Environmental Sustainability

ปัญหาและอุปสรรคของโรงไฟฟ้าชีวมวล

“โรงไฟฟ้าชีวมวล” เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าที่ภาครัฐมีการส่งเสริมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า แม้ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประโยชน์ทั้งกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน ชุมชนที่จะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ และมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับท้องถิ่นแล้ว

แต่ในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มักประสบปัญหาในการดำเนินงานหลายด้าน ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย ปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล มีการกล่าวถึงกันหลายด้าน แต่ที่เป็นงานวิจัยที่ทำให้เข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับมีไม่มากนัก

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล

ข้อมูลงานวิจัยของ นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 (หลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 60) พ.ศ. 2560–2561 โดย นายหร่อหยา จันทรัตนา ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน

ได้ทำการศึกษาแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองความ ต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมโดยใช้โรงไฟฟ้าชีวมวล

การวิจัยได้ศึกษา การดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและปัญหาอุปสรรค ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (เมื่อ พ.ศ. 2555) ได้ทำการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการมีส่วนร่วมรับรู้ ของภาคประชาชนต่อโครงการพลังงานชีวมวล

เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ชุมชน และพัฒนาต้นแบบของการมีส่วนร่วมของประชาชน ในพื้นที่พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า พลังงานชีวมวล สร้างความรู้ความเข้าใจ และลดกระแสการต่อต้านการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล

เริ่มการสำรวจข้อมูลความสัมพันธ์ชุมชน ผ่านการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาแนวทางการมีส่วนร่วมรับรู้ ของภาคประชาชนต่อโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยคัดเลือกโรงไฟฟ้าชีวมวล จาก 76 แห่งให้เหลือตัวแทน โรงไฟฟ้าชีวมวล ระดับภาค 4 แห่ง ได้แก่

1. โรงไฟฟ้า บริษัท น้ำตาลไทย เอกลักษณ์ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัด อุตรดิตถ์

2. โรงไฟฟ้าชีวมวลร้อยเอ็ดกรีน บ้านหนองนาสร้าง หมู่ที่ 10 ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

3. โรงไฟฟ้าชีวมวล เดชา ไบโอ กรีน บ้านลาดน้ำขาว หมู่ที่ 3 ตำบลสาล อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

4. โรงไฟฟ้าชีวมวล ก้าวหน้า เพาเวอร์ซัพพลาย บ้านแคน หมู่ที่ 8 ตำบลสำโรง อำเภอ สำโรง จังหวัดอุบลราชธานี

โรงไฟฟ้าชีวมวล

สรุปปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาและส่งเสริมชีวมวลของประเทศไทย มีประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

1. การประเมินปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลสุทธิที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทำได้ยาก และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

2. สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวลที่รวบรวมได้ยาก โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีน้ำหนักเบา ได้แก่ ฟางข้าว ใบอ้อย ยอดอ้อย ทางปาล์มฯ เหล่านี้ ยังขาดการพัฒนากระบวนการ และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการรวบรวมเพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงาน

3. ผู้ลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเอง และมักประสบปัญหาที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติวงเงินเนื่องจากโครงการมีความเสี่ยงสูง

4. การต่อต้านจากชุมชน เนื่องจากภาพลักษณ์การผลิตไฟฟ้าที่หลายชุมชนยังมีความเชื่อว่า เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมลภาวะ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนในอดีต รวมถึงขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลของผู้ประกอบการ ทำให้ชุมชนไม่ยอมรับ และเกิดการต่อต้าน

ปัญหาจากการต่อต้านของชุมชน มีสาเหตุมาจากความไม่มั่นใจ ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน จากการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับเป็นจำนวนมาก เช่น

การขยายถนน หรือเส้นทางสัญจร เพื่อรองรับการขนส่งเชื้อเพลิงชีวมวล การสร้างระบบสายส่งไฟฟ้า การใช้พื้นที่จำนวนมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า หรือแม้แต่การเพิ่มจำนวนของประชากรในพื้นที่ อันเนื่องมาจากความต้องการใช้กำลังแรงงานในการดำเนินธุรกิจ

ในขณะที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแต่เดิมเป็นชุมชนขนาดเล็ก ประชากรมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือรับจ้างเป็นหลัก ดังนั้นการริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ จึงเป็นสิ่งที่ชุมชนเกิดความหวั่นเกรงต่อวิถีชีวิตที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต จนทำให้โรงไฟฟ้าบางแห่งต้องหยุดดำเนินการ

ประเด็นการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล นับเป็นปัญหาสำคัญโดย ศูนย์ระดับภูมิภาคทางวิศวกรรมระบบการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอรายงานวิจัย การพัฒนาระบบติดตามผลข้อมูลการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่ามี 3 ประเด็นหลัก คือ

1. ปัญหาราคาเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มขึ้นอย่างมาก

2. ปัญหาปริมาณและคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวล เนื่องจากเชื้อเพลิงชีวมวลมาจากพืช จึงทำให้เกิดปัญหาฤดูกาลของเชื้อเพลิงชีวมวล นอกจากนี้เชื้อเพลิงชีวมวลถูกมองว่าเป็นของเหลือ จึงไม่เคยมีการควบคุมคุณภาพ

3. ปัญหาความรู้เกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (เทคโนโลยีชีวมวล) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเป็นพลังงานมากขึ้น เพราะคาดว่าจะทำให้ลดต้นทุน แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของการนำไปใช้ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ยังมี การวิจัยเชิงคุณภาพของวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ศึกษา โอกาสและอุปสรรคในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชน โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มตัวอย่าง ที่สัมพันธ์กับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวนทั้งสิ้น 30 ราย ในสาขาต่าง ๆ ได้แก่

ผู้ที่ทำงานในกระทรวงพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงาน นักสิ่งแวดล้อม นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ประกอบการ ผู้จัดการโรงงาน ตัวแทนสถาบันการเงิน ตัวแทนสถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน และตัวแทนองค์กรไม่มุ่งหวังกำไร (NGO) ซึ่งทำการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง

โรงไฟฟ้าชีวมวล

จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์เนื้อหา เก็บข้อมูลระหว่าง เดือนเมษายน-มิถุนายน 2558 พบว่า ด้าน ศักยภาพชีวมวลชุมชน ส่วนใหญ่มองว่า เมื่อมีการเดินระบบของโรงไฟฟ้าชีวมวลระยะเวลาไม่นาน ก็จะประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบ เนื่องจากเชื้อเพลิงชีวมวลที่กระจัดกระจาย และการวางแผนจัดหาและเก็บรวบรวม ยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอ

นอกจากนี้แล้ว โรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง ยังไม่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเพียงชนิดเดียว เนื่องจากปริมาณที่จัดหาได้ ในขณะที่ทางผู้จัดการโรงงานและผู้ประกอบการมองว่า สามารถที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ สำหรับการดำเนินการของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตที่มากกว่า 1 เมกกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์

เพื่อ หลีกเลี่ยงการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่ใช้นั้น เป็นการเผาเชื้อเพลิงชีวมวลโดยตรง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องฝุ่นละออง และการต่อต้านจากชุมชน

การขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่มักจะ ดำเนินการอย่างรวบรัด โดยขาดความเห็นชอบจากประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้เกิดปัญหาการต่อต้านตามมา เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ในขณะที่มีการดำเนินการโรงไฟฟ้าชีวมวลยัง ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางดินและน้ำ ในเชิงของการเสื่อมโทรมของพื้นที่ ความหลากหลายของพืชและสัตว์ การแย่งชิงทรัพยากรน้ำในพื้นที่การเกษตร

ตลอดจนการปลดปล่อยน้ำเสีย ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากฝุ่นละอองและขี้เถ้าจากการเผาไหม้ ปัญหาด้านสาธารณูปโภค คือ การชำรุดเสียหายของถนนซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงเชื้อเพลิงชีวมวลเข้าสู่โรงไฟฟ้า

รวมถึงงบประมาณในการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีในการกำจัดฝุ่นละอองที่มีประสิทธิภาพ ยังมีราคาที่สูงมาก เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีพื้นฐาน อีกทั้งแรงจูงใจจากทางภาครัฐ ในการดำเนินนโยบายสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลยังไม่ดีเพียงพอ

นอกจากนี้อุปสรรคที่สำคัญ คือ แรงจูงใจในการลงทุนและพัฒนาพลังงานชีวมวลลดลง เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยจากพลังงานชีวมวล

ข้อมูลจากผลการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย ที่ผ่านมา แม้ว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ก็พบว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญหลายด้านแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในแต่ละพื้นที่

ดังนั้นมีความจำเป็นที่ ฝ่ายกำหนดนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวล และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล ตลอดจนชุมชนที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล จำเป็นต้องรับรู้ฐานข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย และการวางแผนบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้าร่วมกัน เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น จากการต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลในอนาคต

โรงไฟฟ้าชีวมวล

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้ชุมชน จำเป็นต้องมีกลไกเข้ามาดูแล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยโรงไฟฟ้าชีวมวล จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ

การสร้างความไว้วางใจกับชุมชน จะทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะทำให้เป้าหมายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าชีวมวลเป็นไปตาม แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) โดยมี เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 5,790 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2580

จากแผน AEDP 2015 พบว่ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ที่มีการทำสัญญากับภาครัฐแล้ว อยู่ที่ประมาณ 2,290 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าจากนี้ไปยัง ประเทศไทยยังมีโอกาสก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นได้อีก ประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2580

การสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน ต่อการดำเนินการโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็จะเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของชุมชน และช่วยให้ประเทศลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เพื่อมาผลิตกระแสไฟฟ้า และยังเป็นการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ผลิตได้เองจากแหล่งธรรมชาติในประเทศ ถือเป็นการส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight