Social Enterprise

กิจกรรม ‘PTT จิตอาสา’ กับภารกิจ พลิกฟื้นพื้นที่สีเขียว ‘คุ้งบางกะเจ้า’

 

พลิกฟื้นพื้นที่สีเขียว คุ้งบางกะเจ้า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ส่วนบุคคล สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ในโครงการ “ครัวเรือนหัวใจสีเขียว ปตท.”

โครงการ “ครัวเรือนหัวใจสีเขียว ปตท.” เป็นหนึ่งในโครงการที่ ปตท. ดำเนินการเพื่อพัฒนาพื้นที่สเีขียวคุ้งบางกะเจ้า ตั้งแต่ปี 2560 และขยายผลต่อยอดสู่แผนงานพัฒนาพื้นที่สีเขียวเกษตรส่วนบุคคล โดยคณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว โครงการ OUR Khung BangKachao เพื่อมุ่งรักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้าให้คงอยู่ต่อไป เป็นเสมือนปอดสร้างอากาศบริสุทธิ์ของคนเมือง

cover ปตท. พลิกฟื้นพื้นที่สีเขียว1

จากเดิมที่ คุ้งบางกะเจ้า ถือได้ว่าเป็นแหล่งโอโซน หรือ ปอดของคนเมือง และยังได้รับการประกาศเป็นแหล่งผลิตโอโซนลำดับที่ 7 ของโลก แต่จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากพื้นที่เกษตรกรรม เป็นพื้นที่ชุมชนมากขึ้น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เริ่มเกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม ประกอบกับมีการขายที่ดินเกษตรเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พื้นที่สีเขียวที่คุ้งบางกะเจ้า เริ่มลดน้อยถอยลง

ด้วยความพยายามที่จะเร่งแก้ปัญหาและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวของคุ้งบางกะเจ้า ปตท. จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา ผสานพลังความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนชุมชน 6 ตำบลในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ในรูปแบบการสานพลังร่วมเพื่อการพัฒนาสังคม (Social Collaboration with collective impact) และจัดตั้ง โครงการ OUR Khung BangKachao ขึ้น นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

พลิกฟื้นพื้นที่สีเขียว คุ้งบางกะเจ้า

น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาคุ้งบางกะเจ้า

โครงการ OUR Khung BangKachao กำกับดูแลโดย มูลนิธิชัยพัฒนา น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักการดำเนินงานเพื่อช่วยอนุรักษ์และพัฒนาให้คุ้งบางกะเจ้ากลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการเติบโตทางเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น บนพื้นฐานความต้องการและการทำงานร่วมกันกับชุมชนเป็นสำคัญ จนวันนี้มีภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินงานกว่า 65 องค์กร ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้า ใน 6 ด้าน ได้แก่

1. การพัฒนาพื้นที่สีเขียว – บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานคณะทำงาน

2. การจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง – มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานฯ

3. การจัดการขยะ – บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นประธานฯ

4. การส่งเสริมอาชีพ – บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เป็นประธานฯ

5. การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน – องค์การบริหารและพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นประธานฯ

6. การพัฒนาเยาวชน การศึกษาและวัฒนธรรม – บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานฯ

คุ้ง4

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียว และชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ให้เติบโต แข็งแรง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Green Growth) ใน 3 ด้านหลักคือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และ สังคมวัฒนธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าให้ดีขึ้นและเติบโตเพิ่มขึ้น 20% ภายใน 5 ปี พร้อมเป็นต้นแบบ ในการพัฒนาชุมชนสีเขียวในเมือง

พลิกฟื้นพื้นที่สีเขียว คุ้งบางกะเจ้า

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จัดกิจกรรม “ PTT จิตอาสา” ปีที่ 2 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “จากฟ้า…สู่ดิน เยือนถิ่นคุ้งบางกะเจ้า” ที่สวนรักษ์ ๙ ซึ่งเป็นสวนป่าและสวนไม้ผลผสมผสานของคุณสมนึก ฟักเจริญ เกษตรกรตัวอย่าง หนึ่งในสมาชิกโครงการ “ครัวเรือนหัวใจสีเขียวปตท.” นับตั้งแต่ปี 2652 ที่ผ่านมา โดยคุณสมนึกได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมดูงานกับ ปตท. ผนวกกับความรู้และประสบการณ์ของปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตรผสมผสานการเรียนรู้วิถีชุมชนที่มีเอกลักษณ์ และทรงคุณค่า ถ่ายทอดให้กับพนักงานกลุ่ม ปตท. ที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ 30 คน จาก 5 บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ ปตท. (PTT), พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (PTT TANK) , ไออาร์พีซี (IRPC), พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) และ ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) รวมถึงได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตชุมชนผ่านกิจกรรมเรียนรู้ต่างๆ อาทิ การทำข้าวต้มมัดสูตรคุ้งบางกะเจ้า การทำสบู่จากผึ้งชันโรง และการปลูกกล้าไม้ป่าริมคลอง เป็นต้น

คุณดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลองค์กร และกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมกิจกรรมจิตอาสาครั้งนี้ แสดงถึงการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของพนักงานกลุ่ม ปตท. ที่ต้องการให้พื้นที่คุ้งบางกะเจ้ากลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง สร้างอากาศบริสุทธิ์ ผลิตออกซิเจนให้กับคนในประเทศ และเพิ่มโอโซนให้กับโลกใบนี้ต่อไป สมกับที่คุ้งบางกะเจ้า เคยได้รับการขนานนามจากนิตยสาร TIMES ว่าเป็น The Best Urban Oasis of Asia หรือ ปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย อย่างในอดีตที่เคยเป็นมา

พลิกฟื้นพื้นที่สีเขียว คุ้งบางกะเจ้า

เดินหน้า ครัวเรือนหัวใจสีเขียว ปตท.

จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการ “ครัวเรือนหัวใจสีเขียว” ของ ปตท.” ที่ผ่านมา มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาพื้นที่สีเขียวระดับครัวเรือน อนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชไม้ผลท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมถึงการพัฒนาความรู้ ทักษะด้านการเกษตรให้เกิดความสามารถพึ่งพาตนเอง และส่งเสริมกลไกการขับเคลื่อนงานชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืนอีกด้วย โดยปัจจุบันโครงการฯ ได้ขยายผลต่อยอดสู่แผนงานพัฒนาพื้นที่ส่วนบุคคล คณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการ OUR Khung BangKachao โดยทำงานร่วมกับคณะกรรมการเกษตรพื้นที่ส่วนบุคคลคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งหนึ่งในสมาชิกโครงการ ที่เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2562 คือ “สวนรักษ์ ๙”

“สมนึก ฟักเจริญ” หรือพี่สมนึก เจ้าของ “สวนรักษ์ ๙” เล่าว่า “ที่ผันตัวเองจากพนักงานบริษัท หรือ มนุษย์เงินเดือน มาสู่เกษตรกร โดยมีเป้าหมายอนุรักษ์พืชพันธุ์ท้องถิ่นของคุ้งบางกะเจ้า ที่มีพืชพื้นเมือง 35 วงศ์ 72 สกุล 81 ชนิด เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้เขียวนวล ที่ได้ GI มะพร้าว ส้มเทพรส ละมุดสีดา รวมถึงลูกหม่อน ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เริ่มศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรทฤษฏีใหม่ เกษตรผสมผสาน ที่ไล่ระดับตั้งแต่ระดับสูงถึงไม้คลุมดิน เพราะการปลูกไม้ที่หลากหลาย จะเป็นการลดความเสี่ยงมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

041120

ที่สำคัญคือเชื่อมั่นว่าการทำการเกษตร และการปลูกไม้ป่า จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิตได้ จึงเริ่มก่อตั้งสวนรักษ์ ๙ เมื่อปี 2560 และตั้งใจให้สวนรักษ์ ๙ เป็นห้องเรียนธรรมชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติแก่ทุกๆ คน

“เราจะพัฒนาที่ 6 ไร่เศษ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ จะปลูกไม้ตั้งแต่ สูงกลางเตี้ย เรี่ยดิน กินได้ ถ้าทำเชิงเดี่ยว หากมีปัญหาโดนน้ำเค็ม เวลาตาย ตายไปทั้งหมด”

เมื่อถามถึงรายได้ จากการทำเกษตร พี่สมนึกบอกว่า ยังไม่ได้หวังรายได้มากมาย เพราะเป้าหมายคือ การอยู่แบบพอเพียง พอมีพอกิน พอแจกจ่าย แต่ได้เรียนรู้ พัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยยึดแนวทาง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งผลที่ได้กลับมากกว่าเงิน เพราะเห็นได้ชัดในช่วงเกิดโควิด-19 ที่มีเงินก็หาอะไรกินไม่ได้ แต่การทำเกษตร ทำให้มีอาหารทานได้โดยไม่ขัดสน และได้ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดสารพิษ

พี่สมนึกยังบอกถึงเป้าหมายในระยะยาว ว่าจะพัฒนาเรื่อย ๆ ไปจนถึงเกษตรปลอดสาร และสูงสุดคือ การเป็นสินค้าเกษตรออร์แกนิค 100% ซึ่งที่ผ่านมา มีพี่เลี้ยงจากภายนอกเข้ามาช่วยพัฒนา เช่น ปตท. สามพรานโมเดล รวมทั้งมีการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะเป็นเกษตรผสมผสาน เช่น การใช้แผงโซลาเซล มาช่วยสร้างพลังงาน ช่วยรดน้ำ ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมารดน้ำอีกด้วย

หนึ่งในพันธุ์ไม้ ที่ พี่สมนึกภูมิใจนำเสนอ ในการอนุรักษ์พืชพันธุ์ท้องถิ่นคือ มะม่วงน้ำดอกไม้ พันธุ์เขียวนวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งส้มเทพรสที่เป็นพืชพันธุ์คุ้มครอง ที่ปลูกได้เฉพาะในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าเท่านั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการขยายพันธุ์ให้มีมากยิ่งขึ้นไปอีก

พลิกฟื้นพื้นที่สีเขียว คุ้งบางกะเจ้า

ปตท. สนับสนุน ดันเกษตรกรต้นแบบ

การเข้าร่วมโครงการกับ ปตท. ครั้งนี้ พี่สมนึกเล่าว่า ปตท.ได้เข้ามาช่วยเหลือในหลายด้าน เช่น การให้ความรู้ การพาไปดูงาน การแจกพันธุ์ส้ม ตอนนี้เริ่มมาได้ 2 ปีกว่า ถือว่าเติบโตเป็นรูปร่างมากขึ้นแล้ว

ที่ผ่านมา พี่สมนึก เป็นเกษตรกรต้นแบบ โครงการครัวเรือนหัวใจสีเขียว โดยเข้าร่วมอบรมและศึกษาดูงานกับ ปตท. หลายโครงการ อาทิ การศึกษาดูงานที่โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เพื่อฝึกอบรมการเพาะอนุบาลกล้าผัก การเพาะเมล็ดและการควบคุมโรคพืช, รับการอบรมการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้,การอบรมการปลูกส้มเทพรส ผลไม้อัตลักษณ์คุ้งบางกะเจ้า,และรับการอบรม PGS ซึ่งถือเป็นการรับประกันคุณภาพเกษตรอินทรีย์โดยกลุ่มชุมชน เป็นต้น

ความรู้ที่ได้รับที่ผ่านมา นอกจากจะสามารถนำมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานด้านการเกษตรในพื้นที่ของตนแล้ว ยังสามารถแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการเกษตร และวิถีชีวิตอัตลักษณ์ชุมชน แก่ผู้มาเยี่ยมชมและชุมชนอื่น ๆ ด้วย

พลิกฟื้นพื้นที่สีเขียว คุ้งบางกะเจ้า

ล่าสุดในปี 2563 พี่สมนึก ยังได้มีโอกาสรับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในแผนงานของคณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ในโครงการ OUR Khung BangKachao และได้ร่วมรับการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกและดูแลรักษาพืชผักสวนครัว จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย นับเป็นความปลาบปลื้มใจ และเป็นกำลังใจให้ได้ปลูกพืชผักสวนครัวอย่างดี สามารถนำผลผลิตมาบริโภค แบ่งปันกัน และหากมีปริมาณมากสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ตนเองอีกด้วย

จากองค์ความรู้ที่ ปตท.ได้ให้การส่งเสริมชุมชน ผนวกกับประสบการณ์และภูมิปัญญาที่สั่งสมมาของ พี่สมนึกเอง ทำให้วันนี้ พี่สมนึก นับเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อน และพลิกฟื้นพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกะเจ้าแห่งนี้ ให้สามารถนำประโยชน์ที่ได้รับจากพื้นที่สีเขียว มาขยายผลสร้างรายได้และสร้างความสุขให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างดี รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ที่แบ่งปันความรู้ด้านการเกษตรให้กับผู้สนใจอื่นๆ ได้อย่างมากมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo