Environmental Sustainability

การทำ EIA มีความสำคัญมากแค่ไหนกับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

การก่อสร้าง “โรงไฟฟ้า” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดก็ตาม หากโรงไฟฟ้านั้นเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ที่มีขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท และขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2555 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยการันตี หรือ ประเมินเหตุการณ์ผลกระทบล่วงหน้า ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือ ที่เรียกย่อ ๆ กันว่า อีไอเอ เป็นการประเมินผล กระทบ จากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพ หรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง

การทำรายงาน EIA

การทำรายงาน EIA เพื่อประเมินและบรรเทาผลกระทบ ทางชีวภาพ กายภาพ และสังคม 

อีกความหมายของการทำรายงาน EIA คือ การทำกระบวนการเพื่อการบ่งชี้ ทำนาย ประเมิน และบรรเทาผลกระทบ ทางชีวภาพกายภาพ สังคม และผลกระทบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มีต่อข้อเสนอในการพัฒนาใด ๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้ลงมือดำเนินการได้ โดยทั่วไปแล้ววัตถุประสงค์ของการประเมิน

เพื่อให้เป็นการรับประกันได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ถึงผลกระทบของโครงการพัฒนา ที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนทำการอนุมัติให้ดำเนินโครงการที่มีผู้ขออนุญาตดำเนินการ

ข้อดี ของการทำรายงาน EIA คือ ช่วยหาทางป้องกันผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นในโครงการนั้นให้เกิดน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมา ได้อย่างมีประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด

นอกจากนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังสามารถใช้เป็นแนวทาง ในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจและผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าว่า สมควรดำเนินโครงการนั้นต่อหรือไม่

ทั้งนี้การทำรายงาน EIA จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากได้รับการวางแผนป้องกันปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังดำเนินโครงการไปแล้ว โดยในรายงาน EIA จะมีการกำหนดมาตรการป้องกัน และติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบเป็นหัวข้อหลักที่สำคัญของรายงานด้วย

การทำรายงาน EIA

การจัดทำรายงาน EIA จะศึกษาและวิเคราะห์ครอบคลุมระบบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เป็นการศึกษาถึงผลกระทบต่อภูมิสัณฐาน ดิน ธรณีวิทยา ทรัพยากร น้ำผิวดินและใต้ดิน น้ำทะเล อากาศและเสียง ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

2. ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีต่อระบบนิเวศน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

3. คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น น้ำดื่มและน้ำใช้ การขนส่ง ไฟฟ้าและพลังงาน การควบคุมน้ำท่วม การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม และสันทนาการ เป็นต้น

4. คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต จะเป็นการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี การสาธารณสุข อาชีวอนามัย ความสัมพันธ์ในชุมชน และคุณภาพประชากร เป็นต้น

หลังจากรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในปัจจุบัน ทั้ง 4 ด้านแล้ว ผู้ดำเนินการ หรือ ผู้ขออนุญาต ต้องส่งรายงานต่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE)

โดยมีการพิจารณา มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะทำ แผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

การทำรายงาน EIA

ขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าชีวมวล แยกเป็น 2 กรณี คือ

กรณีแรก เป็นโครงการที่ต้องได้รับการอนุญาตตามกฎหมาย หรือหน่วยงานของรัฐ โดย ไม่ต้อง ขอรับความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.)

เริ่มต้นจาก ผู้ดำเนินการ หรือ ผู้ขออนุญาต เสนอรายงาน EIA ต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจอนุญาต โดยต้องรอตรวจสอบรายงาน 15 วัน ซึ่งหากพบว่ารายงานไม่ถูกต้องหรือข้อมูลไม่ครบถ้วน ทางเจ้าหน้าที่ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะส่งกลับให้ดำเนินการแก้ไข

แต่หากรายงานถูกต้องและข้อมูลครบถ้วน ก็จะส่งให้ สผ. พิจารณาให้ความเห็นต่อรายงานเบื้องต้น ใน 15 วัน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA (คชก.) โดยจะใช้เวลา 45 วัน

หาก คชก. เห็นชอบกับรายงาน EIA ทางเจ้าหน้าที่ สผ. จะนำมาตรการที่กำหนดในรายงาน EIA เป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต

แต่หาก คชก. ไม่เห็นชอบ ฝ่ายผู้ขออนุญาต สามารถเสนอรายงานฉบับแก้ไขเข้าไปใหม่ได้ภายใน 180 วัน แต่หากผู้ขออนุญาตไม่ยอมแก้ไข ก็ถือว่ากระบวนการขอ EIA สิ้นสุดลง

ในกรณีที่มีการแก้ไข ผู้ขออนุญาตส่งให้ คชก. พิจารณาอีกครั้ง โดย คชก. จะใช้เวลาพิจารณา 30 วัน ก่อนลงมติว่า เห็นชอบด้วยหรือไม่กับรายงานที่แก้ไขใหม่ หากเห็นชอบด้วย ก็จัดส่งรายงานให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจอนุญาต ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตต่อไป

แต่หาก คชก. ไม่เห็นชอบกับรายงาน EIA ที่เสนอมาใหม่ ก็ถือว่ากระบวนการยื่นขอสิ้นสุดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจาก คชก. มีมติไม่เห็นชอบและสิ้นสุดการยื่นขอ EIA ทางด้านผู้ขออนุญาต ก็สามารถยื่นเรื่องเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาใหม่ได้ หากเห็นด้วยกับการพิจารณาของ คชก. ที่ไม่เห็นชอบกับรายงานที่เสนอไป

แต่หากผู้ขออนุญาต ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของ คชก. ก็มีสิทธินำคดีไปฟ้องร้องศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน

กรณีที่สอง กรณีโครงการหรือกิจการของหน่วยงานรัฐ หรือ หน่วยงานรัฐร่วมกับเอกชน ซึ่งต้องเสนอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีขั้นตอน ดังนี้

เริ่มต้นจากหน่วยงานรัฐ หรือ หน่วยงานของรัฐร่วมกับเอกชน จะต้องว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA ตั้งแต่ระยะทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนเหมือนกรณีแรก คือ มี คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA (คชก.) พิจารณารายงาน EIA

หากพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลไม่เพียงพอ ก็ส่งกลับให้ไปแก้ไขรายงาน แต่หากข้อมูลเพียงพอแล้ว ทาง คชก. ก็เสนอความเห็นผ่าน สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อส่งให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณา หรือ คชก. อาจมองหมายทาง สผ. สรุปความเห็นเสนอแทนก็ได้

หลังจาก กก.วล. พิจารณาแล้ว จึงมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งหากเห็นชอบก็สามารถดำเนินการหรือบางกรณี ครม. อาจให้ศึกษาเพิ่มเติมก็ได้

การทำรายงาน EIA

หลังจากดำเนินโครงการแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องทำรายงานเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาต จะต้องจัดทำรายงานการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเรียกรายงานนี้ว่า Monitor

หากโครงการเป็นแบบกรณีแรก คือ ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐและมีหน่วยงานที่มีอำนาจอนุญาต เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล กรมที่ดิน กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ให้ส่งรายงานให้กับหน่วยงานเหล่านี้ โดยมีหน้าที่ต้องควบคุม กำกับ และปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA

หากโครงการตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครให้ สผ. เป็นผู้ประเมินจากรายงานจาก Monitor แต่หากอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เป็นผู้ประเมิน

อย่างไรก็ตาม การส่งรายงาน Monitor เป็นหน้าที่ของผู้ขออนุญาตต้องนำส่ง หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งโทษปรับและการดำเนินคดีทางอาญา

สำหรับกิจการไฟฟ้า มีขั้นตอนการส่งรายงาน คือ ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า ต้องส่งรายงานให้กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จากนั้นทาง สำนักงาน กกพ. จะส่ง Monitor ให้กับทาง ทสจ. หากโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในต่างจังหวัด และ หากโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็จะนำส่งรายงาน Monitor ให้กับ สผ.

ดังนั้น รายงาน EIA ที่ผู้ขออนุญาตดำเนินการโรงไฟฟ้า ถือว่ามีความสำคัญในการป้องกันปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน

“โรงไฟฟ้า” เมื่อเกิดขึ้นในพื้นที่ใดแล้ว ซึ่งหากมีการขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าและขออนุมัติการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าว่า โรงไฟฟ้านั้น ๆ ได้ผ่านการประเมินผลกระทบและวางแนวทางลดความเสี่ยงจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight