Environmental Sustainability

เจาะสุราษฎร์ธานี ‘โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน’ ภายใต้โครงการ ‘ไฟฟ้าสีเขียว’

โครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว” ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดสัมมนา “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” สร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่ ปูทางแนวคิด “ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”

สำนักข่าว The Bangkok Insight หนึ่งในผู้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) พ.ศ. 2563 จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพื่อดำเนินโครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION ภายใต้แนวคิด CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน

โครงการ ไฟฟ้าสีเขียว

เพื่อเป็นการสื่อสารในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ในภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการใช้พลังงานสะอาด สร้างการตระหนักรู้ ในคุณค่าของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนที่ทุกคนเข้าถึงได้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักข่าว The Bangkok Insight กับองค์กรภาคี เพื่อร่วมกันสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายภาคประชาชน

โครงการ ไฟฟ้าสีเขียว ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี จัดสัมมนา “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน”

สำนักข่าว The Bangkok Insight เลือกพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดสัมมนาหัวข้อ โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ศักยภาพในจังหวัดภาคใต้ จัดสัมมนาครั้งที่ 4 ภายใต้โครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION เกี่ยวกับ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE)

ชีวมวลซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนสะอาด และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก และนับเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่จะนำมาใช้แทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป

โครงการ ไฟฟ้าสีเขียว

ภาคใต้ นับเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพมากด้านพลังงานไฟฟ้าชีวมวลภูมิภาคหนึ่ง จากทั้งหมด 14 จังหวัด มีจังหวัดที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วถึง 12 จังหวัด มีเพียงแค่ 2 จังหวัด ที่ยังไม่มีโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดระนอง

จากข้อมูลล่าสุดของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ณ เดือนมิถุนายน 2564 ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ทั้งหมด 225 แห่ง ตั้งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคและเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย และมีกำลังการผลิตรวมที่ขายไฟฟ้าที่ผลิตจากชีวมวลเข้าสู่ระบบ อยู่ที่ 1,746 เมกะวัตต์

ขณะที่ฐานข้อมูลการขอใบอนุญาตของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2564 พบว่าในเขตพื้นที่ภาคใต้ มีจำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ถึง 46 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด และมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม (Total Capacity) อยู่ที่ 378.791 เมกะวัตต์

โดย จังหวัดที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่มากที่สุดในเขตพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีจำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ถึง 10 แห่ง และมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม (Total Capacity) อยู่ที่ 71.016 เมกะวัตต์

ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลรองลงมา ได้แก่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีจำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ถึง 9 แห่ง แต่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม (Total Capacity) อยู่ที่ 97.500 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าจังหวัดสุราษฎ์ธานี  เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีขนาดกำลังการผลิตที่สูงกว่า

การจัดสัมมนาในหัวข้อ โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลหลายแห่งในพื้นที่ และยังเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตทางทางการเกษตร มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของพืชเศรษฐกิจจำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลได้ เช่น เศษไม้ยางพาราสับ ไม้ยางพารา ปีกไม้ยางพารา ทางปาล์ม ใยปาล์ม ทะลายปาล์ม กะลาปาล์ม กาบมะพร้าว และกะลามะพร้าว เป็นต้น

สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่ มีโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ที่ผลิตและขายไฟฟ้าแล้ว (Commercial Operation Date: COD) แล้วถึง 10 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอพระแสง มีโรงไฟฟ้าชีวมวลถึง 3 แห่ง อำเภอท่าฉาง มีโรงไฟฟ้าชีวมวล 5 แห่ง ส่วนอีก 2 อำเภอ คือ อำเภอเวียงสระ และอำเภอพุนพิน มีโรงไฟฟ้าชีวมวลพื้นที่ละ 1 แห่ง โดย มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 71.016 เมกะวัตต์ ผลิตเพื่อขายทั้งเข้าระบบและขายตรง 48.70 เมกะวัตต์ มีส่วนช่วยทำให้ประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ

โครงการ ไฟฟ้าสีเขียว

การจัดสัมมนาครั้งนี้ ต้องการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยในภาพรวม และศักยภาพของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล เป็นการสะท้อนอุปสรรคสำคัญ ในการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ในมุมมองของนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือตัวอย่างโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศที่น่าสนใจ

ขณะเดียวกัน ยังได้รับฟังมุมมองของผู้แทนโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ศักยภาพและจังหวัดใกล้เคียง ถึงกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลของโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการบริหารจัดการ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

การจัดการสิ่งแวดล้อม และสังคมของชุมชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมทั้งการรับฟังมุมมองจากผู้แทนชาวบ้าน หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว ตลอดจนบทบาทของชุมชนต่อการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

อย่างไรก็ดี การจัดสัมมนาครั้งนี้ ยังมีการสื่อสาร และสร้างความรู้ ความเข้าใจ ถึง บทบาทและภารกิจของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า วางมาตรฐานความปลอดภัย ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ

รวมถึงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชาวบ้านที่ดีขึ้น

Palm scaled e1639465133402

สำนักข่าว The Bangkok Insight เชื่อมั่นว่าประโยชน์จากการดำเนินโครงการ ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION นอกจากจะช่วยสร้างความตระหนักในแนวคิด CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน แล้ว ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ด้วยการการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทางปาล์ม กากปาล์ม เศษไม้ยางพารา กาบ/กะลามะพร้าว ไปใช้ให้เกิดประโยชน์

โดยการนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงชนิดอื่นจากต่างประเทศ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ยังเป็นทางเลือกใหม่ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน

เชื่อว่าเมื่อมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นในพื้นที่ จะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงโรงไฟฟ้า เป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) เป็นกองทุนสำหรับชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนอีกทางหนึ่ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกว่ามีศักยภาพพร้อมอยู่แล้วในเรื่องของเชื้อเพลิง ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight