Environmental Sustainability

ประชาชนและชุมชนได้อะไรจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

“โรงไฟฟ้าชีวมวล” เป็นทางเลือกหนึ่งของการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย ซึ่งมีผลดีทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ จึงมีความจำเป็นที่่ “ประชาชน” และ “ชุมชน” ต้องศึกษาถึงประโยชน์ของการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทนี้ ให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ในปริมาณที่มากขึ้นในอนาคต

เมื่อพูดถึง ชีวมวล ก็คงมีทั้งคนที่คุ้นหู และที่รู้จักเป็นอย่างดี แต่ก็อาจจะมีกลุ่มคนที่ยังไม่เข้าใจความหมายที่ชัดเจน หากจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ชีวมวล ก็หมายถึง วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ได้มาจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือ อาจเป็นเศษสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้จากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งกากหรือเศษสิ่งของที่ส่วนใหญ่มักนำมาใช้ก็เป็นจำพวก แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย มูลสัตว์ชนิดต่าง ๆ กะลามะพร้าว กะลาปาล์ม เป็นต้น

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ส่วน โรงไฟฟ้าชีวมวล ก็คือ โรงไฟฟ้าประเภทหนึ่งที่ทำการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือผลิตไอน้ำจากวัตถุดิบจำพวกชีวมวล โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเหล่านี้ สามารถเป็นได้ทั้งวัตถุดิบประเภทเดียวกัน หรือว่าหลาย ๆ อย่างมาผสมกันก็ได้ เช่น โรงสีข้าวขนาดใหญ่จะใช้แกลบเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้า โรงงานน้ำตาลจะใช้ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่มีผลผลิตทางการเกษตรส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แน่นอนว่าย่อมมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ จึงเป็นที่มาของนโยบายส่งเสริมการลงทุน จัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะขยายผลต่อเนื่องไปในอนาคต

ดังนั้นการที่โรงไฟฟ้าชีวมวล จะมีการจัดตั้งขึ้นในแต่ละพื้นที่ในอนาคต จึงมีความสำคัญอย่างมากที่ประชาชนและชุมชนจะต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะผลประโยชน์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าที่จะได้รับ เพื่อลดกระแสต่อต้านการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลในอนาคต

โรงไฟฟ้าชีวมวล

ชุมชนได้อะไรจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

ชุมชน ได้อะไรจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ชุมชน หมายถึง ชุมชนในพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “ผู้เสียสละ” ยินยอมให้โรงไฟฟ้าไปจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ ดังนั้นตามกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า หรือ ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องส่งเงินเข้า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล จะถูกจัดเก็บในอัตราเดียวกับพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ คือ การจัดเก็บในอัตรา 1 สตางค์ ต่อหน่วย

เงินที่ได้จาก ผู้ได้รับใบอนุญาต ทาง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็น ผู้ดูแล และ กำหนดนโยบาย เช่น นำไปใช้ในการบริหารจัดการ และใช้เพื่อ อุดหนุน ให้กองทุนใน พื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งได้รับเงินน้อยไม่เพียงพอต่อการพัฒนา และยังเป็นเงินสำรองเพื่อใช้ช่วยเหลือ “ชุมชน” ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว

หากเกิดในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงนำไปใช้ใน กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ อย่างเต็มรูปแบบ เรียกได้ว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ ที่จัดเก็บจากโรงไฟฟ้าชีวมวล จะถูกนำไปใช้ประโยชน์สำหรับชุมชนอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสอดรับกับความต้องการของชุมชนในแต่ละพื้นที่

อีกทั้งเกษตรกรในพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้า ที่มีเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรก็ยังสามารถนำมาส่งขายป้อนให้กับโรงไฟฟ้าได้ภายใต้การจัดทำ เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ตามที่ตกลงร่วมกันไว้ ซึ่งจะเป็นการการันตีทั้งปริมาณ และราคารับซื้อ ซึ่งเป็นราคาที่เห็นชอบร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย เรียกได้ว่า ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน หากยึดมั่นตามหลักการในสัญญาระหว่างกัน และยังเป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่ หันมาปรับเปลี่ยนการปลูกพืชแบบดั้งเดิมแล้วขายได้ราคาต่ำ ให้หันมาปลูกพืชพลังงานที่มีความมั่นคงในการรับซื้อภายใต้ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ชาวบ้าน หรือ ชุมชนในพื้นที่ ก็มีโอกาสเข้าถึงงานได้มากขึ้น ลดปัญหาแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองใหม่ เพราะเมื่อมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขึ้น ก็มักจะส่งเสริมหรือเปิดโอกาสพิจารณารับคนในพื้นที่ เข้าเป็นพนักงานเป็นอันดับต้น ๆ ก็จะเป็นการสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น

สำหรับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือปลายสายส่งก็มีโอกาสเข้าถึงไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่ จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนักและมักจะกระจาย จัดตั้งในพื้นที่ที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ดังนั้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชุมชน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีพลังงานใช้ เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

โรงไฟฟ้าชีวมวล

โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กับประโยชน์ที่จับต้องได้

แม้รัฐบาลสนับสนุนโรงไฟฟ้าชีวมวล ตามนโยบาย แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ซึ่งมีการปรับปรุงมาหลายครั้ง แต่เป็นการยื่นขอดำเนินการ ของผู้ประกอบการในการเลือกพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งบางแห่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อใช้ในโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น โรงงานน้ำตาล แต่มีจำนวนมากที่ตั้งขึ้นชุมชน ที่มีเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก

หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้โรงไฟฟ้าชีวมวลดำเนินการตามมาตรฐาน โดยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องการจัดสรรประโยชน์ จนล่าสุดรัฐบาลได้ผลักดันนโยบายสำคัญ คือ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น

หลักเกณฑ์ในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน คือ พื้นที่จะต้องมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน มีระบบสายส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้ารองรับ โดยการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นความร่วมมือของเอกชนและชุมชน ร่วมจัดตั้ง ทั้งนี้อยู่บนหลักการราคารับซื้อ ต้องกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด โดยใช้วิธีประมูลแข่งขันและยังมีการกำหนดผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สัดส่วนการถือหุ้นบุริมสิทธิ 10% หรือรายได้จากการขายพืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิง

ผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งตามโครงการนำร่องครั้งนี้ จะมีการรับซื้อไฟฟ้าทั้งสิ้น 75 เมกะวัตต์ มีดังนี้

1. ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ จำหน่ายไฟฟ้าอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า

2. หุ้นบุริมสิทธิจำนวนไม่น้อยกว่า 10%

3. มีรายได้จากการจำหน่ายพืชพลังงาน โดยโรงไฟฟ้าจะประกันราคารับซื้อในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา

4. ผลประโยชน์อื่น ๆ สำหรับชุมชนรอบโรงฟ้า เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา จาก 2 กองทุน
4.1 กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจ่ายเงินเข้ากองทุน 1 สตางค์ ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้า
4.2 กองทุนโรงไฟฟ้าชุมชน “เฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ 25 สตางค์ ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้า

5. มีรายได้จากการให้เช่าที่ดินสำหรับปลูกพืชพลังงาน

S10 06 03 e1632478082118

เดินหน้าสู่เป้าหมายตาม แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (AEDP 2018)

นอกจากโรงไฟฟ้าชีวมวลในโครงการนี้ จำนวน 75 เมกะวัตต์ จะส่งผลประโยชน์ต่อวิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน รวมถึงชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแล้ว ยังส่งผลดีต่อประเทศในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนตาม แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (AEDP 2018) ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพเชื้อเพลิงในพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้า และสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่

เมื่อประเทศไทยมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้น ตามนโยบายส่งเสริมของภาครัฐที่ประกาศรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบตาม AEDP 2018 ที่กำหนดเป้าหมายกำลังผลิตใหม่สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล เพิ่มขึ้น 3,500 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2580 หรือมี ปริมาณการผลิตไฟฟ้ารวมจากชีวมวล อยู่ที่ 5,790 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นสุดปลายแผนในพ.ศ. 2580

เท่ากับว่าปริมาณไฟฟ้าจากชีวมวล ที่ภาครัฐรับซื้อเข้าระบบดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ที่มีความผันผวน หรือมีความไม่แน่นอนด้านราคามาผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงจากต้นทุนผลิตไฟฟ้าได้ หรือไม่ต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าในอัตราที่แพงเกินไป

เนื่องจากเชื้อเพลิงชีวมวลที่ได้มาจะมีราคาค่อนข้างถูก เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้เป็นวัตถุดิบจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ

อีกทั้งยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ที่ปลูกพืชพลังงานให้มีรายได้ที่มั่นคง มีส่วนช่วยประเทศลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงยังเอาเศษขยะที่ว่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำกลับมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกใบนี้ได้คุ้มค่าอย่างมาก

ประชาชนที่มีกำลังทรัพย์มากพอ ยังมีโอกาสเข้าถึงการจับจองเป็นเจ้าของธุรกิจไฟฟ้าได้ด้วย และหากเทียบกับการลงทุนก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าประเภทอื่น การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีต้นทุนในการก่อสร้างที่ต่ำกว่า

การที่ประชาชนทั่วไปให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็เป็นส่วนหนึ่งของการได้ร่วมกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากว่าสามารถใช้ผลผลิตส่วนที่เหลือจากการเกษตร มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า และยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นมากกว่า 245 โครงการ กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกเหนือจากการใช้พลังงานหลักอย่าง น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ และยังส่งผลให้ประเทศไทย เสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้มีใช้อย่างเพียงพอ ขณะที่ประชาชน และชุมชน ต่างก็ได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วยกันทั้งสิ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight