Waste Management

‘อุทยานเบญจสิริ’ ต้นแบบสวนสาธารณะ บริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน แห่งแรกของไทย

กทม. จับมือ เดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดตัวโครงการ ต้นแบบสวนสาธารณะบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน แห่งแรกในไทย ณ อุทยานเบญจสิริ

นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ ในสถานการณ์ปกติปริมาณขยะในกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจกรรมต่างๆ ของเมืองทั้งภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว หรือการบริการที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณขยะลดลง แต่กรุงเทพมหานคร ยังคงมุ่งเน้นภารกิจในการบริหารจัดการขยะ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

บริหารจัดการขยะ

ลดประมาณขยะ นำกลับมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดค่าใช้จ่าย

ในปี 2564 ขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครมีปริมาณเฉลี่ย 8,675 ตันต่อวัน มีค่าใช้จ่ายในการกำจัด 7,127 ล้านบาท แต่จัดเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะได้เพียง 512 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้การจัดการขยะมีความยั่งยืน ลดปริมาณขยะที่นำไปกำจัดขั้นสุดท้ายให้เหลือน้อยที่สุด กรุงเทพมหานครจึงพยายามผลักดันและส่งเสริมบทบาทของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้ตระหนักรู้ เห็นคุณค่าและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด

กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินโครงการ ‘Bangkok Zero Waste Park : โครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ’ ณ พื้นที่อุทยานเบญจสิริ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความพยายาม ในการลดปริมาณขยะการแยกขยะ เพื่อใช้ประโยชน์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy

บริหารจัดการขยะ

อุทยานเบญจสิริ First Bangkok Zero Waste Park สวนสาธารณะต้นแบบ บริหารจัดการขยะ

กรุงเทพมหานคร ได้เลือกพื้นที่ อุทยานเบญจสิริ เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นสวนสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน สำนักงานสีเขียว (Green Office) ปี 2563ในระดับดี เป็นสวนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีผู้มาใช้สวนจำนวนมาก มีผู้ประกอบการห้างร้านที่มีศักยภาพในการสนับสนุนโครงการอยู่บริเวณโดยรอบ

ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการดำเนินการจัดการขยะในพื้นที่อุทยานเบญจสิริ จะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ กลายเป็น First Bangkok Zero Waste Park สวนสาธารณะต้นแบบ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันพัฒนา ผลักดันนโยบายการคัดแยกขยะที่ต้นทางในพื้นที่สาธารณะ พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะ ให้สามารถนำกลับมาเป็นทรัพยากร ให้เกิดประโยชน์อย่างครบวงจรต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดการมูลฝอยมีความยั่งยืน กรุงเทพมหานครได้กำหนดแนวทางจัดการขยะในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ. 2556-2575 โดยมีวิสัยทัศน์ “มุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิด โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste Management)” สร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทาง ตามหลัก 3R คือ Reduce, Reuse and Recycle และทำให้มูลฝอยเหลือน้อยที่สุด และกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล

โดยส่งเสริม ผลักดัน บทบาทของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนให้ตระหนักรู้ เห็นคุณค่าของการนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดความคุ้มค่า ส่งเสริม วินัยและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการขยะที่ต้น

บริหารจัดการขยะ

‘เท ทิ้ง เท ทิ้ง’ ถังขยะต้นแบบ กระตุกให้ฉุกคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

สำหรับถังขยะต้นแบบ ได้ออกแบบในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดการฉุกคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในการคัดแยกและทิ้งขยะให้ถูกต้อง โดยการทิ้งขยะผ่านถัง “เท ทิ้ง เท ทิ้ง” ภายใต้แนวคิด “แยกง่าย มีทางไป และ ได้ผลลัพธ์” โดยนำตั้งภายในพื้นที่อุทยานเบญจสิริทั้งหมดจำนวน 8 จุด พร้อมกับติดตั้งป้ายให้ความรู้การจัดการขยะ และป้ายแสดงปริมาณขยะที่คัดแยกได้เพื่อเป็นการแสดงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนั้น ยังสามารถเรียนรู้เส้นทางการจัดการขยะภายในสวนสาธารณะจากต้นทางถึงปลายทางได้อย่างชัดเจน เป็นการสื่อสารให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นภายในอุทยานเบญจสิริ เพื่อสาธิตการนำขยะที่คัดแยกแต่ละประเภทไปใช้ประโยชน์ได้จริง

บริหารจัดการขยะ

แบ่งพื้นที่เป็น 5 โซน 

  1. โซนนิทรรศการและกิจกรรม จัดแสดงความเป็นมาของโครงการ วิธีการคัดแยกของขยะแต่ละประเภท
  2. โซน Recycle สำหรับชั่งน้ำหนักและรวบรวมขยะรีไซเคิลเพื่อเตรียมส่งต่อ
  3. โซน Organic จัดแสดง วิธีการแปรรูป ขยะอินทรีย์รูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
  4. โซน General Waste สำหรับเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยทั่วไปก่อนส่งไปกำจัด
  5. โซนแปลงปลูกผัก โดยผู้ใช้บริการสวนสาธารณะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรม

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน พื้นที่นำร่อง เขตคลองเตย ระยะที่ 2 โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จะมีการขยายผลไปในสวนสาธารณะและพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo