Environmental Sustainability

‘ไทย’ พร้อมพิจารณาร่วม ‘ปฏิญญากลาสโกว์’ ชี้ สอดคล้อง ‘นโยบายป่าไม้แห่งชาติ’

ไทย เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน “วราวุธ” ระบุ สอดคล้องเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ประเทศไทยเห็นด้วยในหลักการลงนามหยุดตัดไม้ภายในปี 2573 เนื่องจาก สอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ 55%  ภายในปี 2580

paa

รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กำกับดูแลงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของไทยก็ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายยุทธศาตร์ มาอย่างต่อเนื่องด้วย

ปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นําด้านป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) มีวัตถุประสงค์ เพื่อเน้นย้ำบทบาทความสําคัญของการจัดการป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน

ปฏิญญาดังกล่าวได้แสดงความมุ่งมั่น ของผู้นําที่จะดําเนินงานร่วมกัน เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียป่าไม้ และความเสื่อมโทรมของที่ดินภายในปี 2573 เปลี่ยนผ่านสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน มีการเติบโตอย่างมีภูมิคุ้มกัน และครอบคลุม สามารถหยุดยั้ง และย้อนกลับของการสูญเสียพื้นที่ป่า และความเสื่อมโทรมของที่ดิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของ ความตกลงปารีส เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ และการกักเก็บ ตลอดจนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคงไว้ซึ่งการบริการของ ระบบนิเวศได้

S 434880518

ทางด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.  อธิบายถึง สาระสําคัญ ของปฏิญญากลาสโกว์  คือ

  • เน้นย้ำบทบาทความสําคัญและการพึ่งพาอาศัยระหว่างป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความสมดุลระหว่าง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ และการกักเก็บ ตลอดจนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาไว้ซึ่งการบริการของระบบนิเวศ
  • เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส (UNFCCC and the Paris Agreement) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อริเริ่มอื่น ที่เกี่ยวข้อง
  • เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน เพื่อการอนุรักษ์ ปกป้อง จัดการและฟื้นฟูป่าไม้ และระบบนิเวศบนบกอื่น ๆ อย่างยั่งยืน
  • ตระหนักว่าการใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องอาศัยการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การเงินและการลงทุน การสนับสนุนผู้ค้ารายย่อย ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาป่าไม้ในการดํารงชีพและมีบทบาทสําคัญในการปกป้องดูแลผืนป่าเหล่านั้น
  • แสดงถึงความก้าวหน้าในการดําเนินงานที่ผ่านมาและโอกาสในอนาคต
  • แสดงความมุ่งมั่นที่จะทํางานร่วมกันเพื่อหยุดยั้ง และฟื้นคืนการสูญเสียป่าไม้ และความเสื่อมโทรม ของที่ดินภายในปี 2573 เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างครอบคลุม

ปฏิญญาสำคัญ

ขณะที่ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงขั้นตอน การเข้าร่วมปฏิญญาในส่วนของประเทศไทย จะต้องเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน

จากนั้น สผ. ในฐานะ ฝ่ายเลขานุการภายใต้อนุสัญญาจะประสานแจ้งต่อ สหราชอาณาจักร ในการเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ ในฐานะประเทศเจ้าภาพอย่างเป็นทางการต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo