Environmental Sustainability

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเกาหลีใต้ ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศในทวีปเอเชีย ที่เผชิญกับความท้าทายด้านพลังงาน เนื่องจากไม่มีแหล่งพลังงาน แต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเกาหลีใต้นำเข้าพลังงานมากถึง 96%

หากพิจารณาจากแหล่งพลังงานของเกาหลีใต้ จึงไม่แปลกที่จะมีสัดส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน โดยประกาศแผนพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศ ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเกาหลีใต้

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ พยายามเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.7 กิกะวัตต์ โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดเป็น 82% ของกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2559

รัฐบาลเกาหลีใต้ ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก 7% ในปัจจุบัน ให้เป็น 10% ภายในปี 2567 และเป็น 20% ภายในปี 2573 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายของแผนด้านพลังงาน ที่ กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน (Ministry of Trade Industry and Energy: MOTIE) ประกาศไปเมื่อปี 2562

สำหรับพลังงานจากชีวมวลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยตั้งแต่ปี 2555 มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 409 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเกาหลีใต้

ในปี 2559 เกาหลีใต้ มีแหล่งกำเนิดพลังงานทั้งสิ้นราว 11,820 เพตะจูล (PJ) และเป็นเชื้อเพลิงจากฟอสซิลสูงถึง 82% แบ่งเป็น น้ำมันเกือบ 40% หรือ 4,598 เพตะจูล ถ่านหิน 28.9% หรือ 3,416 เพตะจูล และก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 14.6% หรือ 1,726 เพตะจูล นอกจากนี้ยังเป็น พลังงานนิวเคลียร์ 15% หรือ 1,773 เพตะจูล และมีพลังงานจากขยะ 1.1% หรือ 130 เพตะจูล ส่วนพลังงานหมุนเวียน มีสัดส่วน 1.5% หรือ 177 เพตะจูล

เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนหน้านั้น คือ ปี 2554 มีการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และนิวเคลียร์ค่อนข้างคงที่ โดยเปรียบเทียบ สัดส่วนการพึ่งพาน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 36.0% เป็น 38.9% และพลังงานหมุนเวียนเพิ่มจาก 0.7% เป็น 1.5%

ในขณะที่แหล่งเชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน มีพลังงานรวมทั้งหมด 180 เพตะจูล เกือบทั้งหมดมาจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีสัดส่วนสูงถึง 75.3% หรือ 135 เพตะจูล พลังงานแสงอาทิตย์ 10.2% หรือ 18 เพตะจูล ส่วนที่เหลือมาจาก พลังงานน้ำ 5.7% หรือ 10 เพตะจูล พลังงานใต้พิภพ 3.8% หรือ 7 เพตะจูล พลังงานลม 3.4% หรือ 6 เพตะจูล และพลังงานจากกระแสน้ำขึ้น-ลง และพลังงานมหาสมุทร 1% หรือ 2 เพตะจูล

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเกาหลีใต้

ในปี 2559 เกาหลีใต้ มีการใช้พลังงานชีวภาพ 135 เพตะจูล โดยกว่าครึ่ง หรือ 57.2% มาจากพลังงานชีวมวลอัดเม็ด หรือ 77 เพตะจูล ส่วนที่เหลือเป็น ไบโอดีเซล 15.3% หรือ 21 เพตะจูล เชื้อเพลิงชีวภาพเหลวอื่น ๆ อีก 10.7% หรือ 14 เพตะจูล ขยะชุมชน 11.7% หรือ 16 เพตะจูล และก๊าซชีวภาพ 5.1% หรือ 7 เพตะจูล

สัดส่วนการใช้พลังงานชีวภาพในเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นจาก 0.1% ในปี 2538 เป็น 0.7% ในปี 2556 และเพิ่มขึ้นไปที่ 1.2% ในปี 2557 นับตั้งแต่ปี 2557 การเติบโตของแหล่งพลังงานชีวภาพแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากปี พ.ศ. 2554-2557 เชื้อเพลิงจากชีวมวลอัดเม็ด เพิ่มขึ้นจาก 17 เพตะจูล ในปี 2554 เป็น 88 เพตะจูล ในปี 2557 หลังจากนั้นค่อนข้างนิ่งอยู่ที่ระดับ 80 เพตะจูล

เชื้อเพลิงชีวภาพเหลว เริ่มมีการนำมาใช้ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2553 จากนั้นปริมาณการใช้ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ระหว่างปี 2553-2556 ประมาณ 14 เพตะจูล และมาเพิ่มขึ้นเป็น 30-35 เพตะจูล เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ขยะชุมชนที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ มีปริมาณการนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ค่อนข้างนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ราว 16 เพตะจูล ตั้งแต่ ปี 2553 ส่วนก๊าซชีวภาพ มีปริมาณการใช้ค่อนข้างนิ่งเช่นกัน อยู่ที่ราว 9 เพตะจูล ระหว่างปี 2553-2557 และลดลงเล็กน้อย หลังจากนั้นอยู่ที่ราว 7 เพตะจูล

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเกาหลีใต้

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเกาหลีใต้ ขนาดใหญ่อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย

โรงไฟฟ้าพลังชีวมวลใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่ที่เกาหลีใต้ ซึ่งใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างกะลาปาล์ม เศษไม้ รวมถึงชีวมวลอัดแท่ง มาเป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าชีวมวล Dangjin Bio-1 มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งที่ 105 เมกะวัตต์ มีขนาดใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลแบบเดิมถึง 3 เท่า รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับประชากร 100,000 คน ด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำและหม้อไอน้ำ

การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบหลังจากนั้นอีก 30 เดือน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2558

โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ควบคุมอากาศเสียที่ปล่อยออกมา เพราะมีระบบหม้อต้มที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ สามารถใช้วัสดุเพื่อผลิตไฟฟ้าได้หลายประเภท เช่น เศษไม้ ชีวมวลอัดเม็ด กะลาปาล์ม เป็นต้น

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเกาหลีใต้ โรงไฟฟ้าชีวมวล Dangjin Bio-1 นับเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบในเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วยเทคโนโลยีแบบนี้ เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างมาก ทำให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าตามความต้องการได้ หากเกิดปัญหาในกรณีพลังงานหลักอื่น ๆ ไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้

แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล Dangjin Bio-1 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเชื้อเพลิงหลักยังมาจากป่าไม้ ซึ่งกำลังเกิดความวิตกกันมากขึ้นว่าจะกระทบต่อพื้นที่ป่า เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ใช้เชื้อเพลิงจำนวนมหาศาล

แม้จะเกิดการโต้แย้งในประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่โรงไฟฟ้าชีวมวล Dangjin Bio-1 ได้เปิดรับซื้อเชื้อเพลิงที่หลากหลายขึ้น ไม่ได้พึ่งพาผลผลิตจากป่าเพียงอย่างเดียว

ประเด็นปัญหาของโรงไฟฟ้าชีวมวล Dangjin Bio-1 หรือ โรงไฟฟ้าชีวมวลในเกาหลีใต้ ที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึง เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลหลายแห่งทั่วโลก คือ เรื่องการบริหารจัดการ และแหล่งที่มาของเชื้อเพลิง เพราะการนำผลผลิตจากป่าไม้มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้เป็นทางออกอย่างแท้จริงในเรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการใช้พลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ต้น แต่สร้างขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการไฟฟ้าเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามการสนับสนุนของรัฐบาล และเป้าหมายการหาแหล่งพลังงาน มาทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ก็ถือว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลเกาหลีใต้ ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ยังมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล แต่จากลักษณะทางกายภาพของประเทศ ที่แทบไม่มีทรัพยากรที่เป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลเกาหลีในการแสวงหาพลังงานทางเลือกในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight