Environmental Sustainability

ขั้นตอนการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล

การจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ไม่ใช่ว่าใครคิดโครงการแล้วอยากจัดตั้ง ก็จัดตั้งขึ้นได้ตามใจชอบ เพราะโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง เมื่อจัดตั้งขึ้นมาแล้วจะมีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนในพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้า ภาครัฐจึงกำหนดขั้นตอนตามกฎหมาย ที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามขั้นตอนการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล

ขั้นตอนการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล

ในขั้นตอนการติดต่อเพื่อขอใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายและพัฒนาพลังงานทดแทน โดยมีหลายกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ หลายแห่ง รวมไปถึงข้อกฎหมาย และกฎระเบียบอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่มีขั้นตอนการปฏิบัติที่แตกต่างกัน

ขั้นตอนการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล

การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ทางผู้ประกอบการควรได้รับทราบขั้นตอนการขอใบอนุญาต และการเตรียมเอกสารเพื่อประกอบในการยื่นคำขอ รวมถึงขั้นตอนการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะขั้นตอนเหล่านี้ ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการ และประชาชนโดยทั่วไป ได้รับทราบและเข้าใจในกระบวนการ และขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ

หากผู้ประกอบการต้องการขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ต้องตระหนักไว้ว่า ต้องติดต่อหน่วยงานของรัฐ 6 หน่วยงาน คือ

1. สำนักงานผังเมือง
2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
3. กรมโรงงานอุตสาหกรรม
4. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
5. ราชการส่วนท้องถิ่น
6. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ขั้นตอนการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล

ขั้นตอนการยื่นคำขอและการอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้า

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานทั้งระบบ กิจการพลังงานถือเป็นกิจการที่สำคัญต่อโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นอกจากมีอำนาจออก ใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ตามมาตรา 47 แล้ว มาตรา 48 ยังให้ กกพ. มีอำนาจในการอนุญาตต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ใน กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน

เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการอนุญาตหลักทั้งหมด (One Stop Service: OSS) ทั้งในด้านของการกำกับดูแล และการให้บริการแก่ผู้ขอรับใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ประกอบกิจการสามารถยื่นคำขอรับ ใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) และใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ.1) พร้อมกันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต หรือผ่านระบบออนไลน์ของสำนักงาน

ดังนั้นขั้นตอนการยื่นคำขอ และการพิจารณาให้ใบอนุญาต ต้องสอดคล้องกับการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบกิจการด้วย โดยคำนึงถึงความเสี่ยงในการปฏิบัติ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องในการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาโครงการเป็นสำคัญ ด้วยเหตุผลดังกล่าว

การให้ใบอนุญาตของ กกพ. (Licensing Procedure) จึงแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่

1. การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) และใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ.1) กรณีเข้าข่ายก่อนเริ่มก่อสร้างสถานประกอบกิจการ
2. การให้ใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ก่อนเริ่มประกอบกิจการ

ขั้นตอนเหล่านี้ถือเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการ ซึ่งกว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลได้แต่ละแห่งนั้น ต้องใช้เวลาเตรียมการประมาณ 1-2 ปี หรือมีระยะเวลารวมในการยื่นขออนุมัติสูงสุดไม่เกิน 435 วัน และระยะเวลารวมการยื่นขอจนกระทั่งอนุมัติน้อยสุดไม่เกิน 255 วัน และการติดต่อประสานงานหน่วยงานราชการต้องได้รับใบอนุญาต 10 ใบ รวมเวลาตั้งแต่เริ่มยื่นเอกสารจนได้รับเงินค่าไฟฟ้าในงวดแรก

ขั้นตอนการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล

รายละเอียดขั้นตอนการจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล และการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล ประกอบด้วย

1. การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

2. การออกแบบโครงสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ออกแบบผังการติดตั้งเครื่องจักร และประเมินราคาวัสดุ

3. การขอจดทะเบียนนิติบุคคล กำหนดให้ผู้ประกอบการยื่นแบบคำขอ “จดทะเบียนบริษัทจำกัด” (แบบ อบจ.1) กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DEB) โดยสามารถยื่นแบบคำขอผ่าน www.dbd.go.th ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้อนุมัติ “จดทะเบียนบริษัทจำกัด” โดยใช้เวลาประมาณ 1 วัน

4. การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กรณีหลัก คือ

4.1 กรณียื่นแบบคำขอตั้งโรงงานต่ออุตสาหกรรมจังหวัด (อก.) โดยยื่นเอกสารกับอุตสาหกรรมจังหวัด ผ่านแบบคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน (รง.3) ทางอุตสาหกรรมจังหวัด ขอความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และตรวจสอบพื้นที่ และจัดทำรายงานตรวจสอบภายใน 30 วัน จากนั้นอุตสาหกรรมจังหวัดปิดประกาศตามมาตร 30 ภายใน 15 วัน แล้วจึงส่งเรื่องให้ กกพ. พิจารณา และส่งเรื่องเพื่อขอความเห็นจากกรมโรงงาน จนนำไปสู่การพิจารณาออกใบอนุญาตจาก กกพ.

4.2 ในกรณีที่ยื่นคำขอที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) หลังจากได้รับเอกสารจากผู้ขอใบอนุญาตแล้ว ทางสำนักงาน กกพ. จะขอความเห็นประกอบการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งความเห็นกลับมาสำนักงาน กกพ. ภายใน 60 วัน เพื่อที่จะจัดทำความเห็นเสนอต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งต้องมีคำวินิจฉัยการอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าภายใน 20 วัน นับจากได้รับความเห็นจากกระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากนั้น สำนักงาน กกพ. จะแจ้งผลภายใน 10 วันนับตั้งแต่วันที่ กกพ.มีมติ โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน

5. การขออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

5.1 กรณีขออนุญาตต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ ผู้ประกอบการต้องยื่น แบบคำขอ “อนุญาตก่อสร้าง/ดัดแปลงอาคาร” หรือ อาคาร (ข.1) ต่อ อบต. กระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบเอกสาร และออกหนังสือแจ้งการอนุมัติ “อนุญาตก่อสร้าง/ดัดแปลงอาคาร” ซึ่งจะนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้

5.2 กรณีพื้นที่อยู่ในการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ทางผู้ประกอบการยื่นแบบคำขออนุญาตก่อสร้างต่อ กนอ. อาทิ การแจ้งชื่อผู้ควบคุมงานกับวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดการดำเนินการ และผู้ประกอบการขอรับใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร (กนอ. 02/1) เพื่ออนุมัติ “อนุญาตก่อสร้าง/ดัดแปลงอาคาร” ขั้นตอนนี้ใช้เวลาดำเนินการรวม 45 วัน

6. การขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าและเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า โดยผู้ประกอบการยื่นแบบคำขอจำหน่ายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ณ ที่ทำการสำนักงานเขตของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ MEA หรือที่ทำการสำนักงานจังหวัดของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA จากนั้น ทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายพิจารณาเอกสารรับซื้อไฟฟ้าและแจ้งผล พร้อมทั้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 45 วัน นับจากวันที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้รับข้อมูลประกอบการพิจารณาครบถ้วน ซึ่งในขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 15 วัน

7. การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องชำระค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันได้รับแจ้งผล จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรได้

8. การขอใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม ทางผู้ประกอบการยื่นคำขอ “ใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม” (พค.1) แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ในกรณีที่โรงงานมีขนาดตั้งแต่ 200-1,000 KVA หรือ สำนักงาน กกพ. พิจารณาในกรณีที่ขนาดมากกว่า 1,000 KVA และส่งให้ พพ. เป็นผู้เห็นชอบ จากนั้น พพ. จะตรวจสอบระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ป้อนกัน และอนุมัติใบอนุญาตฯ ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาดำเนินการ 60 วัน

9. การขออนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ผู้ประกอบการจัดเตรียมเอกสารยื่นต่อ สำนักงาน กกพ. เพื่อขอออกใบอนุญาต “ใบประกอบกิจการไฟฟ้า” โดย จะมีใบอนุญาต 5 ประเภท คือ ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า (สกพ01-1) ใบอนุญาตระบบส่งไฟฟ้า (สกพ01-2) ใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้า (สกพ01-3) ใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า (สกพ.01-4) และใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า (สกพ.01-5) ซึ่ง สำนักงาน กกพ. จะเสนอความเห็นต่อ กกพ. เพื่อพิจารณา

10. การออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ทาง กกพ. จะพิจารณาและตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เพื่อออกใบอนุญาต ซึ่งในกระบวนการนี้จะใช้เวลาทั้งหมด 75 วัน

11. การไฟฟ้าตรวจสอบระบบพร้อมออกผลการรับรองการตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้า

12. การซื้อขายไฟฟ้าครั้งแรก (COD) โดย ข้อ 11 และข้อ 12 มีขั้นตอนเชื่อมโยงกันดังนี้ คือ เมื่อทำสัญญาและติดตั้งระบบแล้วเสร็จ ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าแจ้งความประสงค์จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ การไฟฟ้าจะเข้าไปตรวจสอบภายใน 15 วัน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะตรวจสอบการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ติดตั้งว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ยกเว้นกรณีที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่ ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายภายใน 30 วัน จากนั้นการไฟฟ้าแจ้งวันเริ่มรับซื้อไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โดยขั้นตอนเหล่านี้ ใช้เวลาดำเนินการรวม 45 วัน

13. ใบรับรองเงินค่าขายกระแสไฟฟ้า

14. รับเงินจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามเงื่อนไขภายในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ขั้นตอนการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล

การขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้โครงการที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในกรณีสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดเกิน 10 เมกะวัตต์ หรือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA)

ในกรณีสร้างโรงไฟฟ้าที่มีขนาดเกิน 150 เมกะวัตต์ขึ้นไป ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีระยะเวลาดำเนินการรวมอีกประมาณ 180-365 วัน

ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ ตามในอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งในระเบียบของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงสถานประกอบกิจการพลังงาน จะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practices: CoP) ที่ กกพ. กำหนด ทั้งนี้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท และขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง

นอกจากนี้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย พ.ศ. 2552 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำขอรับใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) หรือใบอนุญาตขยายโรงไฟฟ้าที่มีขนาดตั้งแต่ 5 เมกะวัตต์ ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ ต้องจัดทำรายงานที่เกี่ยวกับการศึกษา และมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Environmental and Safety Assessment)

การขออนุญาตผลิตไฟฟ้าชีวมวล การขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีหลายขั้นตอน และมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานนั้น ทำให้เห็นว่าการจะตั้งโรงไฟฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีมาตรการตรวจสอบหลายขั้นตอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อโรงไฟฟ้าแห่งใด ได้รับใบอนุญาตประกอบการกิจโรงไฟฟ้ามาแล้ว ก็ควรจะดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนด หรือ กติกาต่าง ๆ และเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight