Environmental Sustainability

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลผลิตไฟฟ้าจาก ‘ปาล์มน้ำมัน’

“ปาล์มน้ำมัน” เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศไทย โดยผลผลิตปาล์มน้ำมัน ที่ได้จะเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเป็นน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาการ และยังนำไปผลิตให้บริสุทธิ์เป็น น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% หรือ B100 ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล สำหรับใช้ในยานยนต์ ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นใช้เองภายในประเทศ ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว อีกทั้งเศษวัสดุการเกษตรที่ได้จากการสกัดน้ำมันปาล์ม ก็ยังเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่สำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย

ประเทศไทยได้เริ่มนำปาล์มเข้ามาปลูกครั้งแรกในปี 2480 เป็นพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย จากนั้นจึงได้ขยายพื้นที่การปลูกอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นในปี 2515

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'ปาล์มน้ำมัน'

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสำหรับประชาชนชาวไทยที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2526 ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ โดยทรงมีพระประสงค์ให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก ก่อนที่ปาล์มน้ำมันจะถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาประเทศ

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยสามารถผลิตปาล์มน้ำมัน ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย

ในปี 2562 มีการปลูกปาล์มน้ำมันในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ที่มีมากที่สุด คือ ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ยังมีภูมิภาคอื่นที่เหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมัน คือ ในภาคกลาง 5 จังหวัด และภาคตะวันออก 7 จังหวัด

พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทยมีประมาณ 5.45 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 16.80 ล้านตัน โดยภาคใต้เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด 4.74 ล้านไร่ หรือ 90.8% ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ ให้ผลผลิต 15.25 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 0.49 ล้านไร่ คิดเป็น 7.5% ให้ผลผลิต 1.26 ล้านตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.13 ล้านไร่ คิดเป็น 1.1% ให้ผลผลิต 0.19 ล้านตัน และภาคเหนือ 0.08 ล้านไร่ คิดเป็น 0.6% ให้ผลผลิต 0.09 ล้านตัน

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'ปาล์มน้ำมัน'

ทั้งนี้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตลอดปี ช่วงเวลาที่มีผลปาล์มออกสู่ตลาดมาก มีอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงต้นปีราว เดือนมีนาคม–พฤษภาคม และช่วงปลายปีราว เดือนกันยายน–พฤศจิกายน ซึ่งปาล์มน้ำมันเริ่มให้ผล เมื่อมีอายุประมาณ 3.5-4 ปี และให้ผลสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 8-12 ปี หลังจากนั้นผลผลิตค่อย ๆ ลดลง แต่ยังมีความคุ้มค่าในการลงทุนจนถึงอายุประมาณ 25 ปี

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ‘ปาล์มน้ำมัน’ ในการผลิตไฟฟ้า

ด้วยศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ทำให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต และแปรรูปในปริมาณมาก ที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และชีวมวลได้

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ศึกษา พัฒนา และปรับปรุงระบบฐานข้อมูลศักยภาพพลังงานชีวมวลในปี 2556-2567 พบว่า ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล ‘ปาล์มน้ำมัน’ จากการที่ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มถึง 4.6 ล้านไร่ ทำให้เกิดเศษวัสดุที่ได้จากการเก็บเกี่ยวและแปรรูปปาล์มน้ำมันที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลมีอยู่ทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่

1. ใบและทางปาล์ม ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เก็บเกี่ยวหรือสวนปาล์มน้ำมัน
2. ลำต้นปาล์ม ที่เกิดในพื้นที่โค่นต้นปาล์ม
3. ทะลายปาล์มเปล่า (Empty Fruit Bunch: EFB) ที่เกิดขึ้นในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
4. เส้นใยปาล์ม ที่เกิดขึ้นในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
5. กะลาปาล์ม ที่เกิดขึ้นในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม

ศักยภาพพลังงานชีวมวลจากปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน และมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมากที่สุดในประเทศ ซึ่งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจะได้ทะลายปาล์มเปล่า เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต และสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานทดแทน ทั้งไฟฟ้าและความร้อน หรือพลังงานความร้อนร่วมได้

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'ปาล์มน้ำมัน'

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ประเมินศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากทะลายปาล์ม ตามเป้าหมายของ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558–2579 คาดว่า ในปี 2569 จะมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากทะลายปาล์มเปล่า เท่ากับ 217.4 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ราว 1.7 เท่า และในปี 2579 จะมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากทะลายปาล์มเปล่าเท่ากับ 299.2 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ราว 2.4 เท่า

พื้นที่จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา และตรัง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากทะลายปาล์มเปล่า เนื่องจากมีค่าผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3,000 กก./ไร่ และมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มตั้งกระจายอยู่ในพื้นที่

ปัจจุบัน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (AEDP 2018) ได้จัดทำฐานข้อมูลชีวมวลคงเหลือ ที่มีความเป็นไปได้ในการนาไปใช้เป็นพลังงาน ปี 2560 พบว่า

ทะลายปาล์ม มีปริมาณชีวมวลที่เกิดขึ้น 298,036 ตัน/ปี เป็นชีวมวลที่ถูกนำไปใช้แล้วในภาคเกษตรกรรม 101,887 ตัน/ปี ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมแล้ว 187,868 ตัน/ปี มีปริมาณชีวมวลคงเหลือ 8,281 ตัน/ปี

ใยปาล์ม มีปริมาณชีวมวลที่เกิดขึ้น 196,195 ตัน/ปี เป็นชีวมวลที่ถูกนำไปใช้แล้วในภาคเกษตรกรรม 77,117 ตัน/ปี ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมแล้ว 112,810 ตัน/ปี มีปริมาณชีวมวลคงเหลือ 6,268 ตัน/ปี

ศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวล 'ปาล์มน้ำมัน'

กะลาปาล์ม มีปริมาณชีวมวลที่เกิดขึ้น 83,870 ตัน/ปี เป็นชีวมวลที่ถูกนำไปใช้แล้วในภาคเกษตรกรรม 29,766 ตัน/ปี ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมแล้ว 51,684 ตัน/ปี มีปริมาณชีวมวลคงเหลือ 2,419 ตัน/ปี

ทางปาล์ม มีปริมาณชีวมวลที่เกิดขึ้น 357,741 ตัน/ปี ยังมีปริมาณชีวมวลคงเหลือ 357,741 ตัน/ปี

ลำต้น มีปริมาณชีวมวลที่เกิดขึ้น 30,155,059 ตัน/ปี ยังมีปริมาณชีวมวลคงเหลือ 30,155,059 ตัน/ปี

ปาล์มน้ำมัน ยังเป็นพืชที่มีศักยภาพ นำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการปลูกปาล์ม และโรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์มมากที่สุด แต่การจัดตั้งโรงไฟฟ้ายังจำเป็นต้องประเมินศักยภาพในการรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ที่เกิดขึ้นให้เพียงพอ อีกทั้งในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดจำนวนมากจนนำไปสู่ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

แนวทางแก้ไขปัญหา โดยการนำน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ไปผลิตเป็น ไบโอดีเซล หรือ B100 ใช้กับรถยนต์ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลประกาศให้ B10 เป็นดีเซลพื้นฐาน น่าจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับราคาน้ำมันปาล์มได้ดีขึ้น เศษวัสดุส่วนที่เหลือก็มักจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลจากปาล์ม มาเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

ทั้ง 2 แนวทาง นับเป็นการใช้ Bio-Energy ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดภาวะโลกร้อน ปาล์มน้ำมัน นับว่ามีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าแม้จะไม่ใช่เชื้อเพลิงหลัก เนื่องจากมีต้นทุนสูงหากเทียบกับเชื้อเพลิงชีวมวลประเภทอื่น ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight