Environmental Sustainability

‘ชุมชน’ ขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ชาวบ้านขอมีส่วนร่วม-ผู้ประกอบการจริงใจ

เวทีสัมมนาโครงการไฟฟ้าสีเขียวครั้งแรก ที่จังหวัดนครราชสีมา “ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน-ตัวแทนชุมชน” ขานรับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน หนุนโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่ขอให้ชุมชนมีส่วนร่วม ผู้ประกอบการมีความจริงใจที่จะร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำนักข่าว The Bangkok Insight หนึ่งในผู้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) พ.ศ. 2563 จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  เพื่อดำเนินโครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” ภายใต้แนวคิด “CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” เป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด การสร้างการจดจำ ให้กับภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ในการใช้พลังงานสะอาด สร้างการตระหนักรู้ ในคุณค่าของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ที่ทุกคนเข้า ถึงได้

ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564  สำนักข่าว The Bangkok Insight ได้จัดสัมมนาขึ้นครั้งที่ 1 ที่จังหวัดนครราชสีมา ในหัวข้อ “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” ภายใต้โครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” สร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน โดยมี นางสาวชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) เป็นประธานเปิดการสัมมนา บนเวทีสัมมนา ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ขอให้ชุมชนมีส่วนร่วม ผู้ประกอบการมีความจริงใจที่จะร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในการสัมมนาครั้งนี้ ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล มีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาประมาณ 200 คน มาจากเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เครือข่ายเกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากผู้ประกอบการ อาจารย์ นักวิชาการและนักศึกษา

โดยมีวิทยากรผู้เข้าร่วมสัมมนา เสวนามุมมองในเรื่อง “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” ประกอบด้วย นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยด้านพลังงาน ผศ.ดร.ปรีชา ศรีประภาคาร อุปนายกสมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายทวีสุข นามวงษา ผู้ชำนาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) และนายอุทัย อัตถาพร ผู้แทนภาคประชาสังคม จังหวัดนครราชสีมา

สร้างความเข้าใจ พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล

นางสาวชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) กล่าวเปิดการ สัมมนา “โครงการไฟฟ้าสีเขียว (Green Station) สร้างความรู้ สร้างเครือข่าย เพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 1 ที่ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่าโดยโครงการดังกล่าว เป็น 1 ใน 26 โครงการผู้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ปีงบประมาณ 2563

ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล
นางสาวชฎารัตน์ สุนทรเกตุ

โดยทั้ง 26 โครงการ จะร่วมกันขับเคลื่อนการสื่อสารภายใต้แนวคิด “CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG7 ของสหประชาชาติ และสำหรับ โครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ Green Station จะสื่อสารประเด็นหลัก คือประเด็น “พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล หรือ Biomass”

สำหรับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจัดตั้งขึ้นภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยมี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแล ภายใต้กรอบนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีภารกิจสำคัญอย่างหนึ่ง คือ เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชน ให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าโดยโครงการฯ ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจใน ข้อมูล ข้อเท็จจริงในเรื่อง พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล การดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ถูกต้อง เหมาะสม รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการร่วมกันสอดส่องดูแลโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตนเอง

3 สิ่งที่ต้องคำนึงเกี่ยวกับพลังงาน

อย่างไรก็ตาม บนเวทีสัมมนาในหัวข้อ “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” การที่ ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ครั้งนี้นับเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่เตรียมผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนสามารถมีโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าชีวภาพ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยเป็นโครงการนำร่องกำลังผลิตรวม 150 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ

ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล
นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด

นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยด้านพลังงาน กล่าวว่าโครงการไฟฟ้าสีเขียว เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นเทรนด์ของโลกที่มีความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเรื่องพลังงาน ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวมาก

“ปัจจุบันใกล้ตัวมาก สาระสำคัญอันดับหนึ่ง คือ เราจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่างไร ภายในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มีการพูดถึงเรื่องความมั่นคง ทราบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พลังงานจำเป็นต้องมีความมั่นคง”

นายกษิดิ์เดชธนทัต กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปเห็นความสำคัญในเรื่องพลังงานใน 3 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก พลังงานต้องมีเพิ่มขึ้น มีความจำเป็น และต้องมีความมั่นคง

ประเด็นที่สอง ต้องเป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องขายไฟฟ้าอย่างเดียว โรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้กับประชาชนต้องมีความเป็นธรรมด้วย เทคโนโลยีที่ใช้ต้องสะอาด และเป็นสีเขียว เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งสีเขียวคือความเป็นธรรมด้วย

ประเด็นที่สาม การผลิตพลังงานเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

“กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน ในวันนี้จะสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นที่ไหนก็มีปัญหา ทุกที่มีปัญหาหมด ในวันนี้ทำไมพูดถึงชีวมวล เพราะประเทศไทยถือว่าโชคดี มีต้นไม้และเกษตรกรเยอะ แต่ปัจจุบันโรงไฟฟ้ามันถูกแยกส่วนจากชุมชน ดังนั้นโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นใหม่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วม อย่าให้มีความรู้สึกว่าโรงไฟฟ้าเป็นของนายทุน หรือของใครก็ไม่รู้ โรงฟ้าชีวมวลนับว่าเหมาะที่สุด ชุมชนมีรายได้จากขายเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า”

แนะเร่งแก้ปัญหาสายส่งเต็ม

ผศ.ดร.ปรีชา ศรีประภาคาร อุปนายกสมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าเชื้อเพลิงชีวมวลมีหลายประเภท อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าชีวมวลจะเอาไปใช้ทำอะไร ซึ่งศักยภาพโรงไฟฟ้าชีมวลในภาคอีสาน มีพอสมควร แต่ลักษณะขับเคลื่อนเป็นของภาคเอกชน

ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล
ผศ.ดร.ปรีชา ศรีประภาคาร

ผศ.ดร.ปรีชา กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญมาจาก ข้อจำกัดของภาครัฐ คือ สายส่ง ในบางพื้นที่สายส่งเต็ม แต่ในพื้นที่มีชุมชน และมีนักลงทุนพร้อมดำเนินการ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ แต่สายส่งไม่เอื้อให้เกิดขึ้น

“ต้องเข้าใจก่อนว่าพลังงาน คือ ธุรกิจ แต่ภาครัฐเป็นอุปสรรคหลัก ดังนั้นต้องแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย ภาพตรงนี้คือภาครัฐต้องวางนโยบายเสริมให้มันออกมากับโรงไฟฟ้าสีเขียวอย่างจริงจัง ขอย้ำว่าอย่างจริงจัง”

การที่ ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล นั้นอุปสรรคสำคัญประการที่สอง คือ ลักษณะของการขับเคลื่อนภาคประชาชน องค์ความรู้ และแผนธุรกิจก็มีความสำคัญ ดังนั้นกรอบนโยบายที่ออกมา ต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสม และยืดหยุ่นให้เข้ากับแต่ละพื้นที่

“ผมมองไปที่คน ไม่ได้มองที่เทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีการแปรรูปพลังงานมีหลายรูปแบบมาก และมีพัฒนาการมาก เทคโนโลยีมีหมด ผมมองข้ามเรื่องเทคโนโลยี แต่ไปดูเรื่องคน ถ้าประชาชนมีความเข้าใจ เข้าถึง รู้เท่าทัน ก็จะทำให้ขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนไปได้”

โรงไฟฟ้าชุมชน ต้องการให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ

นายทวีสุข นามวงษา ผู้ชำนาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) กล่าวว่าโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ในปัจจุบันเกิดขึ้นยากมาก มักจะเกิดการต่อต้านจากชุมชน ดังนั้น โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ทาง กระทรวงพลังงาน อยากให้ ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ด้วย

ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล
​นายทวีสุข นามวงษา

ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีโรงไฟฟ้าชีมวล 11 แห่ง กำลังผลิตรวมประมาณ 290 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่เอกชนเท่านั้น โดยใช้ชานอ้อย โรงสีต่าง ๆ ที่มีแกลบ เป็นเชื้อเพลิง

สำหรับบทบาทของ สำนักงาน กกพ. ในการกำกับดูแล ตั้งแต่ก่อนโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้น ทางผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อม การทำประชาพิจารณ์ ให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับ มีการรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า

การก่อสร้างโรงไฟฟ้า จะมีขั้นตอนดำเนินการ 2 ช่วง คือ ก่อนก่อสร้างต้องไปดูก่อนว่าสายส่งว่างพอหรือไม่ มีเชื้อเพลิงเพียงพอในพื้นที่หรือไม่ ชุมชนยอมรับหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนประกอบ ที่ต้องยื่นขอในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

​กระบวนการต่าง ๆ ในการรับฟังความคิดเห็น หากขนาดไม่เกิน 4 เมกะวัตต์ จะต้องประเมินสิ่งแวดล้อม โดยต้องมีประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Practice: COP) ระดับน้อง ๆ EIA หากโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 4 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำก่อนสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งหลังจากได้ใบอนุญาตครบถ้วนแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

“แต่ยังไม่จบ เมื่ออยู่ระหว่างการก่อสร้าง ต้องรายงานทุก 3 เดือน หลังจากดำเนินงานผลิตไฟฟ้าขาย ต้องรายงานทุก 6 เดือน ในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีค่าเท่าไร สำนักงาน กกพ. จะเข้าไปตรวจสอบทุก 6 เดือน ว่าอยู่ในมาตรฐานหรือไม่”

​ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ชุมชนไหนสนใจเตรียมตัวได้

​นายทวีสุข กล่าวว่าโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะเกิดขึ้นใหม่ คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะประกาศเกณฑ์การรับซื้อในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งชุมชนไหนสนใจจะสร้างต้องเตรียมตัวได้แล้ว ต้องรวมกลุ่มกันไม่น้อยกว่า 200 คน ต้องดูเรื่องพื้นที่เพาะปลูก หรือจัดหาเชื้อเพลิง ชุมชนจะเข้ามาถือหุ้น 10% อีกทั้งโรงไฟฟ้าต้องซื้อเชื้อเพลิงจากชุมชนไม่น้อยกว่า 80% ชุมขนต้องเตรียมว่าจะมีเชื้อเพลิงอะไรขาย

​สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นเชื้อเพลิงจากชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ ซึ่งการคัดเลือก ทางสำนักงาน กกพ. จะพิจารณาความพร้อมด้านเชื้อเพลิง เงินทุน เทคโนโลยี สายส่ง ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาดำเนินงาน รวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนถูกต้อง

ภาคประชาสังคมเสนอ 6 ข้อ

นายอุทัย อัตถาพร ผู้แทนภาคประชาสังคม จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่ามี 3 ประเด็น ไปถามชาวบ้านว่า รู้เรื่องชีวมวลหรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบเหมือนกัน “ไม่รู้” และเมื่อถาม ชาวบ้านยอมรับไหม ส่วนใหญ่ก็ตอบว่า “ไม่เอา” เพราะไม่รู้ ถ้าโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้น อันดับแรกต้องรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ อันที่สองควรพูดให้ชัด ผลลัพธ์ ผลดี ผลเสีย เกิดขึ้นอย่างไร หากมีข้อเสียก็บอกกันตรง ๆ แล้วจะแก้อย่างไร เพียงขอแต่ว่าให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม แล้วชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่เอา แต่หากสร้างแล้ว มีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีชาวบ้านถือหุ้น 10% ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ มีกองทุนดูแลสุขภาพ กองทุนพัฒนาชุมชน ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา

15 1
​นายอุทัย อัตถาพร

​นายอุทัยได้เสนอว่าหากมีโรงไฟฟ้าชุมชน และจากการไปพูดคุยกันมาหลายพื้นที่ มีข้อเสนอ 6 ข้อ คือ

1. สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับชาวบ้าน

2. ให้มีความจริงใจ ที่จะเกิดประโยชน์ร่วมกัน มีปัญหาก็บอกกันตรง ๆ

3. ต้องแก้ไข หากเกิดผลกระทบ

4. การมีสวนร่วม ทั้งก่อนก่อสร้าง และหลังก่อสร้างโรงไฟฟ้า

5. ถ้าต่ำกว่า 4 เมกะวัตต์ ต้องดำเนินการตาม COP แต่เกิน 4 เมกะวัตต์ ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดบ้อม (EIA)

6. โรงไฟฟ้าที่จะสร้าง คนในชุมชนต้องได้ประโยชน์

ชี้ความจริงใจคือประเด็นสำคัญ

นายทวีสุข กล่าวเสริมว่า จริง ๆ แล้ว โรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ มาจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐ และชุมชน ถ้าผู้ประกอบการจริงใจ จริงใจแก้ปัญหา จริงใจเสนอข้อมูล ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ตรงนี้ก็จะช่วยได้ ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ในพื้นที่มีการตั้งกองทุนก็มีการประชุมทุก 3 เดือน เป็นกลไกที่ดีมาก เรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ก็จะหมดไป

08

ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ย้ำชุมชนต้องมีส่วนร่วม

นายกษิดิ์เดชธนทัต กล่าวเสริมว่าโรงไฟฟ้าที่พูดกันมา ยังไม่มีโรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วม แต่ตราบใดที่ภาครัฐยังจำเป็นต้องหาพลังงาน และโรงไฟฟ้าใหม่ก็สร้างยากขึ้น ดังนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวล นับเป็นทางออกหนึ่งในการจัดหาพลังงาน

“โรงไฟฟ้าชีวมวล ถ้าไม่มีประชาชนเข้ามีส่วนร่วมก็หาเชื้อเพลิงไม่ได้ จึงเป็นที่มาของโรงไฟฟ้าชุมชน”

นายกษิดิ์เดชธนทัต เสนอว่าประชาชนในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ จะต้องได้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากเป็นเจ้าของทรัพยากรผลิตไฟฟ้าส่งไปขายให้พื้นที่อื่น อาจจะต้องมีส่วนได้ประโยชน์มากกว่าเหตุผลเชิงเศรษฐกิจอย่างเดียว เช่น ในเรื่องสุขภาพ อาจะมีกองทุนขึ้นมา

“สีเขียวในความหมายนี้ ต้องแปลไปทุกเรื่อง ต้องมีสถานะที่เท่าเทียม เรื่องอื่นประชาชนทำได้ แต่เรื่องโรงไฟฟ้าประชาชนทำไม่ได้ เพราะโรงไฟฟ้าใช้เงินลงทุน แต่ประชาชนไม่มีเงินทุน จึงเป็นที่มาของหุ้นบุริมสิทธิ์ นั่นหมายถึงนายทุนต้องลงมาช่วย และเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก”

ข้อดีของโรงไฟฟ้าชุมชน คือ การปลูกพืชทางการเกษตร ประชาชนจะมีโรงไฟฟ้าของตัวเอง เพราะตัวเองเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า จึงขายเชื้อเพลิงชีวมวลได้อย่าแน่นอน ประเด็นนี้คือ หลักการ ซึ่งทำให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากด้านพลังงาน

นักวิชาการมองเทคโนโลยีช่วยได้ในการดูแลผลกระทบ

ผศ.ดร.ปรีชา กล่าวว่า โรงไฟฟ้าทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎหมายสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม บางพื้นที่มีการแสดงค่ามลพิษหน้าโรงไฟฟ้า ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบตลอดเวลา ถ้าจะทำให้ทันสมัยขึ้น ให้ลิงค์ไปที่มือถือทุกคนได้ก็สามารถำได้

“มองว่าโรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจ ถ้าโรงไฟฟ้ามีปัญหา ปัจจุบันก็อยู่ไม่ได้ ชุมชนก็อยู่ไม่ได้ ให้มองว่าโรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจ ถ้ามีปัญหา จะกระทบรายได้ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ยอมให้เกิดการสูญสียรายได้ จะต้องมีการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีไปไกลแล้ว โรงไฟฟ้าทั้งหมด มีกระบวนการลดปล่อยมลพิษ ไม่ให้ไปสู่ภาคชุมชนรอบโรงไฟฟ้า”

ผศ.ดร.ปรีชา กล่าวว่าในปัจจุบัน เมื่อจะสร้างโรงไฟฟ้า มักจะเกิดการต่อต้าน แต่อยากจะให้ดูว่าเราตัดสินว่าโรงไฟฟ้าไหนมีปัญหาด้วยตัวเลขทางวิทยาศาสตร์ หรือความรู้สึก ดังนั้นการตัดสินอย่ามองที่ความรู้สึก แต่อยากให้ดูที่ตัวชี้วัดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็จะสามารถพัฒนาไปได้

09

ชุมชนขานรับโรงไฟฟ้าชีวมวล แนะต้องแก้ความรู้สึกของประชาชน

นายนะโม สุปราณี ประธานกลุ่มศีลธรรม จังหวัดนครราชสีมา ผู้เข้าร่วมสัมมนากล่าวว่าการสัมมนาวันนี้ก็ไปด้วยดี แต่สะดุดคำเดียว คือความรู้สึก แต่อยากเสนอให้ความรู้สึกเป็นตัวตั้ง อย่าเอาไปทิ้งท้าย หรือแก้ทีหลัง โครงการ ไฟฟ้าสีเขียว Green Station จะเกิดขึ้นได้ ต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของประชาชนอันดับแรก ว่าแก้ไขปัญหาอย่างไร

ปัจจุบันก็ชัดเจนว่าสถานการณ์ที่ผ่าน เมื่อประชาชนเกิดความรู้สึกไม่ดี ทางแก้ไม่ยาก กล่าวคือเจ้าของโครงการ ก่อนก่อสร้างหรือดำเนินการใด ๆ ท่านต้องมองไปที่ประชาชนเป็นอันดับแรก เป็นพาร์ทเนอร์ชิพที่ดี ทั้งหมดต้องผ่านความรู้สึกของประชาชนก่อนเป็น อันดับแรก ความรู้ความเข้าใจ นำมารวมกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และจะนำไปสู่เรื่องที่ว่า ชุมชนได้ประโยชน์อะไร ประชาชนได้ประโยชน์อะไร

“ท่านต้องทำเรื่องนี้ก่อน ประชาชนได้อะไร อย่างเช่น มีกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ประชาชนได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างกองทุนพลังงาน ประชาชนได้อะไร ต้องมองผลกระทบความมั่นคงในชีวิต และครอบครัวที่ได้ผลกระทบ แม้แต่ค่าไฟฟ้า การศึกษา ในการแก้ปัญหาความรู้สึกของประชาชน อยากให้เผยแพร่ข้อมูล กระบวนการก่อสร้าง การผลิต ท่านต้องเอาชุมชนเข้าไปตั้งแต่แรก เชื่อว่าท่านจะสามารถได้ใจประชาชน และจะเป็นเกาะกำบังให้กับท่าน ท่านต้องเปลี่ยนความรู้สึกของประชาชนให้ได้”

ชี้นายกฯ ต้องนั่งหัวโต๊ะกำกับ

นายฉัตรธบรรจง เพ็ชรจีนพระเนาว์ กรรมการตัวแทนผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าประจำบ้าน สำนักงานผู้แทนผู้ใช้พลังงาน เขต 6 ได้เสนอปัญหาจากที่พบเห็นมา คือ ปัญหาแรก การทำประชาพิจารณ์ไม่ทั่วถึง เอาแต่ผู้นำชุมชน การประชาสังคมจะเอาแต่ผู้นำไป แต่ในระยะยาวเป็นปัญหากับชุมชน เพราะคนอื่นในชุมชนไม่รู้เรื่อง

ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะในชุมชน เมื่อมีปัญหาไม่มีใครดูแล ถ้าอยากสร้างโรงไฟฟ้า อยากให้ประชาสัมพันธ์หนัก ๆ การเอาผู้นำไปเที่ยว กลับมาก็มีปัญหา อยากให้มีกรรมการขึ้นมาชุดนึง มาดูสุขภาพกันแบบสุด ๆ ใครมีปัญหาก็รักษาเต็มที่ มีเงินเหลือก็สร้างในเรื่องด้านสุขภาพ หรือเยียวยาคนที่เกิดโรคจากโรงไฟฟ้า อีกข้อนึง อยากจะฝากก็คือ บางทีกองทุนเยียวยา งบที่ได้ไปดูแลสิ่งแวดล้อม สุขภาวะโดยตรง ไม่ใช่ผู้นำเอาไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ใช่หน้าที่ อยากให้กองทุนดูให้ตลอด    ผลกระทบคนที่ไม่มีปากมีเสียง เขารับความคับแค้นใจ ถ้าช่วยได้สังคมก็สงบสุข

สำหรับ โรงไฟฟ้าชีวมวล ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามีประโยชน์ต่อประเทศ อยากจะเสนอ คือ เสนอลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลย เป็นผู้สั่งการและนั่งหัวโต๊ะ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการทำงานระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพราะบางเรื่องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล แต่กระทรวงพลังงานไม่สนใจ ดังนั้นนายกฯ ต้องมาสั่งการเอง

S 54730834

แนะต้องมีชุมชนร่วมตั้งแต่ต้น

นางประชุม ชอมกระโทก ตำแหน่ง ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลครบุรีและองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ กล่าวว่าอยากจะเพิ่มเติมหลักการ การมีส่วนร่วม โดยเสนอว่าน่าจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาก่อนดำเนินโครงการ จากนั้นมีชุดที่ยกร่างโครงการ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

จากนั้น มีชุดบริหารโครงการ มีหน่วยงานไหนบ้างเป็นเจ้าภาพหลัก เอาแนวคิดใส่ไปตรงนั้นว่า “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ ร่วมรับผิดชอบ” ให้ตระหนักการเป็นเจ้าของชุมชน

“บางทีโครงการมีผลกระทบ ต้องมีหน่วยงานไหนเกี่ยวข้องบ้าง จะต้องกล้าการันตีว่าเกิดโครงการแล้ว จะต้องไม่มีผลกระทบ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องแสดงความรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีจะต้องดูภาพรวม ไม่ใช่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แล้วมีคณะกรรมการติดตามประเมินผล ผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น บริษัทก็ดีขึ้น ไม่ใช่บริษัทอยู่ไม่ได้ มีปัญหา ชุมชนก็อยู่ไม่ได้ ต้องช่วยกันแก้ไข”

นายอุทัย กล่าวสรุป ภาพรวมว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามี 3 กระบวนการ ช่วงเริ่มต้น ก่อนมีโรงไฟฟ้า ชุมชนชาวบ้านต้องรับรู้เข้าใจ เพราะเป็นพื้นที่ของเรา บ้านเกิดของเรา หลังจากที่พูดคุยกันแล้ว ปัญหาผลกระทบ การแก้ไข ข้อเสนอแนะของชาวบ้านจะนำไปสู่กลไกไตรภาคี 3 ฝ่าย มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตรวจสอบ เพราะว่าโรงไฟฟ้าจะเกิดประโยชน์ได้ ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่เฉพาะผู้นำ

“กระบวนการตรวจสอบดูแล ต้องมีทั้งต้น กลาง และปลาย โรงไฟฟ้าชีวมวลจะเกิดประโยชน์ คือขายวัสดุทางการเกษตรที่เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ลูกหลานที่จบมาก็ไปทำงานโรงไฟฟ้า รับลูกหลานในพื้นที่ก่อนได้ไหม อันสุดท้าย ทุกคนเป็นเจ้าของหุ้น 10%  ได้ไหม ถ้าเป็นไปได้แบบนี้ เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลในฝันเลย”

01 1

03

30

472234

472241

472242

472243

S 18341973

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight