Environmental Sustainability

กำเนิด “โรงไฟฟ้าชุมชน” (ที่มาโครงการ)

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมายาวนาน และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน จากความสำเร็จในการมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระดับสูง และมีการกำหนดนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างชัดเจน บรรจุไว้ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) เพื่อหวังลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศเพื่อมาผลิตกระแสไฟฟ้า

ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และยังตอบสนองต่อทิศทางของโลกในอนาคต ที่มุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าชุมชน

โครงการ “โรงไฟฟ้าชุมชน” เกิดจากนโยบาย “Energy for All พลังงานเพื่อทุกคน

แม้ว่าประเทศไทยจะส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน แต่ก็ยังเกิดกระแสต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในหลายพื้นที่ ทั้งโรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และโรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอดีต ที่มักเป็นเรื่องของผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ขณะที่ภาคประชาชน หรือ ชุมชน ยังไม่มีส่วนร่วมกับโรงไฟฟ้ามากพอ จึงทำให้เกิด “ความไม่เชื่อมั่นต่อโรงไฟฟ้า”

ย้อนไปประมาณเกือบ 2 ปี หรือ เมื่อปี 2562 ชื่อของ “โรงไฟฟ้าชุมชน” เริ่มปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หรือมีชื่อเต็มว่า “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” โครงการนี้ เกิดจากนโยบาย “Energy for All พลังงานเพื่อทุกคน” ของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สมัยเข้าดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนที่ 13 ช่วงระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 – 15 กรกฎาคม 2563 ภายใต้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2

หลักการสำคัญของโครงการนี้ หรือ เรียกว่า “สถานีพลังงานชุมชน” รัฐบาลต้องการเป็นตัวกลางลดช่องว่างระหว่างประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ากับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า โดยริเริ่มแนวคิดสร้างกลไกให้ “ชุมชน” หรือ “คนตัวเล็ก” เข้ามามีส่วนร่วมเป็น “เจ้าของโรงไฟฟ้า” เพื่อช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ที่ไม่เพียงมุ่งส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าใช้เองในชุมชน แต่ยังช่วยสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ ให้กับประชาชนในระดับฐานรากอย่างแท้จริง

โรงไฟฟ้าชุมชน

โมเดล สถานีพลังงานชุมชน ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มวิสาหกิจ/สหกรณ์/กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้าการให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวกันประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล หรือไม่เป็นนิติบุคคลสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเอง รวมตัวกันเพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านพลังงานในกระบวนการผลิตสินค้าชุมชน
2. สถานที่ผลิตไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าชุมชน ที่มาตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ต้องเข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมร่วมกับชุมชนในการจัดตั้งโรงไฟฟ้า
4. กลุ่มบริหารจัดการ/ความยั่งยืน ได้แก่การที่ชุมชนช่วยกันสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนในด้านพลังงาน และสร้างศูนย์การเรียนรู้ และมีวิทยากรคอยให้ความรู้คนในชุมชนทางด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จึงถูกกำหนดเป็นหนึ่งในโครงการของกระทรวงพลังงานที่อยู่ภายนโยบาย “Energy for All พลังงานเพื่อทุกคน” ของ นายสนธิรัตน์ ที่มีเป้าหมายพัฒนาพลังงานบนดิน มุ่งเน้นการผลิตพลังงานไฟฟ้าในชุมชน ตามศักยภาพเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่หาได้ในพื้นที่และนำไปใช้ในพื้นที่เป็นหลัก โดยประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึงและราคาถูก

“โรงไฟฟ้าชุมชน” หมายถึง โรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วม โดยชุมชนจะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงร่วมผลิตเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้า เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า โดยชุมชนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ทั้งจากการจำหน่ายไฟฟ้า และการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเพื่อเป็นเชื้อเพลิง

รัฐบาลในขณะนั้น ได้พยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม คณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 และมีมติเห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการจัดทำรายละเอียดในการดำเนินโครงการให้ชัดเจน จนนำไปสู่การกำหนดกรอบเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า จากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ ใน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 หรือ แผน AEDP 2018

แต่ตลอดวาระการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของนายสนธิรัตน์ ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าออกประกาศเชิญชวนยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้สำเร็จ

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2563 นายสนธิรัตน์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ต้องหยุดชะงักลง และทิ้งคำถามคาใจให้กับภาคเอกชนและภาคประชาชนว่า โครงการนี้จะถูกพับแผนไปตามรัฐมนตรีหรือไม่

กระทั่งมีการแต่งตั้ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ขึ้นมารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ภายใต้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2/2 มีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

เพราะหลายฝ่ายมองว่า นโยบายนี้เป็นมิติใหม่ของการสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทย ที่จะเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า นายสุพัฒนพงษ์ จึงประกาศสานต่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ภายใต้เงื่อนไขจะต้องทบทวนรายละเอียด และหลักเกณฑ์ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ “ชุมชน” ได้รับประโยชน์สูงสุด และต้องอยู่บนพื้นฐานภายใต้ 2 หลักการสำคัญคือ “เกษตรกรได้รับการประกันราคา” และ “ไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน”

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวเรือใหญ่ใน (ร่าง) กรอบหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนใหม่ พร้อมจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น หรือ โฟกัสกรุ๊ป กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้า เอกชน วิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 จากนั้นได้รวบรวมข้อเสนอแนะต่าง ๆ จนตกผลึกในหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนใหม่ ก่อนเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

โรงไฟฟ้าชุมชน

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ได้เห็นชอบและรับทราบการปรับปรุง 5 แผนพลังงาน ประกอบด้วย

1. ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (Alternative Energy Development Plan 2018: AEDP 2018)

2. ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (Power Development Plan: PDP 2018 Rev.1)

3. ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561–2580 (Energy Efficiency Plan: EEP 2018)

4. ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561–2580 (Gas Plan 2018)

5. แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563–2567

สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ได้พิจารณานโยบายด้านพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มเติมและยังคำนึงถึงความมั่นคงในระบบไฟฟ้ารายภูมิภาคให้พึ่งพาตนเองได้ ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ PDP 2018 Revision 1 มีความแตกต่างจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP2018 ฉบับเดิม คือ

ปรับลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ประชาชน เนื่องจากในปี 2562 มีผู้เข้าร่วมโครงการ ไม่เป็นไปตามแผน และสนับสนุนนโยบาย Energy for All ในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนในช่วงปี 2563–2567

นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความล่าช้าไปจากแผน ปรับเลื่อนวันกำหนดเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าจากปี 2564 และ 2565 ปีละ 60 เมกะวัตต์ เป็นปี 2565 และปี 2566 ปีละ 60 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนประเภทผู้ผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)

ยังมีการปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากแผน PDP2018 ที่ ณ สิ้นปี 2580 มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 546 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 1,183 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งแยกประเภทเชื้อเพลิงให้ชัดเจน ระหว่างน้ำเสียและของเสีย กับพืชพลังงาน

ตามแผน PDP 2018 Revision 1 ในช่วงปี 2561-2580 ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ เป็นส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 นับเป็นเครื่องการันตีว่า โรงไฟฟ้าชุมชนได้รับการบรรจุลงในแผนรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐเรียบร้อยแล้ว

โรงไฟฟ้าชุมชน

จากนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้นำหลักเกณฑ์ใหม่ของโรงไฟฟ้าชุมชน เสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 และการประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ที่มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน (โครงการนำร่อง)

กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ โดยใช้ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย อัตราส่วนไม่เกิน 25 %) แบ่งเป็นชีวมวล มีปริมาณไฟฟ้า เสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ

ทั้งนี้มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบประมูลแข่งขันทางด้านราคาค่าไฟฟ้า เฉพาะในส่วนของการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ใช่การประมูลแข่งขันค่าเชื้อเพลิง เพื่อเป็นการการันตีผลตอบแทนด้านรายได้จากการปลูกพืชเป็นวัตถุดิบ และไม่เป็นภาระต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ
อีกทั้งโครงการนี้เน้นให้เกษตรกรได้ประโยชน์ จึงกำหนดให้โรงไฟฟ้าต้องมีพื้นที่ปลูกพืชใหม่ ไม่ต่ำกว่า 80% และที่เหลือเอกชนสามารถจัดซื้อจากแหล่งอื่น ๆ ได้ 20% ประเมินกันว่ากำลังผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่ปลูกพืชประมาณ 1,000 ไร่

หลังจาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ได้ผ่านการกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญจากภาคนโยบายแล้ว ทางกระทรวงพลังงาน ก็ได้ส่งต่อนโยบายให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าต่อไป โดยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบร่างระเบียบรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเดินหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้า จากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2564 ตามรายละเอียดในประกาศ

เรียกได้ว่า “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” ภาคนโยบายใช้เวลาเกือบ 2 ปี วางกติกาจนสามารถคลอดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ได้สำเร็จ แต่ผลสำเร็จของโครงการนี้ ยังขึ้นอยู่กับความร่วมไม้ร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เป็นผู้ชนะการประมูล ว่าจะผลักดันให้โครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ คือ เป็นโรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของ และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight