Green Energy

จับตาเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิดปีหน้า นโยบายรัฐปฏิบัติได้จริงแค่ไหน

เทรนด์การใช้พลาสติกชีวภาพมาแน่ จากความต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะที่ไทยขึ้นกับนโยบายของรัฐว่าเอาจริงแค่ไหน หลังจากมีแผนบังคับใช้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศใช้ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 (พ.ศ. 2561-2573) โดยประกาศตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ประกาศยกเลิกการใช้พลาสติก 3 ชนิด คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ พลาสติกที่มีส่วนผสมของ Oxo และ ไมโครบีดจากพลาสติก

พลาสติกชีวภาพ

สำหรับในปี 2565 จะมี การประกาศยกเลิกใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด คือ พลาสติกถุงหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก

นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย (TBIA) กล่าวในการเสวนา เตรียมพร้อมรับมาตรการยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก ชนิดใช้แล้วทิ้งหลายประเภทในปี 2565 ว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั้งยุโรป จีน อเมริกา ซึ่งเป็นแนวโน้มทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทยหลังยกเลิกในปีที่ผ่านมา 3 ประเภท คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ พลาสติกที่มีสวนผสมของ Oxo และไมโครบีดจากพลาสติก ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แม้จะมีปัญหาในบางประเภทยังมีการใช้งาน

พลาสติกชีวภาพ
นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย (TBIA)

“พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำไม่มีปัญหาทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เรียกผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ทั่วประเทศ ให้เลิกใช้ ผู้ผลิตก็เห็นด้วยอย่างน้อยช่วยลดต้นทุน สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น นโยบายนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงอยากให้เลิกส่วนผสม Oxo ด้วย จึงเรียกผู้ประกอบการหารือ ในความเป็นจริงมีส่วนผสมขายอยู่ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น ซึ่งในตลาดยังมีเห็น”

ส่วนไมโครบีด ซึ่งใช้มากในเครื่องสำอาง ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขอความร่วมมือกับ องค์การอาหารและยา (อย.) ในการพิจารณาอนุญาต โดยให้เลิกใช้ในประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีปัญหาในการเลิกใช้

สำหรับในปีหน้า เลิกใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด คือ พลาสติกถุงหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก ซึ่งต้องรอดูว่าจะได้ผลหรือไม่ เนื่องจากเป็นมาตรการขอความร่วมมือ

การใช้พลาสติกชีวภาพในต่างประเทศ ถือว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บางประเภทยังไม่มีในประเทศไทย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องต้นทุนและราคาแพง อย่างในต่างประเทศมีการนำหลอดที่สามารถย่อยสลายในทะเลได้ หรือ แม้แต่กาแฟแคปซูล ก็ทำจากพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการนำมาใช้

พลาสติกชีวภาพ

“อย่างถุงพลาสติกเป็นไบโอพลาสติก ปัญหาไม่ใช่เรื่องการใช้ แต่เป็นเรื่องราคาเพราะราคาแพงกว่าถุงพลาสติกทั่วไป 5-6 เท่า ตอนนี้ร้านค้ามากมาย ใช้ไบโอพลาสติกแล้ว กล่องโฟม เอากล่องกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ แก้วก็ใช้แทนได้ ซึ่งจะยกเลิกในปีหน้า”

นางสาวเจนนี่ วรินทร อยู่วิมลชัย กรรมการบริษัท ของ บริษัท ไบโอ-อีโค จำกัด กล่าวว่า “ทางบริษัทฯ จำหน่ายผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับไบโอพลาสติกอย่างครบวงจร โดยมีลูกค้าหลายกลุ่มที่ใช้พลาสติกชีวภาพ”

สำหรับแนวโน้มการใช้ไบโอพลาสติกในช่วงก่อนโควิด-19 กระแสมาแรงมาก แต่ชะลอตัวลงในช่วงโควิด-19 แต่ในช่วงหลังเริ่มเห็นเทรนด์กลับมา เนื่องจากมีปัญหาขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาอันดับสองของโลก

ส่วนหนึ่งที่เทรนด์การใช้ไบโอพลาสติกได้รับความสนใจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 87.5% ของผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์พลาสติกน้อยลง หรือใช้น้อยลง และ 37% มองว่าผู้ผลิตมีส่วนสำคัญมากในการป้องกันปัญหา

สำหรับลูกค้าของบริษัทมีหลายกลุ่ม อย่างเช่น กลุ่มโรงแรม หลาย ๆ แห่งที่เริ่มใช้เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งที่มาจากไบโอพลาสติก มีการใช้แก้วกระดาษและถ้วยมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้มีการเปลี่ยนแพกเกจจิ้ง คือ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมี กลุ่มคาเฟ่และร้านอาหาร กลุ่มโรงพยาบาล ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งและย่อยสลายได้มากขึ้น

ความต้องการต่างประเทศสูง ในประเทศขึ้นกับนโยบายรัฐ

นางสาวเจนนี่ บอกอีกว่า “ในช่วงโควิด-19 ยอดจำหน่ายได้รับผลกระทบ ยอดขายลดลงไปครึ่งหนึ่ง แต่หลังจากการประกาศเปิดประเทศ ทั้งในต่างประเทศและในไทย ยอดขายเริ่มกลับมา โดยคาดว่ายอดส่งออกจะโต 15% แต่ในประเทศยังบอกไม่ได้ แม้ว่ายอดจำหน่ายจะเริ่มดีขึ้น”

พลาสติกชีวภาพ

นายวิบูลย์ กล่าวเสริมว่า “ภาพรวมไบโอพลาสติก มีอัตราการเติบโตประมาณปีละ 15% ซึ่งต้องบอกว่าตลาดในประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ”

“การประกาศยกเลิกใช้พลาสติกธรรมดาจะจริงจังแค่ไหน หากใช้ไบโอพลาสติกจริงจังอัตราการเติบโตจะสูง แต่ตัวเทรนด์มาแน่ในต่างประเทศ อย่างจีนประกาศให้ 5 เมืองใหญ่เลิกใช้ ปริมาณการใช้ไบโอพลาสติกพุ่งเลย และอีก 3 ปี ข้างหน้าจะเลิกใช้พลาสติกธรรมดาทั้งหมด การใช้จะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน ตลาดใหญ่จะเป็นต่างประเทศมากกว่า เทรนด์มาแน่ ๆ”

การประกาศเลิกใช้พลาสติกในปีหน้าอีก 4 ชนิด หากมีการบังคับใช้จริง อัตราการใช้จะสูงขึ้น นอกจากไบโอพลาสติกชานอ้อย จะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ต้องดูว่าภาครัฐเอาจริงแค่ไหนกับมาตรการที่ประกาศออกมา

“จริง ๆ แล้ว ผู้บริโภคสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน”

ดูอย่างไร พลาสติกชีวภาพแท้และเทียม

ไบโอเทียม มี ข้อดี คือ ราคาถูก หรือใกล้เคียงกับพลาสติกทั่วไป แต่ ข้อเสีย คือ แตกสลายง่ายเมื่อเจอแสงแดด มีการปนเปื้อนในกระบวนการ Recycle กำจัดยาก และไม่สลายได้ตัวเอง

ส่วนไบโอแท้ มี ข้อดี คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ปลอดภัยจากสารเคมี ลดปัญหา Microplastic ตกค้างในธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แม้ว่าจะมี ข้อเสีย คือ ราคาแพง

พลาสติกชีวภาพ

Screen Shot 2564 09 28 at 20.56.45

สำหรับการดูผลิตภัณฑ์ ไบโอเทียม ดูฉลากยืนยันวัตถุดิบ จะมีคำว่า OXO Degradable/DeGradable/EDP และ มาตรฐานรับรอง ASTM D5511:2018

ส่วน ไบโอแท้ มีฉลากยืนยันวัตถุดิบว่า Compostable และ มาตรฐานรับรอง ASTM D6400 หรือ EN13432 หรือ ISO17088 หรือ มอก.17088-2555 และ GC Compostable

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo