Environmental Sustainability

(คลิป) กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง กลไกสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงาน

“ไฟฟ้า” เป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องด้วยไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกักเก็บได้ ขณะเดียวกันความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาก็ไม่เท่ากัน และเพื่อให้ประชากรไทยทั้งประเทศ 66.56 ล้านคน (ปี 2562) มีไฟฟ้าใช้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา

ภาครัฐจึงต้องมีการศึกษา และวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้า เพื่อนำไปพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อให้รู้ข้อมูลว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นปริมาณเท่าใด

การจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือ Load Forecast จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการจัดทำแผนจัดหาไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ หรือ ที่รู้จักกันว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ซึ่งเป็นเครื่องมือวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าในระยะยาว 20 ปีของประเทศให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้หาก กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง มีความเหมาะสม ก็จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะหากมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินไป ซึ่งหมายถึงมีจำนวนโรงไฟฟ้ามากเกินไป เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า เนื่องจากค่าไฟฟ้าคิดรวมต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้าไปด้วย ดังนั้นการมี “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” ที่เหมาะสม จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve) ตามมาตรฐานสากล ยังแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้

1. กำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Standby Reserve) เป็นโรงไฟฟ้าสำรองตามแผนการผลิตไฟฟ้า โดยมาตรฐานสากลจะกำหนดไว้ราว 15% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด เนื่องจากในการวางแผนการผลิตไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบคอบอาทิ ความต้องการไฟฟ้าที่อาจเพิ่มสูงกว่าการพยากรณ์ การหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า การเสื่อมสภาพของโรงไฟฟ้า ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ข้อจำกัดของระบบส่งในแต่ละพื้นที่ และลักษณะทางเทคนิคของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท

2. กำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) เป็นกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ หรือสามารถสั่งเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าได้ทันที ที่ระบบมีความต้องการ ซึ่งตามมาตรฐานจะต้องมีจำนวน 800–1,600 เมกะวัตต์ หรืออย่างน้อยมากกว่ากำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้อง ที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ เช่น กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ ก็สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันที ป้องกันปัญหาไฟตกหรือดับ ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (Blackout) ได้

ดังนั้นการมี กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin: RM) ในแผน PDP ซึ่งเป็นแผนผลิตกำลังไฟฟ้าของประเทศทำให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ หรือ กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วก็ยังจะมีไฟฟ้าใช้ เพียงพอที่จะสนับสนุนการธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เอื้อให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนการแข่งขันในเวทีโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight