Environmental Sustainability

(คลิป) ปัญหาและอุปสรรคที่โรงไฟฟ้าชีวมวลต้องเผชิญ

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ จนได้รับการขนานนามจากทั่วโลกว่าเป็น “เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” ที่ต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่เข้มแข็ง มีการผลิตและส่งออกที่สามารถสร้างรายได้กลับเข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท

การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละฤดูกาลเพาะปลูก ประเทศไทยก็จะเผชิญกับปัญหาการเกิดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย ไม้ไผ่ ข้าวโพด รวมทั้งเศษวัสดุจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานทำตะเกียบ เป็นต้น ซึ่งเศษวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า พลังงานชีวมวล มีคุณสมบัติที่จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล

เชื้อเพลิงชีวมวลมีความสำคัญมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ตั้งเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 28,004 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2580 ในจำนวนนี้ มาจากเชื้อเพลิงชีวมวลถึง 4,694 เมกะวัตต์ คิดเป็น 17%

จากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ณ เดือนสิงหาคม 2563 มีจำนวนโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว กระจายอยู่ทั่วประเทศ 220 แห่ง กำลังการผลิตรวม 1,210 เมกะวัตต์ ดังนั้นหากจะให้เป็นไปตามแผน PDP 2018 จะทำให้เกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกมากในอนาคต

ข้อดีของโรงไฟฟ้าชีวมวลมีหลายด้าน ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลยังมีปัญหา และข้อจำกัดที่รอวันแก้ไข

ปัญหาใหญ่ที่โรงไฟฟ้าชีวมวลทุกแห่งต้องเผชิญ คือ การยอมรับจากชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้การยอมรับของชุมชนในพื้นที่โรงไฟฟ้ากลายเป็นปัจจัยสำคัญ หากชุมชนยอมรับ การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้ง และอยู่ร่วมกับชุมชนได้

การยอมรับของชุมชน ไม่เพียงแค่จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชน กับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ชุมชนยังมีบทบาทจัดหาเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าอีกด้วย

เพื่อให้โรงไฟฟ้าชีวมวลมีเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดลงกลางคันจากการขาดแคลนเชื้อเพลิง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องประเมินชีวมวลในพื้นที่ว่าเพียงพอหรือไม่ และป้อนโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่

ปัจจุบันพบว่าหลายแห่งเริ่มมีปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงมาก จนไม่สามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพราะประเมินแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวลผิดพลาด และยังเกี่ยวพันกับปัญหาแรก คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า หากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะทำให้ชุมชนสามารถจัดหา รวบรวมเชื้อเพลิงได้

ความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลว ของโรงไฟฟ้าชีวมวล นอกจากเรื่องการบริหารจัดการทั่วไป การมีส่วนร่วมของชุมชน และแหล่งเชื้อเพลิงที่มากพอ นับเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลจะไปต่อได้หรือไม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight