Environmental Sustainability

โอกาสพืชพลังงานป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน

“พืชพลังงาน” คำนี้ค่อนข้างคุ้นหูสำหรับคนในแวดวงพลังงาน แต่สำหรับประชาชนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจความหมายมากนัก ซึ่ง พืชพลังงาน หมายถึง พืชที่ถูกปลูกเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าโดยการเผาไหม้ หรือ เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญ กับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้า และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ประกอบกับประเทศไทยมีฐานเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีผลผลิตทางการเกษตรในปริมาณมาก และยังส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ

พืชพลังงาน

โดยเฉพาะ 5 พืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ซึ่งเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตเหล่านี้ จะมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เดิมถูกทิ้งร้าง หรือถูกทำลายทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

ภาครัฐจึงมีนโยบายให้นำเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ มาสร้างประโยชน์โดยการนำมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า จากการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพ จนทำให้เกิดการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในหลายพื้นที่ที่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งนอกจากประชาชนในพื้นที่โรงไฟฟ้าจะมีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียงแล้ว

เกษตรกรในพื้นที่ยังจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้กับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า นับเป็นอีกแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งลดของเสีย และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

แต่การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในส่วนของของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และก๊าซชีวภาพในประเทศดูเหมือนจะหยุดชะงักลง หลังจากภาครัฐได้เปิดรับซื้อไฟฟ้า “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560” ที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า และกำหนดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม 2560 ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ ในรูปแบบเชื้อเพลิงผสมผสาน

โครงการนี้ทำให้มีผู้ผิดหวัง หรือ พลาดสิทธิการเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก จากยอดผู้ยื่นข้อเสนอรวม 85 โครงการ ที่มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 1,644 เมกะวัตต์ สูงกว่าเป้าหมายการรับซื้อกว่า 5 เท่า ส่งผลให้ผู้ที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พลาดโอกาสสร้างรายได้จากการขายพืชพลังงาน เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า

กระทั่ง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบ หรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าฯ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง)” กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์

โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นพืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย อัตราส่วนไม่เกิน 25% โดยแบ่งเป็น เชื้อเพลิงชีวมวล มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และก๊าซชีวภาพ มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ถือเป็นการจุดชนวนความหวังให้กับเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชพลังงานอีกครั้ง

พืชพลังงาน

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” นับว่าสร้างโอกาสให้กับพืชพลังงาน เนื่องจากภาครัฐมีหลักเกณฑ์ว่า พืชพลังงานที่จะนำมาใช้ต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือ เกษตรกรบริเวณใกล้เคียง อย่างน้อย 80% และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าสามารถจัดหาเองได้ไม่เกิน 20%

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ต้องเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ภายในชุมชน โดยต้องมีรายละเอียดถึงแปลงที่ดินที่นำมาใช้เพาะปลูก อีกทั้งต้องมีแผนที่ชัดเจนในการจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงาน ให้เหมาะสม และเพียงต่อความต้องการ

ดังนั้นในส่วนของการจัดหาจากวิสาหกิจชุมชนฯ จะต้องเป็นพืชพลังงานที่ปลูกใหม่ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการจัดหาเอง 20% จะเป็นลักษณะพืชที่ปลูกใหม่ หรือ เศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตร ที่เกษตรกรเป็นผู้ปลูกก็ได้เช่นกัน

จะเห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน มุ่งเน้นการใช้ พืชพลังงาน ที่เป็นพืชปลูกใหม่ เพื่อลดปัญหาการแย่งชิงพืช ที่ใช้เพื่อการบริโภคเป็นอาหารของคนและสัตว์ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรด้วยการปลูกพืชใหม่

ดังนั้น พืชพลังงาน ที่เหมาะสมกับโครงการนี้ ควรเป็นพืชโตเร็ว ค่าความร้อนสูง ความชื้นต่ำ เก็บเกี่ยวง่าย ซึ่งพืชที่ได้รับการกล่าวขาน และเป็นตัวเลือก ได้แก่ พืชประเภท กระถิน ยูคาลิปตัส และไผ่ เป็นต้น

จากงานวิจัย “ความสำเร็จจากงานวิจัยด้านไม้โตเร็วและพืชพลังงาน” โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูกไม้โตเร็วเป็นพืชพลังงาน

พืชพลังงานศักยภาพไม้โตเร็วที่สามารถใช้เป็นพืชพลังงานในประเทศไทย

จากการเก็บข้อมูลพบว่า ไม้โตเร็วที่นิยมปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นไม้ต่างถิ่น ได้แก่ กระถินยักษ์ กระถินอาคาเซีย ยูคาลิปตัส สนประดิพัทธ์ สนทะเล เสม็ดขาว และไผ่

กระถินณรงค์ (Acacia auriculiformis) ระยะปลูก 1.5×2 หรือ 2×2 หรือ 2×3 หรือ 4×4 เมตร อายุการตัดฟัน 4-5 ปี ต้นทุนการปลูก 6,700 บาท ต่อไร่ (ไม่รวมค่าตัดฟัน) รายได้สุทธิในการตัดฟันครั้งแรก 2,000-3,000 บาท ต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ต่อปี 3 ตัน (น้ำหนักสด) ค่าความร้อน 4,700-4,800 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม

กระถินเทพา (Acacia mangium) ระยะปลูก 2×2 หรือ 2×3 หรือ 3×3 เมตร อายุการตัดฟัน 6-7 ปี ไม่ไว้หน่อ ต้นทุนการปลูก 3,000-4,500 บาท ต่อไร่ ไม่รวมค่าตัดฟัน รายได้สุทธิในการตัดฟันครั้งแรก 4,000-4,500 บาท ต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ย ต่อไร่ ต่อปี 11.2 ตัน (น้ำหนักสด) ระยะเวลาการปลูก 5 ปี ค่าความร้อน 4,700-4,900 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม

กระถินยักษ์ (Leucaena leucocephala, Tarramba) ระยะปลูก 1×1 หรือ 1.5×15 หรือ 2×1 เมตร อายุการตัดฟัน ทุก 1-2 ปี แตกหน่อ ต้นทุนการปลูก 3,000-4,500 บาท ต่อไร่ (ไม่รวมค่าตัดฟัน) รายได้สุทธิ การตัดฟันครั้งแรก 4,000-5,000 บาท ต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ย ต่อไร่ ต่อปี 2 ตัน (น้ำหนักแห้ง) ค่าความร้อน 4,200-4,600 กิโลแคลอรี ต่อกิโลกรัม

สนประดิพัทธ์ (Casuarina junghuhniana) ระยะปลูก 2×2 หรือ 2×3 เมตร อายุการตัดฟัน 5-7 ปี ต้นทุนการปลูก 3,000-8,000 บาท ต่อไร่ (ไม่รวมค่าตัดฟัน) ไม่มีข้อมูลรายได้สุทธิในการตัดฟันครั้งแรก ส่วนผลผลิตเฉลี่ย ต่อไร่ ต่อปี 3-5 ตัน (น้ำหนักสด) และมีค่าความร้อน 4,500-4,700 กิโลแคลอรี ต่อกิโลกรัม

สนทะเล (Casuarina equisetifolia) ระยะปลูก 4×4 เมตร อายุการตัดฟัน 5-10 ปี ไม่มีข้อมูลต้นทุนการปลูก รายได้สุทธิหลังตัดฟันครั้งแรก และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่อปี ส่วนค่าความร้อนอยู่ที่ 4,900-5,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม

ยูคาลิปตัส (E. camaldulensis, E. urophylla, E. pellita) ระยะปลูก 2×1 หรือ 2×2 หรือ 2×3 หรือ 2×4 เมตร อายุการตัดฟัน ทุก 3-5 ปี แตกหน่อ 2-3 รอบ ต้นทุนการปลูก 6,000-7,000 บาท ต่อไร่ รายได้สุทธิ การตัดฟันครั้งแรก 2,000-3,000 บาท ต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่อปี 3-5 ตัน (น้ำหนักสด) และมีค่าความร้อน 4,200-4,500 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม

เสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi) ระยะปลูก 3×4 หรือ 4×4 เมตร อายุการตัดฟัน 3-6 ปี ต้นทุนการปลูก 15,000 บาท ต่อไร่ 6 ปี รายได้สุทธิ การตัดฟันครั้งแรก 10,000-15,000 บาท ต่อไร่ 6 ปี ไม่มีตัวเลขผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่อปี มีค่าความร้อน 4,400-4,500 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม

ไผ่ (Bambusa, Dendrocalamus) ระยะปลูก 4×4 เมตร อายุการตัดฟัน ตัดครั้งแรก 3 ปี จากนั้นตัดทุกปี ต้นทุนการปลูก 6,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี รายได้สุทธิ การตัดฟันครั้งแรก 21,000 บาท ต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่อปี 7-11 ตัน (3-5 ปี) ค่าความร้อน 4,500-4,600 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม

หญ้าเนเปียร์ (Pennisetum) มีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เหมาะสมนำมาผลิตไฟฟ้า คือ สายพันธุ์ปากช่อง 1 ซึ่งปลูกได้ทุกภาคของประเทศ สามารถเก็บเกี่ยวได้นานถึง 6-7 ปี และปีละ 5-6 ครั้ง ต้นทุนการปลูก 6,500 บาท ต่อไร่ มีรายได้ปีละ 16,000 บาท ต่อไร่ มีค่าความร้อน 3,350-4,300 กิโลแคลอรี ต่อกิโลกรัม

พืชพลังงาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่ขานรับต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยการประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน ให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล ครั้งที่ 2/2564 ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ (ไม้โตเร็ว)

เพื่อเป็นวัตถุดิบ หรือ เชื้อเพลิง สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งยึดหลักการตลาดนำการผลิต โดยนำความต้องการวัตถุดิบหรือ เชื้อเพลิง สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ของ กระทรวงพลังงาน มาใช้ คาดการณ์ปริมาณความต้องการ และพื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว

เบื้องต้นพบว่า กลุ่มพื้นที่เป้าหมายที่มีโอกาสในการส่งเสริม ให้มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้โตเร็ว ได้แก่ พื้นที่นาดอนนอกเขตชลประทาน จำนวน 18.53 ล้านไร่ และพื้นที่ตามนโยบายลดพื้นที่ปลูกของรัฐบาล เช่น การปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) จำนวน 6.11 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกพืชชนิดเดิมและให้ผลตอบแทนต่ำ

ทั้งนี้คณะทำงานจัดทำ แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ (ไม้โตเร็ว) ได้เสนอผลการศึกษาไม้โตเร็ว จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ กระถินณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ ยูคาลิปตัส ไผ่ และหญ้าเนเปียร์ พบว่า ไม้เศรษฐกิจโตเร็วหลายชนิดเหมาะสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยเฉพาะกระถินยักษ์ที่มีจุดเด่นสำคัญ คือ สามารถปลูกและเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สามารถปลูกและเริ่มตัดใช้ประโยชน์ได้ในปีที่ 3

และเริ่มแตกหน่อ พร้อมตัดใหม่ได้ทุก ๆ 2 ปี โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ จะมีความต้องการไม้สับประมาณปีละ 15,000 ตัน จึงต้องใช้พื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว (กระถินยักษ์) ปีละ 1,364 ไร่ ส่งผลให้มีพื้นที่ส่งเสริม รวม 3 ปี ทั้งสิ้น 4,091 ไร่ ต่อโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 เมกะวัตต์

ดังนั้น โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิต 75 เมกะวัตต์ จะมีความต้องการไม้สับปีละ 1,125,000 ตัน ใช้พื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว (กระถินยักษ์) ปีละ 102,300 ไร่ พื้นที่รวม 3 ปี จะต้องใช้พื้นที่ทั้งสิ้น 306,900 ไร่

นอกจากนี้ พืชพลังงาน ที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ก็สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้เช่นกัน ได้แก่ กากอ้อย แกลบ ทะลายปาล์ม ไม้สับ เป็นต้น

เกษตรกร หรือ วิสาหกิจชุมชนฯ ที่เข้ารวมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะเลือกปลูกพืชชนิดใดเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า ควรจะต้องคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิดหรือไม่ ซึ่งหากผ่านการศึกษาและวิจัยอย่างรอบครอบแล้ว ก็เชื่อว่าการปลูกพืชพลังงาน ป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน จะเป็นแนวทางเสริมรายได้อย่างยั่งยืน

เพราะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจะต้องลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อสร้างหลักประกันและผลประโยชน์ของเกษตรกรผ่านวิสาหกิจชุมชน ไปตลอด 20 ปี ตามอายุโรงไฟฟ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight