Lifestyle

ทำความรู้จัก ‘โรคตาแห้ง’ เป็นง่าย แต่ป้องกันได้ เช็กสัญญาณเตือนตามนี้

รพ.เมตตาฯ เตือนเรื่องต้องระวัง โรคตาแห้ง เป็นได้ง่าย แต่ป้องกันได้อย่ามองข้าม เช็กสัญญาณเตือนตามนี้ พร้อมวิธีป้องกัน

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคตาแห้ง (Dry eye) เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปแม้อาการตาแห้งไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่มักทำให้การใช้ชีวิตลำบากได้ไม่น้อย

โรคตาแห้ง

ปัจจุบัน โรคตาแห้งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้จำนวนไม่น้อย และมักจะเกิดกับกลุ่มคนในวัยทำงาน จากการใช้งานคอมพิวเตอร์ และใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นตัวการดูดน้ำออกจากผิวตา ทำให้ตาแห้ง เมื่อรวมกับพฤติกรรมการจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา ทำให้กระตุ้นน้ำตาออกมาน้อยและระเหยเร็วทำให้มีอาการระคายเคืองตา แสบตาได้

สัญญาณเตือนชองโรคนี้ ได้แก่ ระคายเคืองตา แสบตา น้ำตาไหล ตาล้าง่าย ตาแดง มีขี้ตาเมือก ๆ ได้ เพราะเคืองตา ตามัว มองไม่ชัด ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตาตาสู้แสงไม่ได้ ลืมตายาก รู้สึกฝืดๆในตา หรือใส่คอนแทคเลนส์แล้วไม่สบายตา

หากมีอาการเหล่านี้ ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ และให้การรักษาโดยเร็ว เพราะอาการเหล่านี้นอกจากบ่งบอกว่าเป็นโรคตาแห้งแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่า โรคตาแห้งอาจเป็นภาวะที่เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ

นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) กล่าวว่า โรคตาแห้งเป็นโรคของผิวหน้าดวงตา เนื่องจากน้ำตาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของผิวหน้าดวงตา

ตาแห้ง

ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ การสูญเสียสภาวะสมดุลของน้ำตา ควบคู่กับการมีอาการทางตา ซึ่งอาการทางตาหมายถึง ระคายเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล กระพริบตาบ่อย ตามัว การมองเห็นที่ผิดปกติไป และความไม่เสถียรของน้ำตา

สาเหตุหลัก มาจากการที่ต่อมน้ำตาไม่สามารถผลิตน้ำตาได้เพียงพอ ไม่สามารถรักษาความชุ่มชื้นของดวงตาได้ นำมาสู่อาการอักเสบ ระคายเคืองและอาจเกิดการทำลายพื้นผิวดวงตาได้

นอกจากนี้ การเกิดของโรคดังกล่าว ยังเกิดได้หลายสาเหตุ มีลักษณะของการสูญเสียสมดุลของน้ำตา โดยน้ำตา (Tear film) มีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น คือ ชั้นไขมัน (Lipid layer) ชั้นน้ำ (Aqueous layer) และชั้นเมือก (Mucous layer) หากเกิดปัญหาที่ชั้นใดชั้นหนึ่งของน้ำตา จะส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้งได้

แพทย์หญิงนวลจิรา ประกายรุ้งทอง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มว่า โรคตาแห้งสามารถแบ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดตาแห้งออกได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ

สาเหตุของอาการตาแห้ง

1. การผลิตน้ำตาลดลง อันมีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย หรือภาวะความเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น โรคภูมิแพ้ที่ตา โรคโชเกร็น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัส โรคของต่อมไทรอยด์ การขาดวิตามินการใช้ยาบางประเภท หรือหลังผ่าตัดดวงตา หรือการใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานหรือเคยทำเลสิก

shutterstock 1913895031

2. น้ำตาเกิดการระเหยไวขึ้น อันมีสาเหตุมาจากต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ(Meibomian gland dysfunction: MGD)โดยปกติต่อมไมโบเมียนจะทำหน้าที่สร้างน้ำตาชั้นไขมัน ทำให้น้ำตาระเหยได้ช้า หากต่อมนี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้น้ำตาระเหยไวขึ้นจนเกิดภาวะตาแห้งในที่สุด

นอกจากนี้ ยังเกิดได้จากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน เป็นเวลานานเกินไป ปัจจัยทางพันธุกรรม การพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในบริเวณที่มีลมแรง มีฝุ่นควัน หรือความผิดปกติของเปลือกตา และสารกันเสียที่อยู่ในยาหยอดตา เป็นต้น

วิธีการรักษา

ต้องตรวจวิเคราะห์ในเวชปฎิบัติที่เหมาะสม และตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การซักประวัติ ตรวจวัดปริมาณน้ำตา ตรวจลักษณะขอบเปลือกตา และต่อมมัยโบเมียน การวัดความเข้มข้นของสารที่อยู่ในน้ำตา เป็นต้น โดยประเมินจากสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงตั้งต้นของโรค ร่วมกับอาศัยผลการตรวจหลาย ๆ อย่างมาประกอบกัน

การดูแลผู้ป่วยโรคตาแห้ง การค้นหาสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงของโรค เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากถ้าพบสาเหตุ และสามารถแก้ไขหรือขจัดสาเหตุนั้นได้โรคตาแห้งอาจหายขาดได้

สำหรับการดูแลดวงตา เพื่อลดอาการตาแห้ง

  • หยุดพักสายตาเป็นช่วง ๆ หากต้องใช้เวลาทำงานเป็นเวลานาน โดยหลับตา 1-2 นาที หรือกระพริบตาถี่ ๆ เพื่อช่วยกระจายน้ำตาให้เคลือบทั่วดวงตา หรือหยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
  • หลีกเลี่ยงการโดนลมแรง ๆ ปะทะดวงตาโดยตรง ควรสวมแว่นกันแดดหรือแว่นที่ครอบดวงตา เพื่อป้องกันแสงและลม หากจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณที่มีอากาศแห้ง
  • ควรหลับตาเป็นพัก ๆ เพื่อลดการระเหยของน้ำตา
  • ควรตั้งจอคอมพิวเตอร์ ให้อยู่ระดับต่ำกว่าสายตา เพื่อลดการระเหยของน้ำตา เนื่องจากหากตั้งอยู่สูงกว่าระดับสายตา ตาจะต้องเปิดกว้างขึ้น ทำให้ตาแห้งง่ายมากขึ้น
  • ไม่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน
  • ควรหยุดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก
  • รับประทานอาหารที่มีปริมาณวิตามินเอสูง เช่น น้ำมันตับปลา เครื่องในสัตว์ ไข่แดง แครอทบร็อคโคลี่ ฟักทอง หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาทะเลน้ำลึก เมล็ดแฟลกซ์ วอลนัท น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo