Environmental Sustainability

(คลิป) โมเดลความสำเร็จของโรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย กำแพงเพชร

โรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัทสหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด หรือ คนในพื้นที่เรียกว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย นับเป็นตัวอย่างโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ และอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่โดยรอบ

จังหวัดกำแพงเพชร เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ที่เป็นแหล่งการผลิตภาคการเกษตรขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีพืชเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกไม้โตเร็วในกลุ่มยูคาลิปตัส ทำให้ในแต่ละปีมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก

ด้วยศักยภาพดังกล่าว ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ ในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ถือเป็นพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังสร้างความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้ของคนในพื้นที่ ทำให้บริษัทเอกชนที่มีความพร้อม และมีเงินทุนจึงจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นในจังหวัดกำแพงเพชร โรงไฟฟ้าชีวมวล ของ บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด หรือที่คนในพื้นที่รู้จักกันในนาม โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย ได้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลมากว่า 8 ปีแล้ว พิสูจน์ให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล ทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด จะยังคงยึดมั่นในการประกอบกิจการที่ดีต่อไป

โรงไฟฟ้าชีวมวลพรานกระต่าย เกิดจากการร่วมทุน ระหว่าง บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ และ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือซิเมนต์ไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลคุยบ้านโอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ขนาดกำลังการผลิต 7.5 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2555

กว่า 8 ปี นับตั้งแต่เริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ โรงไฟฟ้าพรานกระต่าย ประสบความสำเร็จในด้านการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล และจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับชุมชนในพื้นที่ ด้วยการใช้เทคโนโลยี ที่ทันสมัยในกระบวนการผลิต ที่ลดการปล่อยของเสียออกจากพื้นที่โรงไฟฟ้า ทั้งฝุ่นละออง และน้ำเสีย

โรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทำให้มีแหล่งน้ำพอเพียง สำหรับการผลิตตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องรบกวนน้ำใช้เพื่อการเกษตร และไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกสู่ภายนอกโรงไฟฟ้า รวมทั้งยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 28,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

การรับซื้อใบอ้อยสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า มีแผนรับซื้อใบอ้อยในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ปี 2563/64 จำนวน 25,000 ตัน ช่วยลดพื้นที่ในการเผาใบอ้อยได้ถึง 25,000 ไร่ และยังเป็นส่วนสำคัญช่วยประเทศลดภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร

โรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง จากการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรม อีกทั้งยังไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จากการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ชุมชนบริเวณโดยรอบได้ประโยชน์จากการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นอกจากลดผลกระทบจากการเผาทิ้งแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าเป็นอย่างดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight