’ สารอันตรายใส่อาหาร!!

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตือนถึงเวลาคุมเข้ม “ฟอร์มาลิน” สารเคมีวัตถุอันตราย ควรหยุดใส่ในอาหาร เสี่ยงเกิดมะเร็ง ระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว ถึงเสียชีวิต

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยบทความเกี่ยวกับ ฟอร์มาลิน (Formalin)หรือ ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) สารเคมีวัตถุอันตรายที่หลายคน รู้จักกันดี ว่า เป็นยาฉีดศพมนุษย์ ให้คงสภาพความสด ไม่ให้เน่าเปื่อย ก่อนถึง วันเผา นี่คือ ส่วนหนึ่ง ที่ใช้ในวงการแพทย์

ฟอร์มาลิน

ฟอร์มาลิน สารเคมีวัตถุอันตรายที่หลายคน รู้จักกันดี ว่า เป็นยาฉีดศพมนุษย์ ให้คงสภาพความสด ไม่ให้เน่าเปื่อย ก่อนถึง วันเผา นี่คือ ส่วนหนึ่ง ที่ใช้ในวงการแพทย์

นอกจากนี้ ยังใช้เป็นส่วนผสมของน้ำฆ่าเชื้อ และน้ำยาทำความสะอาด, ใช้ในภาคเกษตร, ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทั้ง กระดาษ สิ่งทอ สีทาบ้าน หากนำมาผสมอาหาร นั่นเท่ากับว่า ผู้บริโภคกินสารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว

แต่ทำไม? ฟอร์มาลิน ยังถูกนำมาผสมในอาหารทั้งสด และ แห้ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลสด เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ผัก ผลไม้ทำให้บางคนที่เผลอกินเข้าไปปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิต เพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว

ถึงแม้ไม่ได้กินฟอร์มาลินเข้าไป เพียงแค่สูดดมกลิ่น ก็สร้างผลร้ายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะผลต่อระบบหายใจ อาการที่ปรากฏ ไล่ตั้งแต่ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิต หรือหากสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้

ฟอร์มาลีน

สิ่งเหล่านี้ อาจสะท้อนให้เห็นถึงความละเลยของผู้ประกอบการที่ไม่คำนึงถึงอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งที่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประกาศชัดเจน ฟอร์มาลิน  ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร

ทั้งนี้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ระบุว่า หากมีผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้น เกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค ถือได้ว่าเป็นการผลิต-จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ หากตรวจพบการกระทำผิดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่สำคัญ ยังจัดเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer, 2012) มีอันตรายสูง จึงถูกควบคุมโดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กรมประมง

ขณะที่ กรมควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม จัดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หากผลิต นำเข้า หรือมีไว้ครอบครอง ต้องขึ้นทะเบียน อีกทั้ง ยังเป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2561)

จากพิษภัยร้ายดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ จึงหารือร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนจัดการปัญหาอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน อย่างเป็นรูปธรรม-ยั่งยืน ถือเป็นมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับทุกคน

หมึกกรอบ

จากผลการหารือ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อเสนอสร้างเครือข่ายประชาชนเข้มแข็ง ค้นหาที่มาของการผลิตหมึกกรอบ ให้ชี้เบาะแสร้านค้าผสมฟอร์มาลินในอาหาร การกระตุ้นให้ผู้บริโภค การสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงผู้ค้าที่ไม่รับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่น ด้วยการใช้มาตรการทางสังคมบอยคอตสินค้า หรือ การให้เจ้าของตลาดมีมาตรการลงโทษที่เฉียบขาดกับผู้ค้าที่ผสมสารฟอร์มาลินในอาหารด้วยการห้ามขาย และที่สำคัญ การดึงหน่วยงานที่รับผิดชอบมาช่วยจัดการคนทำผิดกฎหมาย

อีกประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม คือ ทำไม ? หาซื้อกันได้ง่าย เพราะมีขายตาม ร้านขายยา รวมไปถึง ร้านค้าออนไลน์ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ ช่องทางที่ถูกนำไปใช้ผิดประเภทด้วยการผสมอาหาร หน่วยงานที่กำกับดูแลต้องแก้ไขปัญหานี้

ปัญหาดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ภาคีเครือข่าย กำลังติดตามสถานการณ์ และ อาจทำข้อเสนอที่เป็นไปได้ ส่งถึง กรมโรงงานอุตสาหกรรม สังกัด กระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นหน่วยงานควบคุมวัตถุอันตราย จะควบคุม-กำหนดมาตรการบังคับ อย่างไร ให้ผู้ขาย ต้องลงบันทึก เพื่อสอบทานย้อนหลัง

สำคัญอย่างยิ่งคือ มาตรฐานความปลอดภัยอาหารแห่งชาติ ( National Food Safety Standard ) ถือเป็นเป้าหมายที่ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ต้องการเห็น แผนงานระดับชาติจากทุกภาคส่วนของไทยร่วมกัน กำหนดมาตรการปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากอาหาร (food hazard) ได้แก่ อันตรายทางชีวภาพ  อันตรายทางเคมี และอันตรายทางกายภาพ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo