Environmental Sustainability

โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยี มาสนับสนุนให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox)

กระบวนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทยและทั่วโลก ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต สืบเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีพลังงานที่ทันสมัยมากขึ้น และผสมผสานกับการนำระบบดิจิทัล เข้ามาใช้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าปัจจุบัน ไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เท่านั้น

ปัจจุบันครัวเรือนยังสามารถเข้าถึงการผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งแนวโน้มต้นทุนถูกลงเรื่อย ๆ

ERC Sandbox

ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเดิมกลายเป็น ผู้ผลิตไฟฟ้า (Prosumer) และเกิดการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนในรูปแบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer to Peer: P2P) ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) มาปรับใช้เพื่อพัฒนาการซื้อขายไฟฟ้ามากขึ้น

ผลของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และทางเลือกที่มากขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไป กระทบต่อปริมาณและช่วงเวลาของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือช่วง Peak (พีค) ของระบบไฟฟ้า เปลี่ยนจากช่วงกลางวัน มาเป็นช่วงกลางคืนแทน ซึ่งเดิมอัตราค่าไฟฟ้าจะแพงสุดในช่วงพีค ก็จะต้องมีการพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงต้องเตรียมพร้อมศึกษารูปแบบ และวิธีดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระเบียบและข้อกฎหมายต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบัน พระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ยังไม่สามารถรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ๆ ได้

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีมา สนับสนุน การให้บริการพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox: ERC Sandbox) หรือ “อีอาร์ซี แซนบ็อกซ์” เพื่อพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยี มาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงานในพื้นที่เฉพาะที่กำกับดูแล

ตอนที่8 01 e1638860096897

โครงการ ERC Sandbox กำหนดประเภทกิจกรรมและนวัตกรรมที่ดำเนินการ

ภายใต้ขอบเขตการกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แบ่งเป็น 5 ประเภท

1. ศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer-to-Peer Energy

2. ศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ เช่น Net Metering และ Net Billing

3. ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้ายานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage)

4. ศึกษาการจัดการและการปฏิบัติการระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น ระบบไมโครกริด (Micro Grid)

5. ศึกษารูปแบบกิจการธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน เช่น การซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง (Supply and Load Aggregator)

สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้าร่วม โครงการ ERC Sandbox ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือ นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือ สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งเปิดรับยื่นเสนอโครงการขั้นต้น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2562

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ออกประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม2562 จำนวน 34 โครงการ จากยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 183 โครงการ พบว่า

โครงการที่ผ่านการพิจารณาเป็นโครงการทดสอบนวัตกรรม 3 อันดับแรก คือ

1. โครงการทดสอบเกี่ยวกับเก็บกักประจุไฟฟ้า (Battery Storage) สูงสุดจำนวน 9 ราย

2. โครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer-to-Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) จำนวน 8 ราย

3. โครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย

ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานทดแทนราคาถูกลง รวมทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) ที่ทำให้มีความต้องการผลิตไฟฟ้าที่ลดการพึ่งพาระบบ และต้องการให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

ตอนที่8 02 e1638860141195

ภายใต้โครงการนี้ยังได้พิจารณาอนุมัติ โครงการสนับสนุนธุรกิจการค้าก๊าซธรรมชาติผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ของ กลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบาย การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานในภูมิภาคอาเซียน หรือ Thailand Energy Hub ของรัฐบาล และแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

ปัจจุบันผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 34 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการฯ โดยกำหนดส่งรายงานสรุปโครงการฯ ต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ภายในช่วงครึ่งแรก ปี 2564

เมื่อ โครงการ ERC Sandbox เสร็จสิ้นลง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดหวังจะรวบรวมปัญหา หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติรูปแบบใหม่ ๆ ในประเทศไทย

การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้เกิดการส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก และเกิดประโยชน์ต่อต้นทุนพลังงานของประเทศในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight