สถาบันประสาทวิทยา เตือนปวดหลังเรื้อรัง อาจนำไปสู่เนื้องอกไขสันหลัง ปล่อยเรื้อรังนาน ส่งผลถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ระบบประสาทส่วนกลางของร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วยสมองและไขสันหลังที่มีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน โดยเฉพาะ เนื้องอกไขสันหลัง
สำหรับเนื้องอกไขสันหลัง คือเนื้องอกที่อยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ระดับคอจากรอยต่อก้านสมอง ไปจนถึงระดับเอว หากเกิดการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ประสาท จะพัฒนากลายเป็นเนื้องอก
ขณะที่เซลล์ของเนื้องอกไขสันหลังส่วนใหญ่ เป็นเซลล์ของเยื่อหุ้มไขสันหลัง เซลล์เยื่อหุ้มเส้นประสาท และเซลล์ภายในไขสันหลัง
ทั้งนี้ อาการของเนื้องอกไขสันหลัง ในแต่ละตำแหน่งจะมีความแตกต่างกัน เช่น ถ้าเนื้องอกอยู่ในระดับกระดูกสันหลังส่วนคอ จะมีอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อแขน ชาตามมือและแขนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอาการปวดต้นคอจะไม่มาก อาจมีอาการเพียงแค่ปวดตึงคอ ไม่ค่อยมีอาการปวดร้าวลงแขนแบบที่พบในโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน เวลาเดินบางครั้งอาจมีอาการเกร็งที่ขา 2 ข้าง
ส่วนอาการเนื้องอกไขสันหลังในระดับเอว จะมีอาการอ่อนแรงขาข้างใดข้างหนึ่ง เวลาเดินขาอาจจะทรุดลงได้ หากยังไม่รับการรักษาอาการอ่อนแรงจะมากขึ้น หรืออาจทำให้อัมพาตทั้งแขนและขาทั้ง 2 ข้างได้ อาการส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนแรงที่ขา เป็นหลัก ร่วมกับมีอาการชาของลำตัวลงไปจนถึงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างได้
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการปวดบริเวณกลางหลัง ชาหรือปวดร้าว รอบ ๆ อกได้
เนื้องอกในระดับกระดูกสันหลังส่วนเอวจะมีเส้นประสาทไขสันหลัง และส่วนปลายของไขสันหลัง หากเกิดเนื้องอกบริเวณนี้ อาการอ่อนแรงจะไม่อ่อนแรงขาทั้งข้าง ซึ่งต่างจากเนื้องอก ในตำแหน่งระดับคอ หรือ อก แต่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง ปวดเอว ร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้ อาการปวดหลัง มีตั้งแต่ปวดตึงไปจนถึงปวดมาก นอนพักก็ไม่หาย ปวดแบบโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ผู้ป่วยบางรายปวดมาก จนไม่สามารถนอนได้ หากอาการรุนแรงมากขึ้นจะพบปัญหาระบบการขับถ่าย เช่น กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้
ปัจจุบัน ใช้การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีเดียวในการรักษา หากผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับโรคเนื้องอกไขสันหลัง ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว เพื่อการรักษาที่ได้ผลดีและหายเป็นปกติได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กรมการแพทย์เตือน! ระวัง ‘โรคตาแห้ง’ ช่วงหน้าหนาว ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง เช็กเลย
- กรมการแพทย์ เผย ผู้ป่วย ‘สูบกัญชา’ ไม่กล้าบอก กลัวถูกจับ
- สปสช.เพิ่มบริการการแพทย์ทางไกล ผู้ป่วยนอกทั่วไป ‘สิทธิบัตรทอง’ ดูแล 42 กลุ่มโรคผ่านแอปฯ