Circular Economy

‘Dow’ ชี้เทรนด์ ‘บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมาแรง’ เน้นนวัตกรรมลดโลกร้อน สร้างความยั่งยืนแก้ปัญหาขยะ

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ผู้นำด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) มีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาความท้าทายของโลกด้วยวิทยาศาสตร์ และการมีส่วนร่วม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 47th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ทีม Dow Pack Guru ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านแพคเกจจิ้ง ได้ร่วมสัมมนาเรื่อง “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนสำหรับบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต” พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ในโลกธุรกิจแพคเกจจิ้ง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยลดโลกร้อนและแก้ปัญหาขยะได้อย่างไร

2132455

การผลิตบรรจุภัณฑ์ในยุคนี้นอกจากคำนึงถึงเรื่องความทนทานและความสวยงามแล้ว ยังต้องตอบโจทย์ของความยั่งยืนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งกลายเป็นพันธกิจสำคัญ สำหรับบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทั้งหลาย ที่จะต้องร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยกันสร้างบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

ปัจจุบัน ลูกค้าหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืนเกือบ 99% จึงทำให้ Dow เห็นความสำคัญของการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต โดย Dow มีนักวิจัยมากถึง 7,000 คนทั่วโลกเพื่อค้นคว้าวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ชมพูนุช จันทร์บัว Marketing Development Manager กล่าวถึงแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์ในอนาคต นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ ในเรื่องของการป้องกันสินค้าที่อยู่ภายในไม่ให้เสียหาย สามารถช่วยยืดอายุของอาหาร มีรูปแบบสวยงาม และสามารถนำไปใช้งานได้ง่าย สะดวกสบายแล้ว ยังมีอีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ การออกแบบ และผลิตบรรจุภัณฑ์แบบรักษ์โลก

2132460

โดยเริ่มตั้งแต่ออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ง่าย หรือบรรจุภัณฑ์ ที่ใช้เม็ดพลาสติกในการผลิตน้อยลง แต่ยังคงความแข็งแรงได้ดีดังเดิม รวมถึงบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

Dow ได้มีการกำหนดเป้าหมาย และขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง มีผลการดำเนินงานที่สามารถวัดผลได้จริงตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา และมีเป้าหมายการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจนใน 2 พันธกิจหลัก

  • มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อลดโลกร้อน  ให้บรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น zero carbon
  • กำจัดขยะพลาสติกในสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นหยุดขยะพลาสติก ไปจนถึงการส่งเสริมวงจรรีไซเคิล เพื่อเพิ่มผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคม ลูกค้า และธุรกิจของ Dow

อนุรักษ์ รัศมีอมรวิวัฒน์ Technical Service and Development &Climate Change Specialist กล่าวเสริมในประเด็นของคุณสมบัติบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกว่า ปัจจุบันมีความท้าทายเรื่องความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์อยู่ 2 เรื่อง คือ ทำอย่างไรให้เกิดการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือเรียกว่าการกำจัดซากด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่วนอีกเรื่องคือภาวะโลกร้อน ที่โลกกำลังให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก

2132457

3 ขั้นตอนวงจรบรรจุภัณฑ์ ที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้

  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
  • จัดเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว กลับเข้ามาในวงจรรีไซเคิล
  • นำวัสดุที่มีสัดส่วนของวัสดุ ที่ได้มาจากกระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง

Dow มีผลิตภัณฑ์ของเม็ดพลาสติกมากมายเพื่อเป็นโซลูชันให้ทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้า (brand owner) และโรงงานแปรรูปพลาสติก (converter) เลือกนำไปใช้พัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าให้สามารถรีไซเคิลได้ 100%

นอกจากนี้ Dow ยังมีนวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งผลิตจากกระบวนการ Mechanical Recycling ซึ่งได้รับรางวัล Ringier Technology Innovation Awards

เมื่อลงลึกถึงกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนนั้น รังสรรค์ เชาว์สุวรรณกิจ Technical Service Manager ได้กล่าวถึงแนวโน้มการผลิตบรรจุภัณฑ์ ที่นำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

2132456

เทรนด์ที่ลูกค้าสนใจ คือ การทำฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่บาง แต่ยังคงความแข็งแรงเหมือนเดิม รวมทั้งการนำ PCR (post-consumer recycled) Resin  เม็ดพลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติก ซึ่งผ่านการใช้งานจากผู้บริโภคในสัดส่วน 40%  นำมาผลิตเป็นฟิล์มหดรัดสินค้า ที่ยังคงคุณสมบัติเทียบเท่ากับฟิล์มที่ทำมาจากเม็ดพลาสติกใหม่

เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เม็ดพลาสติกใหม่แล้ว จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 17% และประหยัดพลังงานได้กว่า 30% โดยประมาณ (ขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบ) ซึ่งช่วยให้ โรงงานแปรรูปพลาสติก  เจ้าของแบรนด์สินค้า  และบริษัทค้าปลีก บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของตนเองได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการช่วยหาทางออกวิธีใหม่ให้กับพลาสติกใช้งานแล้ว เพื่อไม่ให้ต้องกลายมาเป็นขยะ

รังสรรค์ ยังยกตัวอย่างสินค้าของ Dow ที่ใช้นวัตกรรมความยั่งยืน คือ ถุงฟิล์มอุตสาหกรรมประเภท Heavy Duty Shipping Sack (HDSS) ใช้บรรจุสินค้าที่มีลักษณะเป็นเม็ดหรือผงที่มีน้ำหนักบรรจุ 20-25 กิโลกรัม สามารถทำให้บางลงจากเดิมที่หนา 125 ไมคอน สามารถลดความหนาลงมาเหลือ 110 ไมคอน เท่ากับลดปริมาณการใช้พลังงานและวัตถุดิบในการผลิตลง

2132458

ทางด้าน ดร.ธวัชชัย ตุงคะเวทย์ Senior Technical Service and Development Specialist กล่าวถึงหน่วยงาน Application Development Center ของ Dow ที่ทำหน้าที่ออกแบบ และคิดค้นนวัตกรรมด้าน Flexible Packaging เพื่อมาตอบโจทย์ของลูกค้า ทั้งฟิล์มเมกเกอร์ และเจ้าของแบรนด์ เพื่อสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาถุงบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน

​“เทรนด์ของผลิตภัณฑ์ประเภท Food and Specialty Packaging เพื่อความยั่งยืนจะเน้นออกแบบจาก Flexible Packaging หรือบรรจุภัณฑ์ ที่ประกอบด้วยวัสดุหลายชั้น มาเป็น Mono Material  สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

​กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จของ Dow คือ การยกระดับมาตรฐานถุงข้าวสาร ให้เป็นถุงข้าวรักษ์โลก ซึ่ง ดร.ธวัชชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ในอดีตถุงบรรจุข้าวสารผลิตจากโพลิเมอร์ 2 ชนิด มีความหนา 110 ไมคอน ซึ่งไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Dow ร่วมมือกับ บริษัท CPI บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) และบริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด เพื่อพัฒนาถุงข้าวตราฉัตรขึ้นมา เรียกว่า “all PE recycle rice bag”

2132459

โดยนำเทคโนโลยี INNATETM ที่ Dow พัฒนาขึ้นมา ช่วยทำให้ถุงข้าวมีคุณสมบัติบางลง แต่ยังคงมีความแข็งแรงใกล้เคียงเดิม ข้อดีคือ สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ 100% ช่วยลดการใช้พลาสติก และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ชมพูนุช สรุปว่า ปัจจุบัน เรื่อง Future Packaging เป็นเรื่องไม่ไกลตัวเราอีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้ เราต้องช่วยกันลดผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้เป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo