Environmental Sustainability

‘GC’ ระดมความเห็น ‘หัวเว่ย-เนสท์เล่-ผู้ว่าฯชัชชาติ’ ขับเคลื่อนระบบนิเวศ ‘Net Zero’

เปิดไฮไลท์ งาน “GC Circular Living Symposium 2022: Together to Net Zero” ดึงซีอีโอหัวเว่ย-เนสท์เล่-ผู้ว่าฯชัชชาติ ร่วมแชร์แนวคิด “ปลดล็อกวิถีธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืน”

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เดินหน้าจัดงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together to Net Zero การประชุมระดับนานาชาติที่รวมพลังขับเคลื่อนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เป็น ปีที่ 3

GC

ในงานดังกล่าว ได้ระดมพล 40 ผู้นำทางความคิดชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกับ ภาครัฐ เอกชน คนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และสตาร์ทอัพ มาร่วมคิด แชร์ และต่อยอดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2565

หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ การแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์สู่ Net Zero จากซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทย นำทีมโดย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า รวมถึงนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ดร.คงกระพัน กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส และถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่ง GC ในฐานะองค์กรใหญ่และอยู่ในภาคอุตสาหกรรมได้วางเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 โดยจะเริ่มจากเหลือ 20% ในปี 2030

GC

ที่ผ่านมา GC ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นหลักในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก ตลอดจนริเริ่มโครงการและนวัตกรรมด้านโซลูชั่นที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนมากมาย

สิ่งสำคัญคือ การสร้างระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็ม ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อน สร้างสังคม Net Zero ให้เกิดทั้งในรายใหญ่และรายย่อยระดับชุมชน บุคคล โดย GC ได้สร้างแพลตฟอร์มกลาง UTURN ขึ้นเพื่อดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน โดยเฉพาะซัพพลายเออร์ ชุมชน คนรุ่นใหม่

ด้วยแนวคิด Together To Net Zero GC พร้อมทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยง เพื่อร่วมแชร์ประสบการณ์ มีการสร้าง Platform เพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์เป็นทางเลือกที่จับต้องได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล และอัพไซเคิลเพื่อต่อยอดการทำงานร่วมกับพันธมิตร

GC1

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของภาครัฐ ในการขับเคลื่อน Net Zero คือ การวางเป้าหมายไกลเกินไป และเป็นเหมือนสโลแกนเพื่อให้ดูดี แต่เป็นจริงหรือจับต้องได้ยาก ทั้งนี้จึงมองว่า ควรตั้งเป้าหมายให้เป็นจริงมากขึ้น เช่น การซอยเป้าหมายระยะยาว มาเป็นระยะสั้น 1 ปี ระยะกลาง 3-5 ปี เพื่อให้การทำงานสำเร็จ เห็นผลและนำไปสู่เป้าหมายระยะยาว

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องมีข้อมูล มีการศึกษาอย่างจริงจัง และวางเป้าหมายที่สามารถไปถึงได้ โดยต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยคือ มีเครื่องมือและการบริการที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพร้อมรองรับ และมีการสร้างอินเซนทีฟ เพื่อจูงใจ

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินการในเรื่อง Net Zero แล้ว เช่นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จากการริเริ่มโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งมีพันธมิตรทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมากมาย และล่าสุด กทม. จะเริ่มนำร่องโครงการแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ในวันที่ 4 กันยายนนี้ ที่ สำนักงานเขตสาธร ปทุมวันและหนองจอก 

ต้องสร้างให้แนวคิดการลดคาร์บอน อยู่ในใจคน ทำกรุงเทพให้เย็นลง ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อลดการใช้พลังงาน และออกกฏหมายการประหยัดพลังงานในอาคาร ซึ่งควรมีอินเซนทีฟจูงใจเอกชนประหยัดพลังงาน

ด้านนายวิคเตอร์ เซียห์ กล่าวว่า ในส่วนของเนสท์เล่ ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่าน 4 โครงการสำคัญคือ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก การดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การจัดการวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สัมมนา

ทั้งนี้ เนสท์เล่มุ่งมั่นลดการปล่อยมลพิษทางอากาศลงจากเดิม 20% ภายในปี 2025 และเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2030 โดยขับเคลื่อนผ่านมาตรการประหยัดพลังงานในทุกกระบวนการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นในเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าหมุนเวียนให้ได้ทั้งหมด 100% ภายในปี 2025

 

ขณะเดียวกัน ยังลดการปล่อยมลพิษในขั้นตอนการขนส่ง โดยเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษน้อยลงและวางแผนใช้พื้นที่ในรถขนส่งสินค้าให้คุ้มค่าที่สุด มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน 2050 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน

ในส่วนของ​โรงงานเนสท์เล่นวนคร ได้นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้ในฐานการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม และคำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนฯ ให้เป็นศูนย์ รวมทั้งหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2050

เนสท์เล่ ยังมีแผนติดตั้งฟาร์มกังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ ที่หลังคาโรงงานและที่จอดรถเพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ภายในปี 2021 รวมไปถึงการใช้สารทำความเย็นที่ไม่ทำลายชั้นโอโซน การใช้เทคโนโลยีจัดการของเสียและน้ำเสีย พร้อมนำนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมาใช้

นายอาเบล เติ้ง กล่าวถึงแนวทางสู่ Net Zero ของหัวเว่ย ว่า หัวเว่ยในฐานะที่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถเชื่อมต่อทุกชีวิตได้ไปพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายสู่การเป็น กรีนดิจิทัล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo