Environmental Sustainability

ทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ‘ชุมชน’

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “โรงไฟฟ้าชุมชน” เป็นโครงการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนและชุมชนเป็นอย่างมาก เห็นได้จากยอดการยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้าโครงการนี้ ระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2564 มีจำนวนมากกว่า 200 ราย เกินกว่าเป้าหมายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดไว้อยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ เท่านั้น

กระแสตอบรับต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าว ยังไม่ใช่เป้าหมายของภาครัฐ เพราะหัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือ ทำอย่างไรให้ “ชุมชน” ได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าอย่างแท้จริง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ช่วยเพิ่มรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนในระดับฐานราก

โรงไฟฟ้าชุมชนหลักเกณฑ์และเงื่อนไข “โรงไฟฟ้าชุมชน” เอื้อประโยชน์ต่อชุมชน

ด้วยเหตุนี้ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ภาครัฐจึงได้วางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ ที่เอื้อประโยชน์ตอบแทนให้กับชุมชน มากกว่าโครงการผลิตไฟฟ้าในอดีตที่ผ่านมา

ดังนั้น หาก “ชุมชน” หรือ “วิสาหกิจชุมชน” และ “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน” ที่มาเข้าร่วมในโครงการนี้จะได้รับประโยชน์สูงสุด จำเป็นต้องทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียด กติกาต่าง ๆ ให้ชัดเจน และดำเนินการอย่างรัดกุม ครบถ้วน ตามขั้นตอนตามที่ภาครัฐกำหนดไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และป้องกันการถูกเอาเปรียบจากกรณีต่าง ๆ

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข “โรงไฟฟ้าชุมชน” ที่ “ชุมชน” ควรจะต้องรับรู้ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า มีดังนี้

“ชุมชน” ที่มีสิทธิเข้าร่วมเป็น “เจ้าของโรงไฟฟ้า” จะต้องเป็น “วิสาหกิจชุมชน” หรือ “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน” ที่ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งหมายความว่า ก่อนการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ต้องขึ้นทะเบียนตามคู่มือการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ของ กรมส่งเสริมการเกษตร

เมื่อโครงการได้รับคัดเลือกแล้ว ให้วิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA)

โรงไฟฟ้าชุมชนคุณสมบัติของ วิสาหกิจชุมชน

คุณสมบัติของ วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ต้องมีสามาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือนตามทะเบียนบ้าน และไม่จำเป็นต้องปลูกพืชพลังงานทั้งหมด โครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้ วิสาหกิจชุมชนสามารถนำพืชพลังงาน ที่รับซื้อจากเกษตรกรที่ไม่เป็นสมาชิกของวิสาหกิจชุมชน นำมาขายให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ได้ด้วย เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนมีหน้าที่ในการรวบรวมสินค้าจากเกษตรกร

เมื่อเข้าใจถึงคุณสมบัติของ “ชุมชน” ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องดำเนินการลงนาม บันทึกข้อตกลง (MOU) ให้ครบถ้วนทั้ง 3 ฉบับ ดังนี้

การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ฉบับแรก วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จะต้องลงนามแสดงว่า จะร่วมมือกันดำเนินโครงการกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) เพื่อการันตีว่า วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ได้รับสิทธิร่วมทุนกับผู้ประกอบการในโรงไฟฟ้า โดยได้รับสิทธิถือหุ้นบุริมสิทธิ สัดส่วนร้อยละ 10 ซึ่งเป็น หุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสม (Cumulative Preferred Stock)

ที่แม้ว่าจะไม่ได้สิทธิในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า แต่มีสิทธิได้รับเงินปันผลทุกปี และหากปีใดบริษัทไม่ประกาศจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิแล้ว ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินปันผลของปีที่ไม่ประกาศจ่ายเงินปันผล สะสมไปทุกปี จนกว่าบริษัทจะประกาศจ่าย อีกทั้งไม่ได้มีข้อกำหนดห้ามวิสาหกิจชุมชน ถือหุ้นในโครงการฯมากกว่าร้อยละ 10

ดังนั้นวิสาหกิจชุมชนสามารถขอซื้อหุ้น (หุ้นสามัญ) จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ในภายหลังได้ด้วย

โรงไฟฟ้าชุมชน

การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ฉบับที่สอง เพื่อการันตีการแบ่งปันผลประโยชน์ ที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น ซึ่งไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดระหว่างโรงไฟฟ้า และชุมชนว่าต้องเป็นอย่างไร โดยจะเป็นการตกลงกันระหว่างโรงไฟฟ้าและชุมชน

อีกทั้งภายใต้ MOU นี้ ชุมชน ควรจะต้องตกลงเรื่องการจัดสรรงบประมาณ และแผนโครงการสำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้ชัดเจน ซึ่งการลงนามจะต้องรับรองโดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตั้งของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้การแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่มีอายุยาวนานถึง 20 ปี

การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ฉบับที่สาม เพื่อการันตีว่าชุมชนรอบโรงไฟฟ้า จะได้รับการรับซื้อพืชพลังงานรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ในสัดส่วนร้อยละ 80 ของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

ภายใต้การลงนาม จะต้องระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อพืชพลังงาน ระยะเวลาการรับซื้อพืชพลังงาน คุณสมบัติของพืชพลังงาน และราคารับซื้อพืชพลังงาน ไว้ในสัญญาให้ชัดเจน เพื่อให้ วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สบายใจได้ว่าตลอดอายุโครงการ 20 ปี จะได้รับการประกันราคารับซื้อพืชพลังงานอย่างแน่นอน และยังทบทวนสัญญาได้ทุก ๆ 5 ปี

ซึ่งก็ถือว่าเป็นธรรมระหว่างทั้งสองฝ่าย เพราะราคาพืชพลังงานในอนาคตสามารถปรับขึ้นลงได้ตามสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ หากราคาปรับสูงขึ้นเกษตรกรจะได้ไม่เสียโอกาส

นอกจากนี้จะต้องกำหนด รายละเอียดจำนวนพื้นที่ปลูก (ไร่) ตำบล อำเภอ จังหวัด และพิกัด (GPS) โดยกรณีสมาชิกของ วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เป็นเจ้าของที่ดิน ให้ยื่นสำเนาโฉนดที่ดิน/เอกสารสิทธิที่ดิน (ทั้งฉบับ) ส่วนกรณีสมาชิกของวิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน

ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานว่า จะสามารถมีกรรมสิทธิ์/สิทธิครอบครองที่ดิน หลังจากที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งระยะเวลาในการครอบครองที่ดิน ตลอดอายุของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี และต้องมีสำเนาโฉนดที่ดิน/หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน/เอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน (ทั้งฉบับ)

ในกรณีใช้ที่ดินมากกว่า 1 แปลง จะต้องมีแผนผังต่อโฉนดหรือแผนผังรวมที่ดิน ระบุตำแหน่งและขนาดของที่ดินของแต่ละแปลงในแผนผังให้ชัดเจน

โรงไฟฟ้าชุมชน

อีกทั้งจะต้องมี แผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อการเพาะปลูกพืชพลังงานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งหลักเกณฑ์ในข้อนี้ แม้กำหนดให้ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (Very Small Power Plant: VSPP) เป็นผู้ดำเนินการ แต่ วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ก็ควรจะต้องรับรู้ข้อมูลเพื่อให้มั่นใจ

ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ที่จะร่วมทุนในโรงไฟฟ้าได้ดำเนินการศึกษาประเมินปริมาณการใช้น้ำ แหล่งที่มา และปริมาณของน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ รวมถึงแผนสำรองกรณีไม่สามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะได้ไว้ครบถ้วนแล้ว ก็จะเอื้อให้การปลูกพืชพลังงานเป็นไปตามแผนในแต่ละช่วงเวลาได้

ตลอดจนจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ซึ่งควรเป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ หรือความชำนาญในการเกษตร เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนการปลูกพืชของเกษตรกรได้อย่างเหมาะสม

โครงการนี้ยังมีข้อกำหนดให้ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ต้องรายงานหน่วยผลิตไฟฟ้า ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง รวมถึงแหล่งที่มา ให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย หรือ หน่วยงานกลางสามารถเข้าตรวจสอบโรงไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบที่มาของเชื้อเพลิง ประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้ กระบวนการรับซื้อเชื้อเพลิง และความถูกต้องของการจัดทำรายงานของ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ได้

โดยที่ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งในทางปฏิบัติ วิสาหกิจชุมชน ถือเป็นหน่วยจัดหาเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า ก็สามารถติดตามตรวจสอบการใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามหากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่เป็นไปตาม MOU ที่ทำร่วมกันไว้ หรือนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่าง ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) และวิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เช่น กรณีการปฏิบัติตามสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา และให้ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) แจ้งผลการระงับข้อพิพาทให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทราบ

ส่วนกรณีจากการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชน ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และให้ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) แจ้งผลการระงับข้อพิพาทให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทราบ และกรณีจากข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ หากไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ ให้เสนอเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ หรือศาลไทยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

เมื่อ “ชุมชน” หรือ “วิสาหกิจชุมชน” หรือ “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน” ได้ทำการศึกษาข้อมูลและหลักเกณฑ์ กติกา การเข้าร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างละเอียดรัดกุมแล้ว และข้อตกลงต่าง ๆ อยู่บนเงื่อนไขที่ชุมชนรับได้ ก็มั่นใจได้ว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน

ที่สำคัญไปกว่านั้น วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ควรจะต้องศึกษาประวัติข้อมูลของบริษัท หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ที่จะเข้าร่วมทุนในโครงการด้วย เพราะหากเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ และไม่มีประวัติละทิ้งโครงการในอดีต ก็ยิ่งการันตีว่า โครงการจะถูกขับเคลื่อนการผลิตกระแสไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชนตลอดอายุสัญญา 20 ปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight