Environmental Sustainability

‘Dow-ทช.’ ผนึก 6 องค์กร ขยายเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน ดึงเยาวชนมีส่วนร่วม

ทช. ผนึก Dow ร่วมมือ 6 องค์กร ขยายเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน ดึงเยาวชนมีส่วนร่วม ด้วยหลักสูตร และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน

วันนี้ (28 ม.ค.) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเทศบาลตำบลปากน้ำประแส ประกาศความร่วมมือเพิ่มเติมกับ 4 องค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่

  • มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ FEED
  • มูลนิธิโลกสีเขียว
  • ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC)
  • เซคันด์ไลฟ์ (SecondLife)

ยกระดับการดำเนินโครงการ “ดาวและภาคีป่าชายเลนประเทศไทย” (Dow & Thailand Mangrove Alliance) สู่โมเดลต้นแบบการอนุรักษ์ป่าชายเลน แบบมีส่วนร่วมทุกมิติ หนุนเยาวชนเรียนรู้เรื่องป่าชายเลน ชูแอปพลิเคชัน “iNaturalist” ดึงทุกภาคส่วนร่วมลดภาวะโลกร้อนและลดขยะทะเลแบบยั่งยืน

S 136192027

ป่าชายเลนมีส่วนช่วยในการแก้วิกฤติโลกร้อน และทำหน้าที่เสมือนตะแกรงธรรมชาติ คอยดักกรองมลพิษ และขยะต่าง ๆ ไม่ให้ลงสู่ทะเล Dow จึงได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 13 ปี  ก่อนที่จะก่อตั้งความร่วมมือ “ดาวและภาคีป่าชายเลนประเทศไทย”  นำร่องโครงการในพื้นที่ป่าชายเลนของเทศบาลตำบลปากน้ำประแสเมื่อปี 2563

พร้อมประกาศยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และเข้มแข็งมากขึ้น ร่วมกับ 4 พันธมิตรใหม่ในปีนี้รวมเป็น 8 องค์กร

กิจกรรมสำคัญในปีนี้

  • มีแผนจะสนับสนุนการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิต
  • สร้างองค์ความรู้ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ของป่าชายเลนไทยให้สมบูรณ์
  • ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว Blue carbon destination เชิงนิเวศครบวงจร
  • สร้างต้นแบบการจัดการขยะทะเลในชุมชนริมน้ำ
  • เปิดโอกาสให้เยาวชน และประชาชนร่วมสำรวจสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน ด้วยแอปพลิเคชัน iNaturalist  พัฒนาขึ้นโดย เนชั่นแนล จีโอกราฟิก เพื่อให้ความรู้ และจัดเก็บฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ

ให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมสำรวจห้องเรียนธรรมชาติ สร้างความตื่นตัวในการ่วมมือฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าเพิ่มขึ้น เพื่อร่วมกันลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และขยะทะเลตามแผนระยะ 5 ปี (2563-2567) เพื่อยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอ่าวไทย-ทะเลอันดามัน ไปสู่ระดับสากล

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ไม่ใช่บทบาทของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ที่ต้องสร้างเครือข่ายร่วมกันฟื้นฟูและแก้ปัญหา เพื่อให้การอนุรักษ์ป่าชายเลนประสบความสำเร็จและยั่งยืน

2253971

ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการป่าชายเลน แบบมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐ เอกชน และชุมชน ครั้งสำคัญของไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมาย ให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2608

ขณะที่ นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร Dow ระบุว่า บริษัทรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ 4 องค์กรชั้นนำ ได้เข้ามาร่วมกันยกระดับโครงการ โดยนำความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ของแต่ละองค์กร เข้ามาพัฒนาการอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างมีส่วนร่วมให้ครบถ้วนในทุกมิติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดโลกร้อน และแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าการทำงานด้านความยั่งยืนของ Dow ที่มุ่งมั่นจะต้านโลกร้อน และลดขยะพลาสติก

ดร. ดินโด แคมปิลัน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย และผู้อำนวยการศูนย์กลางภูมิภาคเอเชีย และโอเชเนีย IUCN กล่าวว่า ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการปกป้อง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

แม้ป่าชายเลน จะมีพื้นที่ไม่เยอะ เมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าประเภทอื่น แต่สำหรับบทบาทของระบบนิเวศชายฝั่งแล้ว ป่าชายเลนช่วยกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 14% ของสัดส่วนการกักเก็บคาร์บอนในทะเลของโลก

เช่นเดียวกับ ดร.ฉวีวรรณ หุตะเจริญ ประธาน FEED ที่ระบุว่า พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนเป็นเหมือนพื้นที่ปลูกป่าในใจของเด็กและเยาวชน ที่ได้มีโอกาสเข้ามามาสัมผัส ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ว่า การปลูกป่าต้องปลูกที่หัวใจไม่ใช่เพียงปลูกลงบนพื้นดิน

FEED จะประเมินศักยภาพในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาเส้นทางธรรมชาติและออกแบบกิจกรรมร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น นำนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ เป็นการต่อยอดโครงการฯ ให้สมบูรณ์ขึ้น

ส่วน ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว แสดงความเห็นว่า โครงการนักสืบป่าชายเลนจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ด้านทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ให้เป็นเรื่องน่าสนุก และน่าค้นหา โดยในปี 2565 มีเป้าหมายจัดค่ายนักสืบป่าชายเลนให้กับเยาวชนจำนวน 2 ครั้ง เพื่อสร้าง Generation Restoration ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการสนับสนุนเป้าหมายของสหประชาติ ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ (UN Decade for Ecosystem Restoration)”

S 136192029

ทางด้าน นางสาววรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย RECOFTC เปิดเผยว่า รีคอฟมีบทบาทรับผิดชอบในเรื่องการพัฒนาหลักสูตร ให้กับโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมาย ถึงเรื่องการสำรวจ และเพื่อการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และภาวะโลกรวน (Biodiversity & Climate Change)

โดยจะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งของคุณครู นักเรียน และชุมชน ได้รู้จัก และเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนตนเอง และเพื่อนำไปสู่การจัดการที่ยั่งยืนต่อไป

นายนิก สุภัทรวณิชย์ ผู้จัดการโปรแกรม เซคันด์ไลฟ์ กล่าวว่า คำถามไม่ใช่แค่ทำไมต้องดำเนินการเกี่ยวกับพลาสติกในทะเล แต่ควรดำเนินการอย่างไร พลาสติกในทะเลส่วนใหญ่ที่เก็บรวบรวมจริง ๆ แล้วไม่มีมูลค่าในตลาด จึงกลับกลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบ

Second Life ไม่เพียงแต่สนับสนุนห่วงโซ่การรวบรวมพลาสติกทะเลในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อดำเนินการเปลี่ยนขยะพลาสติกเหล่านี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับชุมชน และประสิทธิภาพการจัดการขยะโดยรวมของประเทศ

ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมพื้นที่นำร่องของโครงการฯ ได้ทุกวัน ณ ห้องเรียนธรรมชาติ ป่าชายเลนปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยนอกจากพื้นที่นำร่องแล้ว โครงการฯ ยังมีแผนในการขยายความร่วมมือไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และอีกหลายจังหวัดในระยะเวลา 5 ปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo