Environmental Sustainability

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม กับศักยภาพที่ล้นเหลือ

ประเทศเวียดนามนับเป็นประเทศหนึ่งในด้านการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรที่มีต้นทุนต่ำ เช่น พลังน้ำ และถ่านหิน ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 99% มีอัตราค่าไฟค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามมีการเติบโตและขยายตัวเร็วที่สุดประเทศหนึ่ง ในกลุ่มอาเซียน ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี จนถึงปี 2568 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เช่นการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม

สำหรับปริมาณการผลิตไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม ปี 2561 อยู่ที่ 48,573 เมกะวัตต์ โดยเพิ่มขึ้น 12-15% ต่อปี สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เกือบสองเท่า โดยกำลังการผลิตติดตั้งสูงที่สุดมาจากถ่านหินคิดเป็นอยู่ที่ 18,516 เมกะวัตต์ หรือ 38.12% รองลงมาพลังน้ำอยู่ที่ 17,031 เมกะวัตต์ หรือ 35.06% ก๊าซและน้ำมันอยู่ที่ 8,978 เมกะวัตต์ หรือ 18.48% พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 3,476 เมกะวัตต์ หรือ 7.16% และการซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้านอีกจำนวน 572 เมกะวัตต์ หรือ 1.18%

แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าแห่งชาติของเวียดนาม เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าแห่งชาติของเวียดนาม ฉบับที่ 7 แก้ไขเมื่อเดือน มีนาคม 2559 (PDP VII) ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน

ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามที่มีมากที่สุด คือ พลังงานน้ำขนาดเล็ก มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,648 เมกะวัตต์ แต่มีศักยภาพการผลิตถึง 7,000 เมกะวัตต์ พลังงานลม มีกำลังการผลิตติดตั้ง 189.2 เมกะวัตต์ มีศักยภาพการผลิต 26,763 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ ขณะที่มีศักยภาพการผลิตถึง 7,140 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม

พลังงานหมุนเวียนของเวียดนาม ถือว่ายังเป็นพลังงานที่มีศักยภาพอีกมาก โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งเพียง 270 เมกะวัตต์ ขณะที่การประเมินพบว่ามีศักยภาพมากถึง 318,630 เมกะวัตต์ นับว่ามีศักยภาพ ในการเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม

อย่างไรก็ตามตลาดพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังมีอุปสรรคหลักในการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งพลังงานหมุนเวียน และโครงสร้างพื้นฐานด้านประสิทธิภาพพลังงาน ได้แก่

1. อัตราค่าไฟฟ้าที่ต่ำ
2. ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
3. ความสามารถในการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ต่ำ
4. ขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้
5. ความซับซ้อนของโครงสร้างการบริหารและกรอบกฎหมาย

การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังต้องมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน และประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังเป็นสิ่งจำเป็น การให้ความรู้ในการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาขีดความสามารถ สำหรับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ต่าง ๆ จึงมีความสำคัญ รัฐบาลเวียดนามจึงพยายามพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากแหล่งพลังงานเดิม

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (Ministry Of Industry and Trade: MOIT) เผยแพร่ร่างข้อเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2573 หรือ PDP 8 (ฉบับร่าง) เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ นับเป็นร่างฉบับที่ 3 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามได้จัดทำ และอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะเป็นระยะเวลา 30 วัน นับจากวันประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม

เปรียบเทียบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติของเวียดนาม PDP 7 ฉบับแก้ไข กับ PDP 8 (ฉบับร่าง) 

เมื่อเปรียบเทียบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2573 ฉบับที่ PDP 7 ฉบับแก้ไข กับ PDP 8 (ฉบับร่าง) จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม

แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จะมีการพัฒนาในปริมาณมากขึ้น กำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานลมจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า ในปี 2573 จาก 5,990 เมกะวัตต์ เป็น 18,010 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตของพลังงานแสงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2573 จาก 11,765 เมกะวัตต์ เป็น 18,640 เมกะวัตต์

พลังงานถ่านหิน ยังคงมีการพัฒนาอยู่ ทั้งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอยู่ระหว่างการลงทุน จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 27% ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งประเทศ แต่ลดลงจาก 43% ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับ PDP 7 ฉบับปรับปรุง โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าประมาณ 18,000 เมกะวัตต์ ที่ได้รับการอนุมัติภายใต้ PDP 7 จะล่าช้าไปจนถึงช่วงหลังปี 2573 หรืออาจจะไม่ถูกนำมารวมไว้เพื่อพิจารณาก่อสร้างต่อไป

พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ จะมีการพัฒนามากขึ้น โดยการใช้ก๊าซ LNG (โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม) ในภาคเหนือ และก๊าซธรรมชาติชนิดอื่น ทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ โดยมีการเพิ่มสัดส่วนเป็น 21% ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งประเทศ จากสัดส่วนเดิมที่ 15% ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับ PDP7 ฉบับปรับปรุง

พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ (ไม่รวมไฟฟ้าพลังน้ำ) ใน PDP 8 (ฉบับร่าง) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ในปี 2573 ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวใน PDP 7 ฉบับปรับปรุง อยู่ที่ 16.3% เท่านั้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานลมบนฝั่งและใกล้ชายฝั่ง จะมีการพัฒนากำลังการผลิตเพิ่มเป็น 9,000 เมกะวัตต์ และพลังงานลมนอกชายฝั่งจะมีการพัฒนากำลังการผลิตเพิ่มอีก 2,000-3,000 เมกะวัตต์

พลังงานแสงอาทิตย์จะมีการพัฒนากำลังการผลิตเพิ่มอีก 7,000 เมกะวัตต์ พลังงานชีวมวลจะลดลงเล็กน้อยที่ 500 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กจะลดลงที่ 1,800 เมกะวัตต์

สำหรับพลังงานชีวมวล ในปี 2568 มีสัดส่วนที่ 570 เมกะวัตต์ หรือ 0.82% ในขณะที่ PDP 8 (ฉบับร่าง) รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าให้มีสัดส่วนการผลิตเพิ่มเป็น 2,050 เมกะวัตต์ หรือ 2.01% ในปี 2568 และเพิ่มเป็น 3,150 เมกะวัตต์ หรือ 2.28% ในปี 2573 โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวเพิ่มเป็น 5,310 เมกะวัตต์ หรือ 3.46% ภายในปี 2583

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม มีศักยภาพอย่างมากด้านพลังงานชีวมวล

การเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้เวียดนามมีศักยภาพอย่างมากด้านพลังงานชีวมวล เพราะมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ รวมถึง แกลบข้าว เปลือกกาแฟ และเศษไม้

จังหวัด Phu Yen ตั้งอยู่ทางตอนกลางใต้ของประเทศ มีครัวเรือนเกษตรกรรมกว่า 10,000 ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายอ้อย ให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลในท้องถิ่น มากกว่าการขายผลผลิตอ้อยให้กับพ่อค้าคนกลาง

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม KCP Vietnam Industries Co., Ltd. ผู้ผลิตน้ำตาล และมีโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ในโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ในเมือง Phu Yen รับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในพื้นที่ ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้า

S7 6 3 01 e1639223343519

นอกจากการผลิตน้ำตาลและกากน้ำตาลหลักแล้ว KCP Vietnam Industries ยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 30 เมกะวัตต์ อยู่ด้านหลังโรงงาน มีการรับซื้อชานอ้อยที่เหลือจากบีบน้ำอ้อยในการผลิตน้ำตาล เพื่อมาผลิตกระแสไฟฟ้า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโรงงานใช้ชานอ้อยประมาณ 300,000 ตันต่อฤดูกาลเพาะปลูก ทุกครั้งสร้างพลังงานให้กับกริดแห่งชาติ

โรงงานรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในพื้นที่ในราคา 820,000-860,000 ดอง (1,110–1,165 บาท) ต่อตันซึ่งสูงกว่าราคากลางประมาณ 100,000 ดอง (135 บาท) ต่อตัน

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม KCP Vietnam Industries ทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกร ในการรับซื้อผลผลิตทั้งหมด รวมถึงการจัดหาปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ในปริมาณที่ไม่จำกัด ทำให้ชาวไร่ใน Phu Yen ยังคงทำไร่อ้อย ในขณะที่เกษตรกรในจังหวัดใกล้เคียง หันไปปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากผู้ผลิตน้ำตาลให้ราคาอ้อยถูกกว่า KCP Vietnam Industries

โรงไฟฟ้าชีวมวลของ KCP Vietnam Industries สร้างขึ้นในปี 2559 มูลค่าการลงทุน 690 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 58,000 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ขายไฟเข้าระบบไฟฟ้าแห่งชาติของเวียดนามในปี 2560 และ 108,000 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2561

โดยเฉลี่ยแล้วโรงงานแห่งนี้มีส่วนช่วยในการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 10% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของ Phu Yen บริษัทยังแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ผลิตเองให้กับ การไฟฟ้าเวียดนาม (Electricity of Vietnam: EVN) เพื่อเป็นเงินสมทบด้านสาธารณูปโภคด้านพลังงานของประเทศ

การผลิตไฟฟ้าชีวมวลไม่ใช่เรื่องใหม่ในเวียดนาม แต่มีนักลงทุนสนใจจำนวนน้อย เนื่องจากราคาขายไฟฟ้าให้กับ EVN นั้นไม่น่าสนใจ

KCP Vietnam Industries ขายไฟให้กับ EVN ได้เพียง 1.81 บาท ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่าราคาการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศไทยที่ 4.06 บาท ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

โรงไฟฟ้าชีวมวลในเวียดนาม ในประเทศเวียดนามมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกือบ 40 แห่ง ใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้โดยตรง และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม หรือเรียกว่า CHP (Combined Heat and Power) โดยสามารถผลิตไฟฟ้ารวมกันได้ 150 เมกะวัตต์

แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ได้เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ มีอยู่ 5 แห่งที่สามารถนำไฟฟ้าที่เหลือ ไปขายให้แก่โครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนาม จึงตัดสินใจเพิ่มอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็น 1,634 ดอง หรือ ประมาณ 2.24 บาท ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง สำหรับโรงไฟฟ้าแบบ Combined Heat and Power หรือ CHP และ 1,968 ดอง หรือ ประมาณ 2.70 บาท ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เทคโนโลยีอื่น โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการลงทุน และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานชีวมวล ให้ขึ้นถึงเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ คือ 660 เมกะวัตต์ ในปี 2563 1,200 เมกะวัตต์ในปี 2568 และ 3,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 หลังจากเมื่อปี 2562 มีไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ป้อนเข้าโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ เพียง 175 เมกะวัตต์

รัฐบาลคาดว่าการเพิ่มอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT จะเป็นแรงจูงใจให้บรรดาบริษัทผลิตน้ำตาล พากันพัฒนาและขยายโครงการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย จากปัจจุบันที่หลายแห่งได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ด้วยการแยกการผลิตไฟฟ้าออกจากการผลิตน้ำตาล และซื้อเตาหม้อน้ำใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า อันทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลมีศักยภาพมากในการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนั้น การตัดสินใจของรัฐบาลเวียดนามเพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้อสำหรับการพัฒนาพลังงานชีวมวล ยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างงาน รวมถึงเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและคุณภาพในการจัดหาพลังงานไฟฟ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight