Circular Economy

เปิดวิสัยทัศน์ Dow ‘ถนนพลาสติก’ จากโครงการต้นแบบ สู่การขยายผลระดับประเทศ

ต้องบอกว่า สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำเพื่อถ่ายรูปอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นคงจบไปตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เราต้องการทำให้เห็นผล

ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว (Dow) ประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งขณะเล่าถึง “ถนนพลาสติก” โครงการนำขยะพลาสติกมาก่อสร้างถนน ซึ่งกำลังถูกต่อยอดไปอีกขั้น

fig 25 10 2020 10 57 53

เชื่อว่าพวกเราทุกคนคงคุ้นเคยกับการที่ “พลาสติก” กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยพลาสติกเป็นวัตถุดิบเอนกประสงค์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้พลาสติกเติบโตอย่างรวดเร็ว แทรกซึมอยู่ในเกือบทุกกิจกรรมของโลกยุคใหม่

แต่เมื่อปริมาณการใช้เติบโตเร็วกว่าโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการกับ “ขยะพลาสติก” ก็ทำให้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง มีอายุการใช้งานสั้นและกลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีโอกาสหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมสูง

 

จุดเริ่มต้นของ “ถนนพลาสติก”

ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย เล่าย้อนให้ฟังว่า Dow ในฐานะบริษัทชั้นนำระดับโลก ด้านแมททีเรียลส์ ไซแอนซ์ (Materials Science) เชื่อว่าหนึ่งในหนทางแก้ไขปัญหาพลาสติกได้อย่างยั่งยืน ก็คือการนำพลาสติกใช้แล้ว กลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำ สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้มีการจัดเก็บกลับมาสู่ระบบ กลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นจุดกำเนิดของ “โครงการถนนพลาสติกรีไซเคิล” นำพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยากมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการก่อสร้างถนน

ถนนพลาสติก DOW

ในปี 2560 กลุ่ม Dow พัฒนาถนนพลาสติกแห่งแรกในประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะขยายไปในหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย ไทย สหรัฐ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จนถึงปัจจุบันมีระยะทางรวมกันมากกว่า 90 กิโลเมตร ใช้ขยะพลาสติกมากกว่า 200 ตันเป็นส่วนผสม เมื่อเทียบกับถุงพลาสติกแบบตั้ง (ถุงรีฟิล) คิดเป็นปริมาณ 50 ล้านใบ

“เราเริ่มทำถนนพลาสติกครั้งแรกที่อินโดฯ อินเดีย ฟิลิปฯ ไทย เวียดนาม และสหรัฐ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ทำมาแล้ว 3-4 ปี ที่ผ่านมาคุณภาพดีมาก ไม่มีปัญหาหลังจากการใช้งาน พอเราเอาพลาสติกมาผสมความแข็งแรงมีมากขึ้น ขณะเดียวกันลดต้นทุนและจัดการกับขยะพลาสติกได้ด้วย ที่ผ่านมาได้ผลชัดเจนมาก”

 

ความร่วมมือในประเทศไทย

ต่อมาในปี 2561 Dow ประเทศไทย ร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญอย่างเอสซีจี (SCG) พัฒนาเทคโนโลยี ถนนพลาสติก รีไซเคิลให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย

โดยวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างคือ พลาสติกที่หลอมละลายได้ทุกประเภท เช่น พลาสติกหูหิ้ว ถุงใส่อาหาร ยกเว้นพีวีซี (PVC) ซึ่งพลาสติกเหลือใช้เหล่านี้จะถูกนำมาตัดย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาผสมกับยางมะตอย (Asphalt Cement) เพื่อใช้ในการปูถนน

ถนนพลาสติกที่มีความยาว 1 กิโลเมตร หน้ากว้าง 6 เมตร จะนำขยะพลาสติกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ราว 3 ตัน เทียบเท่ากับถุงพลาสติกเกือบ 9 แสนใบ

นอกจากนี้ได้การร่วมมือกับเอกชนหลายรายที่ให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ อมตะ 7-11 เอสซี แอสเสท และ MQDC เป็นต้น ดำเนิน “โครงการต้นแบบถนนพลาสติก” นำเทคโนโลยีไปใช้ในการก่อสร้างจริงหลายพื้นที่ เช่น ที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จังหวัดระยอง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ที่ลานจอดรถของ 7-11 สายไหมซอย 3 ราษฎร์พัฒนาซอย 24 และ ธาราพัทยา รวมทั้งที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ บึงบางซื่อ เป็นต้น จนถึงปัจจุบัน ได้ร่วมกันสร้างถนนพลาสติกในประเทศไทยไปแล้วระยะทางรวม 7.7 กิโลเมตร และสามารถนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้กว่า 23 ตัน

ต้นเเบบถนนพลาสติกบริเวณนิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล จ.ระยอง 2

ถนนพลาสติก ต้นแบบในประเทศไทยถูกทดสอบการรับน้ำหนัก ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนเลยว่า มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 15-33% เมื่อเทียบกันระหว่างถนนที่มีพลาสติกและถนนที่ไม่มีพลาสติก ตัวเลขนี้มีการทดสอบออกมาอย่างชัดเจน มีการนำไปใช้จริงและไม่มีปัญหา โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มาช่วยทดสอบถนนจริงด้วย

“การทำถนนยางมะตอยก็คือการเอากรวดและยางมะตอยมาเคลือบให้เกาะกัน เมื่อมีพลาสติก สิ่งที่เกิดขึ้นคือพลาสติกไปเคลือบเม็ดกรวดเหล่านั้น คราวนี้เวลาน้ำท่วมหรือฝนตก น้ำก็จะไม่ซึมเข้าไปในเม็ดกรวด พอน้ำไม่ซึมในเม็ดกรวด แอสฟัลต์ที่เคลือบอยู่ก็สามารถใช้การได้ ไม่เช่นนั้นพอน้ำซึมเข้าไป สังเกตได้ว่าพอมีฝนตก น้ำท่วมหนัก ยางมะตอยจะหลุด ตรงนี้คือความคงทนที่เกิดขึ้น”

 

ขยายผลสู่ระดับประเทศ

แม้ความร่วมมือกับภาคเอกชนจะเป็นไปด้วยดี แต่ Dow มองว่าก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น การขยายผลควรยกระดับสู่ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อย่างกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่เป็นผู้ก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนนจำนวนมากในแต่ละปี

จึงเกิดเป็นการลงนาม “โครงการศึกษาและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้เพื่อเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทาง ระหว่าง 5 ฝ่าย ได้แก่ กรมทางหลวงกรมทางหลวงชนบทSCG – Dow – มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

ในความร่วมมือครั้งนี้ Dow และ SCG จะมีบทบาทด้านการวิจัยและเทคโนโลยี รวมถึงรวบรวมและคัดแยกขยะพลาสติกจากชุมนุมต้นทางในบริเวณที่มีการทดลองก่อสร้างถนน ซึ่ง Dow ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการขยายผลไปสู่ถนนของภาครัฐ นำไปสู่หนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาพลาสติกในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ภาพหมู่ผู้ลงนาม 1

“ผมว่าตรงนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้พวกเราทุกคน ประชาชนทุกคนเห็นว่า ถ้าเราคัดแยกขยะมาแล้ว ขยะพลาสติกพวกนี้มีที่ไป นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ กลับมาเป็น Circular Economy ที่แท้จริง ไม่ต้องไปจบที่หลุมฝังกลบ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เห็นได้ชัดเจน สามารถส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนทุกคัดแยกขยะและคัดแยกจากต้นทางได้ก็ยิ่งดี”

ฉัตรชัย กล่าวว่าถึงความคืบหน้าในครั้งนี้ว่า รู้สึก “ดีใจ” ที่ภาครัฐให้ความสนใจและเข้ามาทดสอบ แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคสำคัญในขั้นตอนการขยายผลคือ “เวลา” เพราะการก่อสร้างถนนเพื่อทดสอบ จะทำวันนี้ ทดสอบพรุ่งนี้ไม่ได้

กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีมาตรฐานเปลี่ยนวัสดุทุกชนิด ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้จึงอาจรู้ผลในปี 2564 หรือ 2565 แต่ Dow เชื่อว่า ถนนพลาสติก จะผ่านมาตรฐานและได้รับการรับรองจากทั้ง 2 หน่วยงาน เพราะมีประโยชน์อย่างมากใน 3 ประเด็น คือ

  • ทำให้ถนนมีความคงทนแข็งแรงมากกว่าการใช้ยางมะตอยแบบธรรมดา
  • ลดต้นทุนการก่อสร้าง เพราะสามารถลดการใช้แอสฟัลต์คอนกรีตที่มีราคาสูงกว่า
  • สามารถนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์และทำให้เกิดมูลค่า ลดขยะที่หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมหรือจบที่หลุมฝังกลบ

“เราทดสอบในห้องแล็บแล้ว แต่บางคนอาจจะบอกว่าไม่เห็นผลชัดเจน เรามาลองใช้ของจริง ผมเชื่อว่าพอหลังจากทำไป กรมทางหลวงฯ จะตัดถนนเส้นนี้เอาขึ้นมาดูในห้องแล็บ มาดูระดับโมเลกุล ทดสอบดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง นั่นคือการทดสอบจากของจริง”

 

“ถนนพลาสติก” อย่างเดียวไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม การนำพลาสติกเหลือใช้ไปเป็นวัสดุก่อสร้างถนนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งหมด แต่ต้องเปลี่ยนวงจรพลาสติกตั้งแต่การคัดแยกขยะ การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย เพราะฉะนั้น “ต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน”

Dow จึงมีอีกหลายโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น โครงการ PPP Plus ที่เกิดจากความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการนำร่องเรื่องโครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บ การคัดแยก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชุมชนวังหว้า จังหวัดระยองและคลองเตย กรุงเทพฯ ซึ่งก็หวังว่าจะขยายผลไปทั่วประเทศ

Dow ถนนพลาสติก

โครงการมือวิเศษ x วน ตั้งจุด Drop Point รวบรวมพลาสติกยืดกว่า 350 จุดทั่วประเทศ เพื่อสร้างโมเดลโครงสร้างพื้นฐานนำขยะพลาสติกกลับสู่ระบบ ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะกลับมาป้อนโครงการ ถนนพลาสติก ได้ในอนาคต

ในแต่ละปีประเทศไทยมีการทิ้งขยะพลาสติกถึงปีละ 2 ล้านตัน เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนช่วยกันคัดแยก พลาสติกเหลือใช้ ก็จะไม่กลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบและสามารถสร้างนำมาใช้ประโยชน์ซ้ำได้อีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo