Environmental Sustainability

‘โลกร้อน’ วิกฤติที่ต้องเร่งแก้ในปี 2565

จำนวนภัยธรรมชาติ ที่เพิ่มมากขึ้นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กำลังกลายมาเป็นวิกฤติของโลกในปีนี้ ทั้งยังจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเอเชียมากสุด  

รายงานของ “สถาบันทรัพยากรโลก” (ดับเบิลอาร์ไอ)  ระบุว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังจะต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างรุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหา “น้ำท่วม” กำลังกลายเป็นวิกฤติในอนาคต

มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจคาดว่าจะสูงถึง 17 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2573 หรือคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โลกในขณะนั้น หากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินไปในระดับปัจจุบัน

LINE ALBUM งานเพลทท้ายปี 2021 ๒๒๐๑๐๓ 0

หลายประเทศในเอเชีย มีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมสูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของเอเชียจะสูงถึง 8.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของความเสียหายทั่วโลก หากไม่มีมาตรการรับมือที่มีประสิทธิภาพ

จีน และ อินเดีย เป็น 2 ประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงที่สุด เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง และบ่อยครั้ง โดยที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมากของจีน ยังไม่มีระบบรับมือกับภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ทำให้จีนมีความเสี่ยงที่จะต้องประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุน้ำท่วม คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2573 หรือ 14% ของจีดีพี

ช่วงเดือน มกราคม-กันยายน 2563 จีนต้องเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำราว 836 สายทั่วประเทศ เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 80% จากภาวะปกติ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชากรกว่า 73 ล้านคน รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการพาณิชย์ ที่ได้รับความเสียหายรวมกว่า 200,000 ล้านหยวน

ขณะที่ อินเดีย หลายเมืองยังไม่มีระบบระบายน้ำที่ดี ยังคงใช้โครงสร้างพื้นฐานเก่าที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้ความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมของอินเดียรุนแรงอย่างมาก

shutterstock 2028619256

ข้อมูลของดับเบิลยูอาร์ไอชี้ว่า การลงทุนในการสร้างคันดินและเขื่อนกั้นน้ำในเวลานี้แม้จะสร้างภาระทางการเงินต่อรัฐบาล แต่มูลค่าการก่อสร้างยังต่ำกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ และไม่เพียงแต่ป้องกันความเสียหายของบ้านเรือนและธุรกิจของผู้คนนับล้านเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไปได้

ก่อนหน้านี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เผยแพร่รายงาน  ซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกับสถาบันพอตสดัม เพื่อการวิจัยผลกระทบจากภูมิอากาศ สำรวจและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือที่เรียกกันว่าภาวะโลกร้อนต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยเฉพาะ

การประเมินความเสี่ยงดังกล่าว อยู่บนพื้นฐานของการ “ไม่ทำอะไรเลย” ของทุกคนในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้เมื่อสิ้นศตวรรษนี้ (ปี ค.ศ. 2100) เชื่อว่า อุณหภูมิของแผ่นดินใหญ่เอเชียโดยรวม จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 6 องศาเซลเซียส

บางพื้นที่ บางประเทศ อุณหภูมิเฉลี่ยอาจสูงขึ้นมากกว่านั้น อาทิ ทาจิกิสถาน, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน และพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน

ทางสถาบันคาดการณ์ว่า อุณหภูมิ ณ สิ้นศตวรรษจะเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอีก 8 องศาเซลเซียส โดยสิ่งแน่นอนที่สุด ที่ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดขึ้นก็คือ ระบบอากาศในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่การทำเกษตรกรรมและการทำประมง ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งบนบกและในน้ำ การค้า การพัฒนาชุมชนเมือง การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และสุขภาพ นอกเหนือไปจากการก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคง ทั้งภายในประเทศ และในระดับภูมิภาค

วิกฤติที่เกิดขึ้นรุนแรงถึงขนาดอาจเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดสำหรับบางประเทศ

shutterstock 1528671035

พื้นที่แผ่นดินส่วนใหญ่ของเอเชีย จะมีฝน รวมถึงหิมะ ตกหนักเพิ่มมากขึ้นกว่า 50% แต่จะกลับตรงกันข้ามในบางประเทศ อย่างเช่น ปากีสถา นและอัฟกานิสถาน ปริมาณฝนจะน้อยลงไปอีกราว 20-50% จากระดับปัจจุบัน เมืองใหญ่ 19 เมืองในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะตกอยู่ในสภาพเสี่ยงกับ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากระดับทุกวันนี้ถึง 1 เมตร

โดยใน 19 เมืองนั้น 7 เมืองตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ แต่ประเทศที่จะประสบกับปัญหาน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งทะเล จนได้รับผลกระทบมากที่สุดตามการประเมินของสถาบันพอตสดัมกลับเป็น อินโดนีเซีย

ข้อมูลของสถาบันพอตสดัม ยังระบุอีกด้วยว่า 13 เมืองจาก 20 เมืองแรกสุดที่จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงที่สุดจากภาวะน้ำท่วมประจำปีระหว่างปี 2548-2593 อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกครั้งใหญ่ดังกล่าว จะส่งผลให้การผลิตอาหารในภูมิภาคนี้ยากลำบากมากขึ้น และจะส่งผลให้ราคาธัญญาหารในภูมิภาคสูงขึ้นตามไปด้วย จากการประเมินทางวิชาการพบว่า บางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลผลิตข้าวที่ได้แต่ละปีจะลดลงอย่างฮวบฮาบถึง 50% ภายในปี 2643 หากยังไม่มีความพยายามปรับเปลี่ยนใด ๆ

ระบบนิเวศวิทยาทางทะเล โดยเฉพาะในบริเวณแปซิฟิกตะวันตก จะตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงเมื่อสิ้นศตวรรษ สาเหตุเพราะอุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำเพียง 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ปะการัง 89% เกิดภาวะฟอกขาวรุนแรง ทำลายห่วงโซ่เชิงนิเวศที่เกี่ยวพันไปถึงการทำประมง และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

shutterstock 1439435474

ในปี 2593 คาดว่าปริมาณการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับความร้อนของอากาศในหมู่ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 52,000 ราย ต่อปีจากการประเมินขององค์การอนามัยโลก ในขณะที่ความตายจากโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ อาทิ มาลาเรียและไข้เด็งกี จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ภาวะโลกร้อนจะส่งผลคุกคามความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคยังคงพึ่งพาพลังงานที่ได้จากฟอสซิล ซึ่งถือเป็นพลังงานไม่ยั่งยืนอยู่ต่อไป แต่ศักยภาพของโรงไฟฟ้า ที่ผลิตไฟฟ้าจากความร้อนก็ลดลง เนื่องจากขาดแคลนน้ำ สำหรับใช้ในการหล่อเย็น เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ก็จะเป็นปัญหาเนื่องจากภาวะไม่แน่นอนของการปล่อยมวลน้ำ และปัจจัยอื่น ๆ

เอดีบี ย้ำว่า เอเชีย-แปซิฟิก ทั้งภูมิภาคมีความเสี่ยงสูงที่สุด ในแง่ที่จะได้รับผลกระทบในระดับหายนะจากภาวะโลกร้อน และเพราะภูมิภาคนี้ เป็นที่อยู่ของประชากรยากจน 2 ใน 3 ของประชากรยากจนทั่วโลก ทำให้ความเสี่ยงที่จะตกลงสู่ความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก บั่นทอนความก้าวหน้าด้านการพัฒนาที่สะสมมาทั้งหมด เพราะมีภาวะโลกร้อนมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ

ทางออกสำหรับเรื่องนี้ คือ การเร่งดำเนินการตามเป้าหมาย การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส ให้ได้เร็วที่สุด พร้อมกับเร่งศึกษาหามาตรการรับมือ และบรรเทาผลกระทบให้ได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน

Avatar photo