Green Energy

กลุ่ม ปตท. จัดเวที Tech Talk ‘Future Energy & Net Zero’ ฉายภาพ เทคโนโลยี-พลังงานแห่งอนาคต

กลุ่ม ปตท. รวมเทรนด์พลังงานแห่งอนาคต ชูพลังงานไฮโดรเจน นิวเคลียร์ เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน ยานยนต์ไฟฟ้า สร้างพลังงานสีเขียว สานเป้าหมาย Net Zero

ในงาน PTT Group Tech & Innovation Day ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Beyond Tomorrow: นวัตกรรม นำอนาคต โดยกลุ่ม ปตท. นั้น หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การจัดเวที Tech Talk พูดคุยถึงเรื่องเทคโนโลยี และพลังงานแห่งอนาคต เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ สังคม และโลก

พลังงานแห่งอนาคต ปก

เดินหน้ากรีนไฮโดรเจน

เริ่มจาก ดร.ธนา ศรชำนิ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มาบอกเล่าถึงเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนว่า เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นพลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ที่มีแนวโน้มราคาลดลง หลังจากผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้น

กลุ่ม ปตท. ได้เริ่มศึกษาพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวอย่างจริงจัง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด กับ ซาอุดีอาระเบีย ปตท. และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการลงนามร่วมพัฒนา และลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอกาสส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในเดือนเมษายนนี้

S 171294799

นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์  บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ BIG และ โตโยต้า มอเตอร์ เปิดสถานีนำร่อง ทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ ได้นำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า ทดสอบการใช้งานในไทย ให้บริการรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา สำหรับนักท่องเที่ยว และผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา-ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเก็บข้อมูลเชิงเทคนิค ที่ได้จากการใช้งานจริง สร้างการรับรู้ และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต

อรุณ พลัส เดินหน้าสร้าง EV Ecosystem

นายเจริญทรัพย์ ทรัพย์เจริญกุล วิศวกร บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ในเครือกลุ่ม ปตท. กล่าวถึงการสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ว่า การที่ อรุณ พลัส เข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่ปัจจุบันถือว่ามีการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากเชื่อมั่นใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

เจริญทรัพย์

  • การมีพาร์ทเนอร์ระดับโลกเข้ามาร่วมอีโคซิสเต็ม เช่น ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ที่มีจุดแข็งและความชำนาญในการประกอบรถยนต์ ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากการรับจ้างผลิต
  • มีพาร์ทเนอร์ในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
  • การซินเนอร์จี้ หรือรวมพลัง และศักยภาพของธุรกิจในกลุ่ม ปตท.
  • การพัฒนา EV Ecosystem ทั้ง Value Chain
  • การแตกบริษัทลูกในเกลุ่มอรุณ พลัส เพื่อดูแลแต่ละกลุ่มธุรกิจใน Value Chain

ปัจจัยข้างต้น ทำให้ในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของ อรุณ พลัส มีองค์ประกอบตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น วัตถุดิบในการผลิต อย่างพลาสติก แบตเตอรี่ ไปจนถึง กลางน้ำ ได้แก่ โรงงานประกอบรถยนต์ที่ร่วมทุนกับ Foxconn ทำให้สามารถผลิตได้ในประเทศ ทั้งรถยนต์ รถบัส ไปจนถึงรถจักรยานยนต์ และปลายน้ำ คือจุดชาร์จ การตลาด และบริการหลังการขาย ที่ต้องเพิ่มการดูแลซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

โมบิลิตี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้ Ecosystem ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดได้ ต้องเริ่มจากการมีตลาด หรือผู้ใช้ก่อน ประเด็นสำคัญคือ การให้ทดลองใช้จนเกิดความมั่นใจ และตัดสินใจซื้อใช้

ทั้งนี้ อรุณ พลัส วางเป้าหมายใน 5 ปีนับจากนี้ จะเป็นผู้ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า ให้เกิดในประเทศไทยทั้ง Ecosystem ครบวงจร

เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน ต่อยอดธุรกิจใหม่

ในส่วนของเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน หรือ CCU Technology เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีด้านพลังงาน ที่กลุ่ม ปตท. พร้อมขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน ด้วยการกักเก็บไว้ และนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

นายชาญวิทย์ จันสถิรพานิช วิศวกรอาวุโส ฝ่ายบริหารเทคนิค และแผนการผลิต ปตท. และ นางสาวนุชนารถ ศิริง้วน นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีกระบวนการและพลังงานประยุกต์ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ร่วมกันให้ข้อมูลของ CCU Technology ว่า เป็นการนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU)

ซีซียู

นั่นคือ การนำคาร์บอนที่กักเก็บไว้ ไปสร้างมูลค่าให้เกิดประโยชน์ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ และนำกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น นำกลับไปใช้ในกระบวนการแยกก๊าซ การนำไปผสมในคอนกรีต เพื่อลดการใช้ซีเมนต์ และเพิ่มความแข็งแรง หรือผลิตเป็นหินสังเคราะห์ ที่มีน้ำหนักเบา สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้ CCU Technology เกิดขึ้นได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และผู้บริโภคที่รับรู้ถึงประโยชน์ของสินค้าที่ผลิตจากคาร์บอน และยินดีจ่ายต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่ออนาคต

CCS Technology ช่วยขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero

ต่อด้วย CCS Technology (Carbon Capture and Storage: CCS) โดย นายจิรัฏฐ์ อุดมศรี Business Led, CCS บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ ดร.เฉลิมชัย เรืองชัยนิคม ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม สถาบันนวัตกรรม ปตท. ร่วมกันให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้เริ่มศึกษาเพื่อนำมาใช้เช่นกัน

CCS Technology เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพ และเหมาะสมแบบปลอดภัยและถาวร  โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีก

ซีซีเอส

กล่าวโดยสรุปคือ CCS Technology เป็นกระบวนการย้อนกลับของการผลิตปิโตรเลียม ที่เริ่มจากการดึงก๊าซ น้ำมันจากชั้นหินใต้ดิน ส่งเข้าโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ เพื่อผลิตก๊าซ และน้ำมัน แต่ CCS เป็นการนำคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตปิโตรเลียม ก๊าซ นำกลับไปกักเก็บใต้ชั้นหินใต้ดินที่ดึงก๊าซออกไปแล้ว เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตจากการอัดกลับ

ที่สำคัญ CCS เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่กำลังได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ระดับวงกว้าง เพื่อขับเคลื่อนองค์กร และประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission อย่างเป็นรูปธรรม

พลังงานนิวเคลียร์ ฟิวชัน ทางเลือกพลังงานสะอาด

รศ.ดร.สมศักดิ์ แดงติ๊บ ผู้จัดการศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง (ศล.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงทิศทางพลังงานจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ว่า พลังงานนิวเคลียร์ เป็นแหล่งพลังงานสะอาด ที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานทางเลือก ที่กำลังได้รับการจับตามองสำหรับพลังงานสะอาด

พลังงานนิวเคลียร์ ฟิวชัน เกิดจากพลังงานจากดวงอาทิตย์ ในแกนกลางของดวงอาทิตย์ มีพลังงานฟิวชัน เกิดขึ้นตลอดเวลา ปฏิกิริยาฟิวชัน คือปฏิกิริยาที่หลอมรวมนิวเคลียสของอะตอมธาตุเบา หลอมตัวเข้าด้วยกัน เช่น  ไฮโดรเจน และ ฮีเลียม จนกลายเป็นธาตุที่หนักขึ้น

สทน1

ข้อดีของพลังงานแบบนี้คือ การให้พลังงานมหาศาล โดยไม่มีสารกัมมันตรังสี หรือมากกว่าพลังงานที่มาจากก๊าซ ถ่านหิน ล้านเท่า แนวคิดที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันมี 2 แนวคิด ในการนำธาตุเบามาหลอมรวมกัน คือ การใช้สนามแม่เหล็ก ในการกักเก็บธาตุเบา 2 ชนิด แล้วเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชัน ส่วนอีกแนวคิดคือ การใช้เลเซอร์ให้ความร้อน เหนี่ยวนำให้ 2 ธาตุเบาเหนี่ยวนำเข้าหากัน

พลังงานฟิวชัน อาศัยการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายระดับ โดยกระบวนการเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าต้องใช้แขนงต่าง ๆ เข้ามาใช้ร่วมกัน

ในยุโรปมีการพยายามพัฒนาพลังงานฟิวชันมาเป็นระยะเวลานาน จนเป็นเจ้าของสถิติ ในการผลิตพลังงานฟิวชันได้มากที่สุด และมีการพัฒนาเครื่องสร้างพลังงานฟิวชันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สามารถผลิตเครื่องที่สามารถผลิตพลังงานฟิวชันได้ 500 เมกะวัตต์ หรือในสเกลเดียวกับโรงไฟฟ้า

shutterstock 1050818045

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายประเทศ ที่เดินหน้าศึกษาพัฒนา การนำพลังงานฟิวชันมาใช้ เช่น อังกฤษ จีน เยอรมนี สหรัฐ ทำให้เห็นแนวโน้มของการนำพลังงานฟิวชันมาใช้งานจริงได้เร็วขึ้น

ในอีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีฟิวชัน ยังถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้เอกขนไม่กล้าเข้ามาลงทุน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพไม่น้อยกว่า 23 บริษัททั่วโลก พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างพลังงานฟิวชัน และหากประสบความสำเร็จ จะทำให้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในที่สุด

สำหรับประเทศไทย กฟผ. และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ได้ร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมา และฟิวชัน  ล่าสุดได้ร่วมมือกันออกแบบ และพัฒนาระบบประกอบของเครื่องโทคาแมค ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญ ในการกักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็ก และใช้ในการศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีฟิวชัน

การขยับตัวไปสู่พลังงานสะอาด คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนเดียว แต่จำเป็นต้องมีขั้นตอน ซึ่งเครื่องโทคาแมค จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไทยได้เรียนรู้ และนำไปสู่การพัฒนาในขั้นตอนต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาแม่เหล็กความเข้มข้นสูง ที่กักเก็บพลาสมาที่มีปริมาตรเยอะขึ้น และสามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo