Environmental Sustainability

ประเทศไทยได้อะไรจากโรงไฟฟ้าชุมชน

กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ที่ประกาศโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดให้ประเทศไทยมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนในระยะยาว มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 6 ด้านหลัก ได้แก่ ความมั่นคง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความเสมอภาคทางสังคม การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการปรับสมดุลของสภาพแวดล้อม และการพัฒนาภาครัฐ

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน สอดรับต่อกรอบยุทธศาสตร์ 

นายกรัฐมนตรี ยังได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ที่สอดรับต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้แก่

1. ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า
2. การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
3. กระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม
4. สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่
5. เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่

ขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในปี 2562 ได้มีแนวนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal) พลังงานต้องมีต้นทุนราคาที่เป็นธรรมสามารถยอมรับได้ พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างกลไกให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้านพลังงาน สร้างงานและสร้างรายได้ให้ชุมชนในระดับฐานรากของประเทศ (Energy for All) โดยการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้า มุ่งเน้นให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าในชุมชน ตามศักยภาพเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ และนำไปใช้ในพื้นที่เป็นหลัก ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง และราคาถูก

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนหลักการและเหตุผล สำคัญ 6 ข้อ ของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือ “โรงไฟฟ้าชุมชน” เป็นหนึ่งในนโยบาย Energy for all ที่กระทรวงพลังงาน ให้การส่งเสริมและผลักดันโครงการ จนผ่านการเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ภายใต้หลักการและเหตุผล สำคัญ 6 ข้อ คือ

1. ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้า อย่างยั่งยืน
2. ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า
3. ส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ตามศักยภาพเชื้อเพลิง และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่
4. สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการสร้างระบบสายส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้า
5. ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้ โดยชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุทางการเกษตรและ การจำหน่ายไฟฟ้า
6. สร้างการยอมรับของชุมชนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของประเทศ

หากย้อนดูที่มาจุดเริ่มต้นของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ตามกรอบสำคัญ 6 ข้อ ที่ได้วางไว้โดย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ถือได้ว่าตอบโจทย์ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นับว่าเป็นหนทางสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้นำมารวมกันในกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) รวมถึงบรรจุในนโยบายประเทศไทย 4.0

ความพอประมาณ

ในประเทศไทย ความพอประมาณ เป็นหลักการที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การบริโภคที่น้อยลง และรูปแบบการผลิตที่หลากหลาย การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการจัดการทางทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงบนบก และระบบนิเวศต่าง ๆ

ความสมเหตุสมผล

ความสมเหตุสมผล หมายถึง การพิจารณาอย่างรอบคอบของผลกระทบที่การกระทำ และการตัดสินใจของเราอาจมีต่อทั้งผู้อื่นและโลกรอบตัวเรา การพิจารณาเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความสมเหตุสมผล มีการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติได้มากมาย ในประเด็นระดับโลก เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความเท่าเทียม ความยุติธรรม การพัฒนาแหล่งพลังงานที่สะอาด และการลดมลพิษ

ภูมิคุ้มกัน

ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาด โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

หลักการนี้อาจประยุกต์ใช้กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกือบทั้งหมดรวมทั้งด้านสุขภาพ อาหาร น้ำ และความมั่นคงด้านพลังงาน

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

โดยเฉพาะนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เริ่มจาก การวางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ภาครัฐกำหนดให้ผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชน) ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าสัดส่วน 90% และเปิดโอกาสให้ชุมชน ในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้า ด้วยการถือหุ้นบุริมสิทธิสัดส่วน 10% หรือร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า

โครงการนี้ กำหนดให้ผลิตไฟฟ้าภายใต้ 2 ประเภท เชื้อเพลิงหลัก คือ เชื้อเพลิงชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ถือเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแต่ละประเภทของเชื้อเพลิง ที่หาได้ในแต่ละพื้นที่ ช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ที่มีราคาแพงและผันผวนมาผลิตไฟฟ้า

อีกทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ภายใต้รูปแบบโครงการ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (Very Small Power Plant: VSPP) ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ ต่อโครงการ และก๊าซชีวภาพไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ต่อโครงการ ยังช่วยลดภาระการลงทุนก่อสร้าง ระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนแพง ซึ่งชุมชนเองก็จะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพ และการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน รวมถึงราคาค่าไฟฟ้าที่ขายเข้าสู่ระบบให้กับรัฐ จะไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย เนื่องจากโครงการนี้เป็นลักษณะวิธี การแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งผู้ที่เสนออัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด ก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล หรือ ได้สิทธิดำเนินโครงการ

นอกจากนี้ ชุมชน ยังมีรายได้จากการขายพืชพลังงานให้กับโรงไฟฟ้า เพราะรัฐกำหนดให้ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (Very Small Power Plant: VSPP) ต้องรับซื้อพืชพลังงานปลูกใหม่จากเกษตรกร หรือชุมชน ในสัดส่วน 80% ของกำลังการผลิต และอีก 20% ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถจัดหาเองได้ เท่ากับว่านอกจากชุมชนจะมีรายได้จากการร่วมถือหุ้นในโรงไฟฟ้าแล้ว ยังจะมีรายได้เพิ่มจากขายพืชพลังงาน ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าตลอดอายุโครงการ เป็นระยะเวลา 20 ปี ในราคาที่เป็นธรรม

รวมทั้งโครงการยังกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้า จะต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ตามที่ตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการจัดสรรงบประมาณ ไว้สนับสนุนกิจกรรม และดูแลชุมชน ที่เน้นประโยชน์การพัฒนาทางด้านสาธารณะสุข สาธารณูปโภค และการศึกษา เป็นต้น

ผลประโยชน์จากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าว ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และเกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน อีกทั้ง “ชุมชน” สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ สร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน

เมื่อ “ชุมชน” มีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตก็ย่อมดีขึ้นตามไปด้วย นับเป็นการช่วยยกระดับเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น และยังช่วยลดการใช้งบประมาณของภาครัฐ ถือเป็นการสร้างรากฐานความเข้มแข็ง และการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้กับชุมชน ได้มีความมั่นคงด้านไฟฟ้า มีรายได้เพิ่มจากขายไฟฟ้า และขายพืชพลังงาน ซึ่งเป็นไปตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือ การนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น คือ พืชพลังงาน ทั้งการปลูกใหม่ และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นำกลับมาใช้หมุนเวียนให้เกิดมูลค่าเพิ่มในอนาคต

หากย้อนดูจากหลักการและจุดเริ่มต้น “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ ชุมชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสุดท้ายแล้วประโยชน์ดังกล่าวจะสะท้อนกลับมายังการพัฒนาประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมในระยะยาว เรียกได้ว่าตอบโจทย์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight