Environmental Sustainability

‘รวีวรรณ’ ชี้แจง ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ยืนยัน คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

“รวีวรรณ” ชี้แจงรายละเอียด “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ย้ำ ดำเนินกระบวนการจัดสรรที่ดินทำกิน ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม และพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แถลงกรณี ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก มีมติให้ขึ้นทะเบียน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ของไทย เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

แก่งกระจาน

นางรวีวรรณ ระบุว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ตามหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนในข้อที่ 10  คือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี จัดเป็นป่าผืนใหญ่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร โดยพบชนิดพันธุ์สัตว์ 720 ชนิด ตามบัญชี IUCN Red List

สัตว์ที่พบนั้น จำแนกเป็น สัตว์ที่มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered Species, CR) จำนวน 4 ชนิด

  • จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ Siamese crocodile
  • ลิ่นชวา
  • เต่าเหลือง
  • ต่าหก

แก่งกระจาน

นอกจากนั้นยังมี สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species, EN) 8 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable Species, VU) 23 ชนิด และ ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Near Threatened Species, NT) 25 ชนิด

“แก่งกระจาน” คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

สำหรับประเด็นการจัดที่ดินทำกินนั้น ทางการไทย ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2539  อพยพราษฎรชาวไทยภูเขา ที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา  บริเวณบ้านใจแผ่นดิน ลงมาอยู่รวมกันตรงข้ามกับหมู่บ้านโป่งลึก และจัดตั้งเป็นหมู่บ้านบางกลอยขึ้น  มีแม่น้ำเพชรบุรีกั้นระหว่างหมู่บ้านโป่งลึก และหมู่บ้านบางกลอย   เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน ซึ่งยังปักปันไม่แล้วเสร็จ

หมู่บ้านบางกลอย มีชาวบ้านทั้งหมด 57 ครอบครัว ประมาณ 230 คน โดยกรมป่าไม้ในขณะนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างบ้าน ห้องน้ำ และถังเก็บน้ำให้กับทุกครัวเรือน และจัดที่ทำกินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ พื้นที่ปลูกบ้านประมาณ 3 งาน จำนวน 57 แปลง

จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากร ในหมู่บ้านบางกลอยเมื่อเดือนมกราคม 2564 พบว่ามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 113 ครอบครัว จำนวนประชากรพิ่มขึ้นเป็น 673  คน ปัจจุบันมีการสำรวจ การถือครองที่ดินของบ้านบางกลอย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยจะนำผลการสำรวจและจัดทำแผนที่ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินตาม พระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป

แก่งกระจาน

ด้านการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม ในการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ในปี 2558-2563 นั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้แทนชาวบ้าน จาก 55 หมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และโดยรอบ รวมถึง หมู่บ้านชาวไทย และกะเหรี่ยงในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และขอรับการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก มีการดำเนินการทั้งในระดับกลุ่มป่า ระดับพื้นที่อนุรักษ์ หมู่บ้าน และกลุ่มบ้าน

ในการประชุมชี้แจงแต่ละครั้ง มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม รวมทั้งผู้แทนจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ประเทศไทยด้วย สำหรับหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์นั้น มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และผู้ที่สื่อสารได้ ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษา ซึ่งได้รับฟัง และรวบรวมข้อเรียกร้องของราษฎร นำมากำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับตัวบทกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องในภาพรวมของประเทศ

สำหรับผลการรับฟังความเห็นนั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

แก่งกระจาน

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ (Protected Area Advisory Committee, PAC) ในแต่ละพื้นที่ ของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนกะเหรี่ยง ในการบริหารจัดการพื้นที่

ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์จากบ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอย 2 คน ร่วมเป็นกรรมการ ทั้งยังมีการจ้างงานชาวกะเหรี่ยง เพื่อทำงานในอุทยานแห่งชาติด้วย

ส่วนเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิตนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีหน่วยงานของรัฐจำนวนไม่น้อยกว่า 22 หน่วยงาน เข้าไปดำเนินการโครงการต่าง ๆ กว่า 88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพ และเสริมสร้างสุขอนามัย ให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

แก่งกระจาน

อาทิ การส่งเสริมการเกษตร การส่งเสริมอาชีพโครงการส่งเสริมศิลปาชีพและมูลนิธิปิดทองหลังพระ ระบบประปาหมู่บ้าน ระบบน้ำบาดาล พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สุขศาลาประจำหมู่บ้าน และการส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชน เป็นต้น

สำหรับการดำเนินงานในฐานะ หน่วยงานประสานงานกลาง ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก นั้น สผ. จะต้องจัดส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo