Environmental Sustainability

‘ทส.-ศธ.’ ทำ MOU สร้าง ‘พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม’ ผ่านโครงการ ‘Eco-School’

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลัง กระทรวงศึกษาธิการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล สร้าง “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม” ด้าน สส. โชว์ความสำเร็จ ตั้งโรงเรียนแล้วถึง 611 โรงเรียน พร้อมเดินหน้าเต็มร้อยตามกรอบพันธกิจ 4 ด้าน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และคัดเลือกเข้ารับรางวัล ASEAN Eco-School Award

วันนี้ (27 ก.ค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงาน “โครงการโรงเรียนอีโคสคูล” (Eco-School) ระหว่าง ทส. โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส. กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีศธ.

ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการ และเพื่อสนับสนุนให้โรงเรียน ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ พัฒนาโรงเรียนตามหลักการของโครงการ รวมถึงเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก เจตคติ

S 240132101

รวมถึงเสริมคุณลักษณะ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนอีโคสคูล โดยมีผู้บริหารจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการผลักดันให้เกิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ด้วยสิ่งที่จำเป็น และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการตั้งรับ และปรับตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอาจเกิดขึ้นในอนาคต คือ การบ่มเพาะ หรือสร้าง “พลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม”” (Green Citizen) ที่มีความตื่นตัว ตระหนัก และรับผิดชอบต่อเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนหนึ่งคนได้

โครงการโรงเรียนอีโคสคูล เป็นการนำหลักการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) และหลักสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) มาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ หรือ Community Based Learning ซึ่งเป็นกระบวนการในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมของตนเอง

เกิดการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น หรือ Problem Based Learning อันจะนำไปสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้เติบโตเป็น “พลเมือง” ที่ใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง” เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ “ยั่งยืน” ตามเป้าหมายสูงสุดของโครงการ

S 240132106

นายวราวุธ บอกด้วยว่า โครงการโรงเรียนอีโคสคูลนี้ ยังถือเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ทั้งในมิติด้านการพัฒนาคนหรือด้านการศึกษา และมิติสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่นำพาสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศต่อไป

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ในการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนอีโคสคูล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลโรงเรียนทั่วประเทศ ในการร่วมขับเคลื่อน และสนับสนุนการดำเนินโครงการ ให้สามารถครอบคลุมทุกโรงเรียนทั่วประเทศได้ในอนาคตอันใกล้ และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปพร้อมกัน

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีกำหนดเวลา 5 ปี  โดยทส. จะเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือ และเอื้อประโยชน์ในการดำเนินงานโครงการประสานงาน และมอบหมายหน่วยงานภายใต้ความรับผิดชอบ เพื่ออำนวยความสะดวก และสนับสนุนทรัพยากรแก่โรงเรียน ในการดำเนินงานโครงการ เสริมสร้างและสนับสนุนองค์ความรู้ โดยการจัดกระบวนการและสนับสนุนวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ และสื่อการเรียนรู้

แนวทางการดำเนินงานโครงการ กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) และความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนที่อยู่ในโครงการ รวมทั้งติดตา มและสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนให้สอดคล้องกับพันธกิจ 4 ด้าน ตามหลักการของโครงการสนับสนุน และขยายผลการดำเนินงานโครงการ  รวมไปถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลโรงเรียนอีโคสคูล

ทางด้านนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีศธ. ระบุว่า กระทรวงปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน เกิดความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

S 240132102

การนำสิ่งแวดล้อมมาสู่การจัดการเรียนการสอน หรือสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนในสังกัดทุกระดับ นำไปสู่การบูรณาการ การจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้กับผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขในสถานศึกษาที่ปลอดภัย

จึงได้กำหนดนโยบายและจุดเน้น ประจำปีงบประมาณ 2565 ในเรื่องของการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเป็นอาชีพ และสร้างรายได้

การลงนามในวันนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทส. และ ศธ. ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการขึ้นมา โดย ศธ. พร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับทส. ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนอีโคสคูล  ให้ครอบคลุมกับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ ให้บรรลุตามเป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือ การพัฒนานักเรียนให้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตย่างพอเพียงเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป

ในส่วนขอบเขตความร่วมมือ และหน้าที่ความรับผิดชอบของศธ. คือ การกำหนดผู้กำหนดนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือ สร้างความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาโรงเรียนอีโคสคูล โดยยึดแนวทางการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง อำนวยความสะดวกและสนับสนุนทรัพยากรแก่โรงเรียนในการดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล

เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมขยายผลการพัฒนา ไปยังโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ  ติดตาม และส่งเสริมให้สถานศึกษาดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาโรงเรียน นำผลการประเมินมาปรับปรุงและพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ

S 240132128

ขณะที่ นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มโครงการโรงเรียนอีโคสคูลขึ้น ในปี 2550 ภายใต้ชื่อโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มต้นจาก 41 โรงเรียนนำร่อง

ปัจจุบัน มีจำนวนโรงเรียนอีโคสคูลทั้งสิ้น 611 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนอีโคสคูลเครือข่ายเดิม ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2550-2563 จำนวน 277 โรงเรียน ระดับต้น
จำนวน 254 โรงเรียน ระดับกลาง จำนวน 66 โรงเรียน และศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล จำนวน 14 ศูนย์

ในการดำเนินงานนั้น ได้พัฒนา และปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานร วมถึงการขยายผลโครงการ โดยแบ่งระดับการดำเนินโครงการออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น (Beginner) ระดับกลาง (Intermediate) และระดับสูง (Advance)

พร้อมทั้งยกระดับโรงเรียนอีโคสคูล ที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ตามกรอบพันธกิจ 4 ด้าน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูล เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานโรงเรียนอีโคสคูลในประเทศไทย และคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล ASEAN Eco-School Award ต่อไป

ในปี 2564 เป็นปีแรกในการเปิดรับสมัครโรงเรียนอีโคสคูลระดับต้น โดยมีโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาผลการดำเนินงานและประกาศให้เป็นโรงเรียนอีโคสคูล ระดับต้น จำนวน 254 โรงเรียน

S 240132120

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo