Environmental Sustainability

สผ. ชูผลงาน ขับเคลื่อนนโยบาย “ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน”

สผ. เปิดงานประชุมวิชาการ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “สผ. ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน”  

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สผ. ได้ดำเนินการจัดงานประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี งานนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ สผ. จะได้นำเสนอ และเผยแพร่ผลงานวิชาการ รวมทั้ง ผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านด่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องตามกรอบแนวทางนโยบาย และแผนระดับชาติ ตลอดจน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs : Sustainable Development Goals)

สผ.

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้การจัดงานในวันนี้ แตกต่างจากการจัดประชุมที่ผ่านมา และเป็นไปตามที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบหมายนโยบายมาให้ ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้วิถีชีวิตใหม่

ดังนั้น การจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2564  สผ. จึงให้ความสำคัญการจัดงานในรูปแบบของวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “สผ. ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน” โดยนายวราวุธ รัฐมนตรี ทส. มอบวิดีโอสาร ในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

สผ.

ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “สผ. ร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน” โดยนางรวีวรรณ เลขาธิการ สผ. นอกเหนือจากการเสวนา เรื่อง “ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และนำเสนอแนวทางการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมอย่างยั่งยืนของ สผ.

สผ. ดำเนินงานภายใต้ การพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการอนุรักษ์ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือ และเกิดเครือข่ายการต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อร่วมกันดำเนินงาน สร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน  มีผลการดำเนินงาน ที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • การขับเคลื่อนการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน

การผลิต ที่นำทรัพยากรมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงกิจกรรมการบริโภคที่เพิ่มขึ้ นได้ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของทรัพยากร การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ

หลังจากประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตจำนงค์ในวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030)ที่จะมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สผ. ได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน กับภาคส่วนต่างๆตามแผนขับเคลื่อนการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2580

  • การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ผลักดันให้นำแผนแม่บท รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2563 มาใช้เป็นกรอบดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

สผ.

  • การปรับตัวต่อผลกระทบการลดก๊าซเรือนกระจก และการสร้างขีดความสามารถ การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
  • ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีผลการลดก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงาน คิดเป็นร้อยละ 15.76

  • การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

เป็นการศึกษาและคาดการณ์ผลกระทบ ที่อาจจะเกิดจากการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการ มีส่วนร่วมของประชาชน และนำมาสู่การกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ที่สามารถป้องกัน และลดผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ และปฏิบัติได้จริง

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง เพื่อการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในโครงการ ทำให้ประเทศสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อม บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

  • การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ

สผ. ได้ขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการ จัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 – 2564 ที่ให้ความสำคัญกับการดำรง รักษา ปกป้อง ฟื้นฟู และหยุดยั้งการคุกคาม ความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเท่าเทียม และยุติธรรม  เพื่อให้บริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศได้อย่างเป็นเอกภาพ ครอบคลุมการส่งเสริม และสนับสนุนการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

สผ. ได้จัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. ขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี

สผ.

  • การขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนาเชิงพื้นที่

การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก 5 แหล่ง และแหล่งในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก จำนวน 7 แหล่ง การประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 9 แห่ง และประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า 36 เมือง เพื่อส่งต่อพื้นที่ ที่มีคุณค่าให้กับคนรุ่นต่อไป

นอกจากนี้ สผ. ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนเมือง ชุมชน และพื้นที่สีเขียว โดย ส่งเสริมชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ และพัฒนาย่านชุมชนเก่าของตนตามแนววิถีใหม่ เพื่อเป็นต้นทุนมรดกทางวัฒนธรรม ให้กับคนในพื้นที่ได้ภาคภูมิใจ

รวมทั้ง สร้างแรงจูงใจ สร้างความมุ่งมั่นให้กับเมือง หรือเทศบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผ่านการเชิญชวนเมือง (เทศบาล) ต่างๆ นำเสนอผลการดำเนินงานและการจัดการเมืองของตัวเอง ที่มีผลเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นตัวอย่าง และต้นแบบของสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืนในระดับประเทศและระดับอาเซียน ต่อยอดการพัฒนาที่สอดรับกับความท้าทายใหม่ๆ อย่างสอดคล้องกับการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

สผ.

กองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นกลไกหนึ่งที่สนับสนุนภาคเอกชนและท้องถิ่น ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น สนับสนุนภาคเอกชนในโครงการระบบจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลและมลภาวะทางอากาศ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน คัดแยกขยะที่ต้นทาง สำหรับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

ในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ได้สนับสนุนสำนักงาน สผ.จังหวัด ในโครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” รวมทั้งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่าประมาณ 180 เครือข่าย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ในการจัดการปัญหาไฟป่า และหมอกควัน ในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคเหนือ รวม 49 แห่ง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งประเทศ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานตามพันธกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สผ. ยังคงสานต่ออย่างต่อเนื่องในทุกมิติ พร้อมสร้างการขับเคลื่อน และสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศ เพื่อมุ่งมั่น สร้างสรรค์ และกำหนดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการ ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงาน สผ. “ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo