Circular Economy

ผู้นำ 4 อุตสาหกรรมเปิดวิสัยทัศน์เรื่อง ‘ความยั่งยืน’ สู่การลงมือทำจริงในธุรกิจ

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์ชั้นนำ ได้ร่วมกับพันธมิตรจัดงานประชุมครั้งยิ่งใหญ่  GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together” ชูจุดเด่นเรื่องการนำแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การปฏิบัติจริง “Circular in Action”

หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ การเปิดเวที CEO PANEL ในหัวข้อ “Leaders on Sustainability in Action” เพื่อเสวนาเรื่อง ความยั่งยืน โดยผู้นำ ธุรกิจ 4 องค์กรชั้นนำจาก 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ธนาคาร, อาหารและประมง, เครื่องดื่ม และปิโตรเคมี

ความยั่งยืน ผู้นำ GC

KBank: บทบาทของธนาคารส่งเสริม “ความยั่งยืน”

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank กล่าวถึงการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและ ความยั่งยืน มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจว่า KBank ทำสิ่งนี้เพราะมองว่าเป็นโจทย์ทาง ธุรกิจ ถ้าเราทำได้และทำได้ดี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของ KBank เอง เพราะจะทำให้เราประสบความสำเร็จอย่างมากและในระยะยาว

ในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน ธนาคารมีอยู่ 2 บทบาท บทบาทแรกคือเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจ ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย แปลว่าบริษัทนั้นๆ จะต้องระมัดระวังในเรื่องก๊าซเรือนกระจก สิ่งแวดล้อม ดูแลพนักงาน หรือชุมชนที่อยู่ เป็นหน้าที่พื้นฐานของบริษัท

แต่อีกบทบาทของธนาคารทุกธนาคาร รวมถึง KBank คือบทบาทการเป็นสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ การให้เงินลงทุน เราเป็นต้นทางที่จะหยุดยั้งหรือไม่สนับสนุนธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นทางที่สนับสนุนธุรกิจที่พัฒนาเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เรามองว่าบทบาทที่ 2 สำคัญมาก เพราะมีผลกระทบต่อประเทศและสังคมส่วนรวมอย่างมาก

การผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนมีความกดดันเรื่อง Short term pain คือผลตอบแทนไม่ได้มาเร็ว แต่มั่นคงยั่งยืน เพราะฉะนั้นเรากำลัง trade off ระหว่าง short term pain กับ long term gain แปลว่าเราต้อง trade off กำไรระยะสั้น แปลว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักลงทุนต่างๆ จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้

ขัตติยา อินทรวิชัย Kbank

เราจึงแก้ปัญหา ด้วยการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและชัดเจนว่า สิ่งนี้คือหนึ่งในเป้าหมายของ Kbank ที่จะเน้นเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เมื่อเราชัดเจน เราก็จะดึงนักลงทุนและคนที่สนใจให้มาทำงานกับเรา คนที่มาร่วมการเดินทางกับเราก็เข้าใจทิศทางนี้และลดแรงกดดันในเชิง short term gain ลงไปได้ อีกจุดหนึ่งคือ KBank ทำเองไม่ได้ ทั้งอุตสาหกรรมต้องไปด้วยกันและต้องมีความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมด้วย

ในบทบาทการให้สินเชื่อกับเงินลงทุน เราใส่นโยบายเรื่องการพิจารณาเครดิต ถ้าเป็นอุตสหากรรมเฉพาะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราจะมีเกณฑ์มาตรฐานสูงกว่าปกติ โครงการที่เราให้สินเชื่อหลายโครงการมูลค่ารวม 7 หมื่นล้านบาท ทุกโครงการต้องผ่านเกณฑ์นี้

เรามีกรอบเงินอีกประมาณ 25,000 ล้านบาทสำหรับ ธุรกิจ และบริษัทที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ ความยั่งยืน มาก เช่น ใช้พลังงานทดแทน เปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดี ก็ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานนี้เช่นกัน ซึ่งการขับเคลื่อนทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและ Kbank ในฐานะธนาคารผู้ให้การสนับสนุน

GC Circular Living Symposium 2020

TU: ความสำเร็จในธุรกิจประมูงสู่เป้าหมายใหม่

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า TU อยู่ในธุรกิจอาหารทะเล ซึ่งมีจุดร่วมกันคือต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและใช้แรงงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ใช้แรงงานต่างด้าวไม่น้อย อีกจุดหนึ่งคือบริษัทมีรายได้จากต่างประเทศ 90% ในจำนวนนี้ 70% หรือมากกว่านั้นมาจากอเมริกาและยุโรป

เพราะฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนวียนและความยั่งยืนสำหรับ TU ถือว่าเป็นใบอนุญาตทำธุรกิจ (License to Operate) เป็นเรื่องที่เราต้องทำเพื่อให้อยู่รอด อย่างที่ทุกคนได้ยินว่า ประเทศไทยได้รับการโจมตี โดยเฉพาะจากอเมริกาและยุโรปว่า ใช้แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การประมงที่ไม่ถูกกฎหมาย เพราะฉะนั้น 5-6 ปีที่ผ่านมา จึงได้ใช้เวลาเรียนรู้เรื่องนี้และทำงานอย่างใกล้ชิดกับเอ็นจีโอระดับโลกเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติที่ถูกต้องจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทย

เรื่องหลักๆ ที่ TU ให้ความสนใจในช่วงเริ่มต้น คือทำให้อย่างไรให้มั่นใจว่าทรัพยากรธรมชาติที่เราใช้จะเกิดความยั่งยืนและมีความอุดมสมบูรณ์ให้ลูกหลานต่อๆ ไปในอนาคต เรื่องที่ 2 คือการจะทำอย่างไรให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า เราใช้แรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดูแลพนักงานทุกคนด้วยความถูกต้องและให้โอกาสทุกคนได้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

สิ่งที่เราไม่ใช่แค่ภายในองค์กร แต่เราต้องใช้ “พลังของการเป็นผู้ซื้อ” โน้มน้าวให้ผู้ที่อยู่ในซัพพลายเชนทั้งหมด ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยเราก็มีความจำเป็นต้องทำงานกับอุตสาหกรรมและรัฐบาลเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซึ่งในวันนี้ผมต้องเรียนว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในการทำประมงและในเรื่องของการดูแลแรงงานได้ดีที่สุด อย่างน้อยในภูมิภาคเรา แต่ไม่ก็อาจจะไม่ด้อยกว่าประเทศตะวันตกเช่นกัน

ธีรพงศ์ จันศิริ

ลูกเรือที่ออกไปกลางทะเลไม่สามารถติดต่อมายังชายฝั่งได้ ความปลอดภัยของชีวิตเขาก่อนหน้านี้อาจจะไม่มี ถ้าไม่พอใจก็ฆ่าลูกเรือ เตะตกเรือไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในอดีต สิ่งที่เราได้ทำถือเป็น show case คือการนำเทคโนโลยีเข้ามา เราได้ติดอุปกรณ์บนเรือทุกลำที่ค้ากับเรา เพื่อให้มีกล้องดูวิธีการจับปลา เป็นเหมือน GPS ดูว่าเรือจับอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จับหรือไม่ สุดท้ายด้วยอุปกรณ์นี้ลูกเรือสามารถใช้อินเตอร์เน็ตติดต่อกับครอบครัวได้ตลอดเวลา

เรื่องสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ TU นำมาเพิ่มเติมในปีนี้ ไปจนถึง 5-10 ปีข้างหน้า คือประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และขยะพลาสติกในทะเล เพราะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เราใช้ในอุตสาหกรรมค่อนข้างมากทีเดียว

ทั้งนี้ เราได้รับการกดดันจากคู่ค้า ผู้ค้าปลีกทั้งหลาย รวมถึงผู้บริโภคในประเทศตะวันตกที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างรุนแรงมาก จากการที่เราเป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็มีกองทุนทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และมีการตรวจสอบตลอดเวลาว่า ถ้าบริษัทใดไม่สามารถเข้าเกณ์ที่เขาต้องการ ก็ไม่สามารถเข้ามาลงทุนได้ เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำคัญการอยู่รอดด้วย

ดังนั้น TU จึงมีแนวคิดจะเปลี่ยนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เช่น ทำงานร่วมกับ GC ในการหาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ เป็นต้น

ความยั่งยืน GC

ThaiBev: เรียนรู้ร่วมกันและเริ่มจากตัวเอง

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev เปิดเผยว่า การทำเรื่องความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องครบทุกองค์ประกอบและเกี่ยวโยงกับคนทุกภาคส่วน ในฐานะที่ ThaiBev เป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและมีพันธมิตรหลากหลาย เรามองถึงการเรียนรู้ด้านความยั่งยืนจากผู้ประกอบการที่เป็นพันธมิตร เราถามหาว่า เราเรียนรู้อะไรจากเขาและเขาเรียนรู้อะไรจากเรา

วิสัยทัศน์ของเราก็เรียบง่าย คือเรามองคุณค่าในการสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าของการเติบโต หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่กว้าง แต่เราก็มีตัวอย่าง สิ่งที่เราได้ลงมือปฏิบัติทำ เรียนรู้ และเชื่อมโยงกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาความยั่งยืนในภาคเอกชน หน่วยงาน องค์กรสาธารณะอื่นๆ

ความยั่งยืน เป็นเรื่องกว้างๆ สิ่งที่สำคัญคือไม่มีใครบอกว่าต้องทำอย่างไรและต้องทำแค่ไหน แสดงว่าเป็นกรอบกว้างๆ ให้ทุกคนมารวมพลังและร่วมกันคิด ผมขออนุญาตชวนคิดว่า ถ้าภาพของความยั่งยืนเป็นเรื่องกว้างๆ แต่วันนี้เราพูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ต้องคิดให้ครบและต้องมองถึงองค์ประกอบที่เชื่อมโยงด้วยกัน ท้ายที่สุดจะกลับมาสู่ตัวบุคคลต้องทุกอย่างไม่ใช่เขาไม่ดี เช่น พลาสติก แต่เขาไม่ดี เพราะเราไปทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบ

30185346.452bd2a6b9b432483ce6c2e841f3e50e.20111204 2

เวลาเรามองถึงพลาสติก เราบอกว่าพลาสติกเป็นผู้ร้าย อยากใช้วัสดุประเภทอื่น เช่น กระดาษ แต่เราไม่ได้มองว่ากระดาษมีผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อมด้วย คือปล่อยคารบอนมากน้อยแค่ไหน ThaiBev เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่ม การเพิ่มน้ำหนักในการขนส่งลำเลียงสินค้าเป็นภาระที่ทำให้เราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากยิ่งขึ้น

แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ความเอาใจใส่ในเรื่องพฤติกรรมของผู้ใช้ ลองชวนทุกๆ คนลองดูว่า ถ้าเรามีกระบวนการความคิดที่เชื่อมโยงกัน เช่น การทิ้งและจัดเก็บในเรื่องพลาสติก ซึ่งทำให้ทรัพยากรมีคุณค่ามากขึ้นได้ไหม

สิ่งสำคัญทุกคนต้องเริ่มที่ตัวเอง เศรษฐกิจหมุนเวียนเริ่มที่พฤติกรรม สามัญสำนึก นิสัยของพวกเรา เราใช้ทรัพยากรต่างๆ ทำอย่างไรให้ต้นน้ำธรรมชาติไม่แห้งหายไป เช่น สนับสนุนโครงการปลูกป่า ใช้อย่างประหยัด รีไซเคิลในระบบ ท้ายที่สุดเราพยายามทำอย่างดีที่สุดและเรียนรู้จากคู่ค้า ลูกค้าของเรา

ความยั่งยืน GC ธุรกิจ

GC: สร้างวงจร ความยั่งยืน สำหรับทุกคน

คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC เป็นผู้ผลิตเคมีภันฑ์ที่มีคติว่า เคมีภันฑ์ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้น แต่เรามีความหมายลึกกว่านั้น คือ เคมีเป็นเรื่องความร่วมมือกันสร้าง ความยั่งยืน เคมีในการทำงานร่วมกันขององค์กรใหญ่ การทำงานร่วมกันในหลายๆ ภาคส่วน เช่น ภาครัฐ เอสเอ็มอี เจ้าของแบรนด์ต่างๆ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ในมุมความเป็นอยู่อย่างเดียว แต่ในมุมสิ่งแวดล้อและช่วยสังคมด้วย

การจะทำให้จริงจัง GC มีกลยุทธ์ต่างๆ เหมือนหลายบริษัท กลยุทธ์บริษัท 2 เรื่องแรกเป็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของธุรกิจ ส่วนเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องความยั่งยืน โดยเราดัดแปลงเรื่องสภาพภูมิอากาศ มีการตั้งเป้าหมายชัดเจนเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินงานและทำงานทุกๆ ภาคของธุรกิจ

คงกระพัน อินทรแจ้ง GC ความยั่งยืน

ความท้าทายในการผลักดันเรื่องนี้ เป็นเรื่องขนาดและความครอบคลุม แรกๆ ที่ทำอาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่และไม่ได้ครอบคลุมมาก แต่วันนี้เราเห็นบนเวทีผู้นำความคิดอค์กรใหญ่และองค์กรต่างๆ บนเวทีมีความกว้างและความลึกในการแก้ปัญหา เพราะเรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาให้ครบวงจร เช่น เรื่องพลาสติก การแบนการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องเฉพาะจุด แต่ความเชื่อของเราคือมันต้องมีการแก้ปัญหาองค์รวมสำหรับทุกคน

ถ้าไม่มีนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ มีแต่แนวคิดก็แก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้ใช้พลาสติกปกติ ก็ขอให้มีความตระหนักรู้ในการใช้และร่วมกันบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนร่วมต้องสร้างสภาพแวดล้อมและทำให้การแก้ปัญหาแบบครบวงจร เช่น การแยก การจัดเก็บ การนำไปซีการรีไซเคิล และส่งเสริมดีไซเนอร์ เพื่อให้คนที่มีกำลังน้อยกว่าและอาจจะไม่ตระหนัก มาเข้าร่วมและทำให้เกิดผลในที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo