Environmental Sustainability

ปรับการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสู่ความยั่งยืน

“กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายใน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นไปตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ใน 6 วัตถุประสงค์ ดังนี้

การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

1. เพื่อชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือ เพื่อให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือ เพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

2. เพื่อการชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ระบบควบคุมระบบไฟฟ้า กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคสอง

3. เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

4. เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

5. เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนักและมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

6. เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน

การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

วัตถุประสงค์ 6 ด้าน ของเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

ตามมาตรา 97 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีการจัดสรรเงินตามวัตถุประสงค์ 6 ด้าน โดยจำแนกได้ดังนี้

กองทุนตามมาตรา 97(1) เพื่อชดเชยและอุดหนุนให้กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ในการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส ให้ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้ใช้ไฟฟ้าฟรี ซึ่งหมายถึงผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย และเพื่อให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล หรือในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งมีต้นทุนสูง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554

การชดเชยการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง ใช้งบประมาณปีละ 10,000-21,000 ล้านบาท ขณะที่การอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสใช้งบประมาณปีละ 2,100-3,600 ล้านบาท

กองทุนตามมาตรา 97(2) เพื่อชดเชยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า สั่งให้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม และเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยเริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2554 และเริ่มจัดสรรในปี 2555

กองทุนตามมาตรา 97(3) เพื่อพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ที่ได้รับกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีการจัดประเภทกองทุนขึ้นกับขนาดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า

เมื่อสิ้นปี 2563 มีกองทุนขนาดใหญ่ จำนวน 13 กองทุน กองทุนขนาดกลาง จำนวน 73 กองทุน และกองทุนขนาดเล็ก จำนวน 408 กองทุน ซึ่งในแต่ละปีมีการนำส่งเงินเข้ากองทุนทุกประเภทกว่า 2,000 ล้านบาท

กองทุนตามมาตรา 97(4) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในกิจการไฟฟ้า ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งในแต่ละปีมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนนี้ประมาณ 900 ล้านบาท โดยเริ่มจัดเก็บตั้งแต่ปี 2558 และเริ่มจัดสรรในปี 2560

กองทุนตามมาตรา 97(5) เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนักและมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า โดยในแต่ละปีจัดเก็บเงินเข้ากองทุนประมาณ 350 ล้านบาท เริ่มจัดเก็บตั้งแต่ปี 2558 และเริ่มจัดสรรในปี 2560

กองทุนตามมาตรา 97(6) เป็นเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยสำรองเงินกรณีฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงฟ้า และสนับสนุนท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งในแต่ละปีมีการจัดเก็บประมาณ 100 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินงาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(3) ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ได้สนับสนุนโครงการต่าง ๆ สร้างประโยชน์เข้าสู่ท้องถิ่นในหลายมิติ โดยในแต่ละปี มีการเรียกเก็บเงินกองทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี และเริ่มจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2555

แต่การดำเนินงานดังกล่าวยังพบปัญหาและอุปสรรค ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการจริง เช่น การอนุมัติโครงการเป็นลักษณะรวมศูนย์ หลายขั้นตอน อีกทั้งมีการทับซ้อนกันของผลประโยชน์ และเกิดความขัดแย้งกันในบางพื้นที่ รวมถึงยังมีแผนงานซ้ำซ้อนโครงการส่วนใหญ่ตอบสนองความต้องการระยะสั้น ยังไม่อาจสร้างประโยชน์การพัฒนาที่ชัดเจน และการกำหนดพื้นที่ประกาศกว้างเกินไป ไม่สะท้อนถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าอย่างแท้จริง

การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สู่ความยั่งยืน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินผลโครงการต่าง ๆ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่าย มาปรับปรุงการบริหารจัดการ และการดำเนินงานโครงการของ การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(3) ให้โปร่งใส และเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินแผนงานต่าง ๆ ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาลง เพื่อให้เม็ดเงินได้ถูกอัดฉีดผ่านชุมชนอย่างรวดเร็ว โดยพบปัญหาการดำเนินงาน คือ

1. การบริหารงานรวมศูนย์หลายขั้นตอน บางพื้นที่เกิดการทับซ้อนผลประโยชน์ และเกิดความขัดแย้ง

2. โครงการที่ผ่านมามุ่งตอบสนองความต้องการระยะสั้น และยังไม่อาจสร้างผลประโยชน์การพัฒนาที่ชัดเจน จึงต้องปรับแผนงานให้ชัดเจนและมีความยั่งยืน

3. กำหนดพื้นที่ประกาศกว้างเกินไป

กกพ. มีเป้าหมายด้านนโยบายเพื่อการปรับปรุง โดยการดำเนินการภายใต้หลักการกระจายอำนาจการพิจารณาลงสู่พื้นที่ การกำหนดแนวทางและแผนงานที่สนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ชัดเจนในการพื้นฟู นอกจากนี้ เพิ่มธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

สำหรับแนวทางการปรับปรุงการบริหารจัดการและการดำเนินโครงการชุมชน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(3) ได้ดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. ปรับประเภทกองทุนขนาดกลาง และ กองทุนขนาดเล็ก เนื่องจากงบประมาณในการบริหารจัดการกองทุนขนาดกลาง ที่มีขนาดเล็กไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงได้ปรับขอบเขตของเงินนำส่งกองทุนขนาดเล็ก จาก 1 ล้านบาทต่อปี เป็น 3 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้กองทุนขนาดกลาง ที่มีขนาดเล็ก ถูกปรับเป็น กองทุนขนาดเล็ก ทั้งสิ้น 30 กองทุน ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำงบประมาณในการบริหารจัดการไปจัดทำโครงการชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น

2. ปรับการบริหารจัดการกองทุนขนาดเล็ก เพื่อให้เสนอและดำเนินโครงการได้เร็วขึ้น มีการพัฒนาที่ชัดเจน ลดความขัดแย้งผู้แทนกองทุนขนาดเล็ก โดยได้ยกเลิกผู้แทนกองทุนขนาดเล็ก และจัดสรรเงินตรงไปที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ประกาศ โดยให้ อปท. ดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาท้องถิ่น ปรับแผนงานโครงการที่สนับสนุนเป็น 3 แผน

3. ปรับการบริหารจัดการกองทุนขนาดใหญ่ และ กองทุนขนาดกลาง เพื่อให้ลดขั้นตอน ยกเลิกการรวมศูนย์โดยการกระจาย อำนาจการพิจารณา ให้คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) ซึ่งจะทำให้ในพื้นที่ มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยปรับปรุงขอบเขตการใช้เงิน

ด้วยการจัดกลุ่มใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้นจาก 11 แผนเหลือ 7 แผน ได้แก่ แผนสาธารณสุข แผนการศึกษา แผนเศรษฐกิจชุมชน แผนสิ่งแวดล้อม แผนสาธารณูปโภค แผนพลังงานชุมชน และ แผนงานอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน มีกรอบวงเงินไม่เกิน 15% และไม่เกิน 25 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยรองรับโครงการชุมชนที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามแผนงานหลัก

นอกจากนี้ยังได้ปรับหน่วยดำเนินการ จากเดิมที่หน่วยดำเนินโครงการชุมชน จะประกอบด้วยตัวแทน 5 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ นิติบุคคล มูลนิธิ คพรฟ. และกลุ่มบุคคล โดยได้ปรับลดออกไป 2 หน่วยงาน คือ คพรฟ. และกลุ่มบุคคล

ในส่วนของกลุ่มบุคคล 3 คน ให้เป็นรูปแบบของนิติบุคคลที่มีการรวมกันของกลุ่มบุคคล เช่น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และมูลนิธิ โดยวางเป้าหมายจะยกเลิกการดำเนินโครงการโดยกลุ่มบุคคล 3 คนให้หมดไปในปีงบประมาณ 2565

ดังนั้นหน่วยดำเนินโครงการชุมชน ในรูปแบบกลุ่มบุคคล 3 คน จะดำเนินการได้เฉพาะปีงบประมาณ 2564 ดังนี้ ดำเนินการได้เฉพาะแผนงานที่ 7 อยู่ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทต่อโครงการ ต้องได้รับการรับรองจาก คพรฟ. หรือ คพรต. หรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่าได้มีการดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล อนุญาตให้บุคคลหนึ่ง ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างพัสดุได้ไม่เกิน 3 โครงการต่อปี และให้กองทุนจ่ายเงินตรงให้กับผู้รับจ้างหรือร้านค้าที่เป็นคู่สัญญา

อีกทั้งได้กระจายอำนาจให้ คพรฟ. สามารถพิจารณาอนุมัติโครงการตามแผนงานทั้ง 7 แผน ที่กำหนด และดำเนินการแจ้ง กกพ. เพื่อทราบ ให้ คพรฟ. บันทึกข้อมูลผ่านระบบ พร้อมทั้งแจ้งแผนการใช้จ่ายเงินเพื่อให้ สำนักงาน กกพ. โอนเงินตามแผนการใช้จ่าย และให้ คพรฟ. สามารถพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกโครงการ และดำเนินการแจ้ง กกพ. เพื่อทราบ ซึ่งการกระจายอำนาจ และเพิ่มอำนาจการพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกโครงการชุมชน ที่ดำเนินการควบคู่กับการตรวจสอบความซ้ำซ้อน และการพัฒนาในภาพรวมของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหน่วยราชการที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่ จะช่วยให้การพิจารณาโครงการมีความคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้น และไม่ต้องกลับมาสู่ชั้นของการพิจารณาจาก กกพ. ในส่วนกลางอีก

ขณะเดียวกัน ยังปรับองค์ประกอบ คพรฟ. โดยเพิ่มผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับ 6 แผนงานหลัก ปรับจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิเป็น 1 คนต่อกองทุน ปรับให้ผู้แทนสำนักงาน กกพ. เป็นที่ปรึกษากองทุน ให้ประธาน คพรฟ. เลือก 1 คน ทำหน้าที่เลขานุการกองทุน และให้ผู้แทนโรงไฟฟ้าทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งการเพิ่มผู้แทนภาครัฐในแผนงานหลักเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า(คพรฟ.) โดยคงสัดส่วนจำนวนกรรมการจากภาคประชาชน เป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ไว้ตามเดิม

4. การปรับปรุงพื้นที่ประกาศ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ประกาศใหญ่เกินจริง และไม่สะท้อนถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยแนวทางในการปรับปรุงให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ประกาศ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่จัดตั้งใหม่ กำหนดให้ใช้พื้นที่ประกาศเป็นขอบเขตระดับหมู่บ้าน และประกาศพื้นที่เพิ่มเติมได้ตามข้อมูลการศึกษาผลกระทบ

ทั้งนี้ให้บังคับใช้เกณฑ์การประกาศพื้นที่กองทุนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าใหม่เฉพาะกองทุนที่จัดตั้งหลังจากหลักเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้เป็นต้น โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนฯ ใหม่นี้ เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การจัดสรรเงินงบประมาณประจำปี 2563 ที่ กกพ. ได้อนุมัติเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ หรือเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) เป็นจำนวนกว่า 2,800 ล้านบาท

กกพ. วางเป้าหมายส่งเสริมมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และลดผลกระทบทางสังคมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เม็ดเงินดังกล่าวถูกผลักดันไปสร้างประโยชน์ และเกิดการจ้างงานตรงในท้องถิ่นให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight