ก้าวสู่ปีที่ 3 สำหรับโครงการ ต่ออายุหลอดพลาสติก โดยมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ที่มีเป้าหมายลดขยะหลอดพลาสติก ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งาน ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากปัญหาขยะหลอดพลาสติก ที่มีการใช้งานแสนสั้น เฉลี่ยต่อครั้งไม่เกิน 20 นาที อีกทั้งยังเป็นการใช้ครั้งเดียว แต่กลับใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 200 ปี
ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะคาเฟ่ ที่ผุดราวดอกเห็ด ยิ่งส่งผลให้ในแต่ละปี มีปริมาณขยะหลอดพลาสติกเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยพบว่าหลอดพลาสติกราว 500 ล้านชิ้น ถูกใช้และทิ้งในแต่ละวัน
จากปัญหาขยะหลอดพลาสติก ที่นอกจากจะย่อยสลายยากแล้ว ขนาดที่เล็กยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการนำไปทำลาย สะท้อนชัดเจนว่า ขยะชิ้นเล็ก ๆ กลับสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากมาย การหาวิธีนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น จึงเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยลดปัญหานี้ได้
มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน โดยการสนับสนุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงดำเนินโครงการรณรงค์นำขยะหลอดใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักและช่วยลดปัญหา ตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญ ได้แก่
- สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. สนับสนุนเทคโนโลยี วิจัยและผลิตวัสดุอัพไซเคิลจากหลอดพลาสติกใช้แล้ว
- บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริจาคผ้า Upcycling ทำปลอกหมอน
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริจาคผ้าลายก๊อตจิ ทำปลอกหมอน
- บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) รับหลอดเพื่อนำไปผลิตภัณฑ์ของชุมชนภายใต้แบรนด์ Tayla รายได้เสริมชุมชน
ผลการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จากการนำหลอดพลาสติกมาผลิตเป็นหมอนไส้หลอด ป้องกันแผลกดทับผู้ป่วยติดเตียง พบว่า สามารถลดขยะหลอดพลาสติกได้ 1,276,000 หลอด หรือ 646 กิโลกรัม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 839.8 kgCO2e/kg หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 93 ต้น (ไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จำนวน 9 kg.ต่อปี)
ปีที่ 3 โครงการ ต่ออายุหลอดพลาสติก
สำหรับปีนี้ มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน เดินหน้าสานต่อโครงการ ด้วยการร่วมมือกับ ศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันนวัตกรรม ปตท. ต่อยอดโครงการ โดยจะพัฒนาการออกแบบ ดีไซน์ ในการผลิตสินค้าจากหลอดพลาสติก ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
ดร.จิระวุฒิ จันเกษม นักวิจัยอาวุโส สถาบันนวัตกรรม ปตท. หนึ่งในเครือข่ายโครงการฯ เล่าว่าจากจุดเริ่มต้นโครงการที่พัฒนาหมอนไส้หลอด ป้องกันแผลกดทับผู้ป่วยติดเตียง พบว่า การใช้งานสั้น เสื่อมสภาพเร็ว จึงหาแนวทางวิจัยและพัฒนา เพื่อยืดอายุการใช้งานของหลอดพลาสติก
ทั้งนี้ จากการที่ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับดีไซน์มากขึ้น จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ออกแบบสินค้าที่ต้องกับความต้องการใช้งานของผู้บริโภค ทั้งประโยชน์การใช้สอย และดีไซน์ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น และสร้างรายได้กลับมาสู่ชุมชนในที่สุด
สำหรับสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาแนวทางนำหลอดพลาสติกใช้แล้ว มาปรับปรุงคุณสมบัติให้เกิดความยืดหยุ่นในรูปแบบวัสดุใหม่ (Upcycling) เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสินค้าอื่น ๆ ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และใช้งานได้ยาวนานขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังศึกษาความเป็นไปได้ ในการใช้เป็นวัสดุทดแทนวัสดุจากธรรมชาติ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ร่วมออกแบบและให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการขึ้นต้นแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นต้นแบบการผลิตเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้าน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่ดำเนินการมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาคือ การให้ชุมชนทดลองใช้เส้นพลาสติกจากหลอดพลาสติก ผลิตสินค้าที่มีความคุ้นเคยก่อน
ขณะที่แนวทางนับจากนี้ จะเริ่มนำการออกแบบมาต่อยอดสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าและให้ได้สินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น
หากชุมชนยังผลิตสินค้ารูปแบบเดิม เช่น ตะกร้า กระเป๋า จะไม่มีความโดดเด่นและขยายตลาดได้ยาก ดังนั้น การออกแบบจะเข้ามาช่วยต่อยอด ด้วยการพัฒนาดีไซน์สินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด ใช้งานได้หลากหลายในชีวิตประจำวัน เช่น สินค้าตกแต่งบ้าน และการดีไซน์ที่ทันสมัยมากขึ้น
ดังนั้นจากนี้ทีมดีไซเนอร์ จะเข้ามาออกแบบสินค้าให้มีความหลากหลาย รูปลักษณ์ตรงใจผู้บริโภค และให้ชุมชนเป็นผู้ผลิต ตามด้วยการสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าในระยะยาว
ทั้งหมดนี้ จะเป็นไปตามเป้าประสงค์ของโครงการต่ออายุหลอดพลาสติก ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาวัสดุอัพไซเคิล จากหลอดพลาสติกใช้แล้วสู่ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ และสร้างความรู้เพื่อความยั่งยืน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘โออาร์’ เดินหน้าความร่วมมือ ‘ร้านกาแฟเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม’ ขานรับเทรนด์ ‘ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’
- ห้ามนำภาชนะโฟม-พลาสติก เข้าอุทยานฯ ทุกแห่ง ฝ่าฝืนมีโทษ
- เปิดโพย 12 จุดรับขยะพลาสติกบน ‘นอสตร้า แมพ’ ร่วมแก้ ‘วิกฤติขยะล้นเมือง’