Environmental Sustainability

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร

โรงไฟฟ้าลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากจะเพิ่มความมั่นคงด้านกระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่แล้ว ชาวบ้านและชุมชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้า ยังได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่

โรงไฟฟ้าลานกระบือ ก่อตั้งเมื่อปี 2526 มีกำลังการผลิต 237 เมกะวัตต์ ใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร และได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2551 จัดเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าในอัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตในแต่ละเดือน

 

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ นี้มีกรรมการกองทุนเป็นผู้ดูแล โดยกรรมการมาจากผู้แทนที่มาจากการสรรหา เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ แบ่งเป็นผู้แทนภาคประชาชนตำบลละ 2 คน รวมทั้งหมด 12 คน กรรมการผู้แทนภาครัฐ 5 คน แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กรรมการผู้แทนโรงไฟฟ้า 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน ซึ่งมาจากการสรรหาร่วมกันของกรรมการผู้แทนภาคประชาชน กรรมการผู้แทนภาครัฐ และกรรมการผู้แทนโรงไฟฟ้า รวมกรรมการทั้งสิ้น 19 คน โดยกรรมการจะดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ

การจัดสรรเงินทุน กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ มีพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนครอบคลุมรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย ตำบลลานกระบือ ตำบลหนองหลวง ตำบลบึงทับแรด ตำบลช่องลม ตำบลโนนพลวง ในอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร และตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

สำหรับกรอบการใช้เงินกองทุนฯ มีกรรมการเป็นผู้ดูแล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสิ่งแวดล้อมในชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะแบ่งได้ดังนี้

1. การให้เงินอุดหนุนหรือเงินช่วยเหลือแก่ชุมชน ดังนี้

1.1 สนับสนุนการพัฒนาอาชีพ
1.2 สนับสนุนการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา และดนตรี
1.3 สนับสนุนการสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม
1.4 สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต
1.5 บรรเทาความเสียหายในเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุจากโรงไฟฟ้า
1.6 อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

2. ให้เงินสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

3. ให้เงินสนับสนุนการจัดทำผังเมืองรวมชุมชน

4. ให้เงินเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำแผนการพัฒนาชุมชน

5. ให้เงินเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

6. นำเงินหรือทรัพย์สินไปหาประโยชน์อย่างอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ

ในปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) อนุมัติแผนงานประจำปีภายใต้กรอบงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามที่กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร เสนอการจัดสรรเงินภายใต้งบประมาณรวม 1,201,000 บาท โดยอนุมัติสนับสนุนโครงการชุมชนที่มีงบประมาณไม่เกิน 300,000 บาทต่อโครงการ จำนวน 3 โครงการ งบประมาณรวม 561,000 บาท ได้แก่ โครงการติดตั้งเครื่องขยายเสียงเคลื่อนที่สนามกีฬาป้องกันยาเสพติด 1 โครงการ ใช้งบประมาณ 230,000 บาท โครงการจัดทำและติดตั้งซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เพื่อประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้งบประมาณ 110,000 บาท และโครงการขุดเจาะน้ำบาดาล บ้านปลักไม้ดำ ตำบลลานกระบือ ใช้งบประมาณ 221,000 บาท

ส่วนโครงการชุมชนที่มีงบประมาณสูงกว่า 300,000 บาท ต่อโครงการ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการขุดเจาะน้ำบาดาล ใช้งบประมาณ 490,000 บาท

สำหรับงบประมาณการบริหารจัดการ รวม 150,000 บาท โดยให้ คพรฟ. กำกับดูแลการเบิกจ่ายงบดำเนินการ

โครงการเหล่านี้เป็นตัวอย่างการใช้เงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า นอกจากจะช่วยเสริมสร้างให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือที่เข้มแข็งภายในชุมชนแล้ว ยังช่วยบรรเทาภาวะภัยแล้ง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งการมีแหล่งน้ำบาดาล จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และการประกอบอาชีพ ของชาวบ้านและเกษตรกรในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และมีความยั่งยืนมากขึ้น

ตัวอย่างความสำเร็จของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ผ่านการการันตีด้วย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โครงการชุมชนดีเด่นภาคเหนือ ในการประกวดกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและโครงการชุมชนในพื้นที่ประกาศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ

โครงการจัดซื้อเครื่องสีข้าวพร้อมเครื่องซีลสุญญากาศ ที่ปัจจุบันกลายเป็นโครงการตัวอย่างต้นแบบ พัฒนาประชาชนและพัฒนาอาชีพ ที่ทาง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดหวังว่า จะเป็นการนำรูปแบบโครงการนี้ไปขยายผลให้โครงการต่อ ๆ ไป

ผลสำเร็จของโครงการนี้ แรกเริ่มโรงสีตำบลหนองหลวง เป็นโรงสีข้าวที่สีได้เฉพาะข้าวขาว และเป็นข้าวรวมไม่สามารถแยกประเภทของข้าวได้ ทำให้ผลผลิตข้าวที่ปลูกได้ เมื่อนำเข้าสู่กระบวนการสี เพื่อแปรรูปเป็นข้าวขาว ยังไม่ได้รับการคัดแยก และดูแลกระบวนการสีที่มีคุณภาพก่อนนำไปจำหน่ายอย่างถูกวิธี

ทางกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จัดทำโครงการฯ เพื่อเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร และเมื่อคณะกรรมการกองทุนฯ ได้พิจารณาข้อเสนอ พบว่า มีการเสนอปัญหา และบทเรียน เป็นแนวทางที่ชัดเจน

อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ชุมชน คิดเองบริหารจัดการเอง ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เกิดความหวงแหน คิดที่จะพิจารณาต่อยอดโครงการของตัวเองให้เจริญก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ เป็นชุมชนต้นแบบ แข็งแรงชัดเจนในการแก้ไขปัญหาได้ ภายใต้แนวคิด “ลด เพิ่ม เติมความสุข” จึงอนุมัติงบประมาณสนับสนุนเพื่อให้โครงการให้บรรลุเป้าหมาย

สำหรับโครงการจัดซื้อเครื่องสีข้าว ได้รับงบประมาณ ประจำปี 2559 วงเงิน 546,600 บาท และหลังได้รับอนุมัติโครงการ และมีการติดตั้งเครื่องสีข้าว พร้อมกับเครื่องซีลสุญญากาศ ส่งผลให้เกษตรกรในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสีข้าวขาย และโรงสีแห่งนี้ ยังสามารถสีได้ทั้งข้าวขาว ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง และมีระบบคัดเมล็ด คัดกรวด เกษตรกรสามารถนำไปแยกข้าว จำหน่าย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตัวเองได้

อีกทั้ง ชาวบ้านยังลดต้นทุนกระบวนการแปรรูป ทำให้มีรายได้เพิ่ม และมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นหลังมีเครื่องสีข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะโครงการจัดซื้อเครื่องสีข้าว พร้อมเครื่องซีลสุญญากาศ ช่วยทำให้สามารถเก็บรักษาสินค้าได้นาน และการบรรจุสินค้าเก็บด้วยระบบสุญญากาศ ยังถนอมคุณภาพสินค้าแถมสร้างมูลค่าเพิ่มจากแพคเก็จจิ้งอีกด้วย ทำให้ปัญหาของชาวบ้านกลุ่มนี้ ได้รับการแก้ไข และมีโอกาสขายสินค้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ปัจจุบัน โรงสีชุมชนตำบลหนองหลวง อำเภอลานกระบือ กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งศึกษาดูงานฝึกอาชีพ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในตำบลหนองหลวง และตำบลใกล้เคียง อีกทั้งยังได้พัฒนาต่อยอดการเรียนรู้โดยส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวปลอดสารพิษ

นอกจากนี้ วัสดุ แกลบ ที่ได้จากโรงสีข้าวในตำบล ยังสามารถนำไปทำปุ๋ย และรำ เพื่อเป็นอาหารส่งให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในตำบล ทำให้ไม่ต้องไปหาวัตถุดิบจากต่างถิ่น

เรียกได้ว่า เป็นตัวอย่างของการใช้วัตถุดิบที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่นนำไปใช้หมุนเวียนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่สร้างความยั่งยืนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight