Environmental Sustainability

ชีวมวลกับความมั่นคงพลังงานไทย

ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามจากทั่วโลกว่าเป็น “เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” ด้วยการเป็นฐานเกษตรกรรม ที่ต่อ ยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่เข้มแข็ง มีการผลิตและส่งออกพืชผักและผลไม้ สร้างรายได้กลับเข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท

เมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละฤดูกาลเพาะปลูก ประเทศไทยก็จะเผชิญกับปัญหา การเกิดเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวพืชไร่ เช่น ข้าว อ้อย ไม้ไผ่ ข้าวโพด รวมทั้งเศษวัสดุจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานทำตะเกียบ เป็นต้น ซึ่งเศษวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า พลังงานชีวมวล มีคุณสมบัติที่จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล

พลังงานชีวมวล

ปัจจุบันชีวมวลเหล่านี้มีทั้งที่ขายและเผาทิ้ง เนื่องจากเก็บรวบรวมได้ยากและค่าขนส่งแพง ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันเกิดปัญหาวิกฤตหมอกควันปกคลุม และเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร

การเผาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง เพราะการเผาในพื้นที่การเกษตรยังเป็นการทำลายโครงสร้าง และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ภาครัฐสนับสนุนการใช้ พลังงานชีวมวล

ภาครัฐจึงพยายามสนับสนุนการใช้พลังงานชีวมวล การนำเศษวัสดุการเกษตรมาทำประโยชน์ เพิ่มมูลค่าทดแทนการเผา โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญก็คือ การส่งเสริมใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตกระแสไฟฟ้า และชีวมวลมีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในพลังงานหลักของประเทศไทยที่มาจากพืชพลังงาน เพราะโรงไฟฟ้าชีวมวล สามารถเป็นโรงไฟฟ้าฐาน (Base Load Plant) ได้ เนื่องจากสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมยังไม่สามารถทำได้ เพราะลมกับแดดไม่ได้มีตลอดเวลา

ดังนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวลจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยสร้างพืชพลังงานให้กลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจ ที่สามารถแก้ปัญหา และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

พลังงานชีวมวล

ชีวมวลปริมาณมหาศาลในแต่ละปี

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ประเมินศักยภาพชีวมวลจากเศษวัสดุทางการเกษตรภายในประเทศ ปี 2561 โดยแบ่งออกเป็น ชีวมวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และชีวมวลที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่เพาะปลูก ดังนี้

1. ชีวมวลที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น กากอ้อยจากอุตสาหกรรมน้ำตาล แกลบจากโรงสีข้าว ใยปาล์มและทะลายปาล์มเปล่า ที่ได้จากอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อผลิตพลังงาน หรือ จำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงแล้วเกือบทั้งหมด เช่น กากอ้อยถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า และไอน้ำในอุตสาหกรรมน้ำตาล หรือ แกลบที่เกิดขึ้นในโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ถูกจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าชีวมวลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

2. ชีวมวลที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่เพาะปลูก จะเกิดจากชีวมวลส่วนที่เหลือ ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร ได้แก่ เหง้ามันสำปะหลัง ฟางข้าว ยอดและใบอ้อย ตอและรากไม้ยางพารา เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้ไม่นิยมนำมาผลิตพลังงาน เนื่องจากมีต้นทุนสูงในการรวบรวม และขนส่งจากพื้นที่เพาะปลูกไปยังสถานที่ใช้งานที่อยู่ห่างไกล ชีวมวลเหล่านี้จึงมักถูกทิ้งไว้ในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นสารปรับปรุงดิน หรือถูกเผาทำลายในพื้นที่เพาะปลูก

ตาม แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ประเมินว่าในแต่ละปี มีชีวมวลเกิดขึ้นในประเทศจำนวนมหาศาลจากภาคเกษตร รวม 296.34 ล้านตัน แต่ในจำนวนนี้ มีการนำไปใช้ในภาคเกษตร 18.2 ล้านตัน และภาคอุตสาหกรรม 118.34 ล้านตัน ซึ่งยังเหลือชีวมวลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ผลิตไฟฟ้าได้ 159.8 ล้านตัน

จุดเด่นและข้อจำกัดของโรงฟ้าชีวมวล

โรงไฟฟ้าชีวมวลถือเป็นพลังงานทดแทน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ ชุมชน และสภาพแวดล้อม แต่ก็มีข้อจำกัดหลายด้าน และมีผลเสียตามมาหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ

พลังงานชีวมวล

จุดเด่นของ โรงไฟฟ้าชีวมวล

1. เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เนื่องจากมีปริมาณกำมะถันต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่นมาก

2. เชื้อเพลิงที่ได้มาจะมีราคาค่อนข้างถูก เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้เป็นวัตถุดิบจากเศษ หรือกากเหลือจากการเกษตร ทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ

3. การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีต้นทุนในการก่อสร้างที่ต่ำกว่า หากเทียบกับการลงทุนก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าประเภทอื่น

4. เป็นการลดปริมาณเศษวัสดุการเกษตรที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงยังเอาเศษวัสดุการเกษตรที่ว่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

5. เป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของไทยให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถใช้ผลผลิตส่วนที่เหลือจากการเกษตรมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า

6. เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้คุ้มค่าอย่างมาก

ข้อจำกัดของ โรงไฟฟ้าชีวมวล

1. อาจเกิดมลภาวะต่อชุมชนรอบข้าง หากไม่มีการควบคุมมาตรฐานที่ดี

2. อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อใช้ผลิตอาหาร หากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากเกินไป จะมีการเพาะปลูกพืชพลังงานมากเกินไป

3. เศษวัสดุจากพืชผลทางการเกษตรมีปริมาณไม่สม่ำเสมอ ขึ้นกับฤดูกาลและการเพาะปลูกของเกษตรกร

4. เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชพลังงาน

5. เศษวัสดุบางประเภท จัดเก็บไว้ได้ไม่นาน

พลังงานชีวมวล

ปัจจุบัน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018 Rev.1) ยังคงส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยกำหนด เป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล รวม 4,694 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่กำหนดไว้ที่ 2,242 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าชีวมวลถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ในการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ และยังลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ จากต่างประเทศเพื่อผลิตไฟฟ้า ที่ประเทศไทยต้องจ่ายเงินออกนอกประเทศ ปีละเกือบหนึ่งล้านล้านบาท

ตลอดจนเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ที่หันมาปลูกพืชพลังงาน ทดแทนการปลูกพืชแบบดั้งเดิม ซึ่งจะลดความเสี่ยงของภาครัฐ ที่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนราคาผลผลิตทางการเกษตรเกือบทุกปี ปีละหลักหมื่นล้านบาท ถึงหลักแสนล้านบาท ในบางปีที่ราคาพืชผลตกต่ำ จากความผันผวนด้านราคาของผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลก

แม้ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล มีความเสี่ยงในเรื่องของเศษวัสดุทางการเกษตร ที่มีความไม่แน่นอน และบางพื้นที่อาจมีไม่เพียงพอ แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นพลังงานทดแทนที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight