Environmental Sustainability

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอดีตมักเป็นเรื่องของผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า กับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า ทำให้เกิดการต่อต้านโรงไฟฟ้าในหลายพื้นที่

รัฐบาลเห็นปัญหาดังกล่าว จึงพยายามสร้างกลไกให้ชุมชน หรือ “คนตัวเล็ก” เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ที่ไม่เพียงแต่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าใช้เองในชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนในระดับฐานราก

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก “Energy for All: พลังงานเพื่อทุกคน”

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เรียกย่อ ๆ ว่า “โรงไฟฟ้าชุมชน” จึงเกิดขึ้นภายใต้นโยบาย “Energy for All: พลังงานเพื่อทุกคน” ในสมัยที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายพัฒนาพลังงานบนดิน มุ่งเน้นการผลิตพลังงานไฟฟ้าในชุมชนตามศักยภาพเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ และนำไปใช้ในพื้นที่เป็นหลัก โดยประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง และราคาเหมาะสม

“โรงไฟฟ้าชุมชน” หมายถึงโรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วม โดยชุมชนจะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงร่วมผลิตเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร เพื่อจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า โดยชุมชนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ ทั้งจากการจำหน่ายไฟฟ้า และการจำหน่ายพืชพลังงานที่เป็นเชื้อเพลิง

การประชุม คณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 เห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน และให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการจัดทำรายละเอียดในการดำเนินโครงการให้ชัดเจน จนนำไปสู่ การกำหนดกรอบเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ ใน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปีพ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ซึ่งแผนนี้เพิ่งจะผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563

แต่จนถึงปัจจุบันนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ก็ยังไม่สามารถออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการได้ เพราะที่ผ่านมายังไม่สามารถจัดทำหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการให้เป็นที่ยอมรับได้ กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมีการแต่งตั้ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เข้ามารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนสิงหาคม 2563

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ถูกสานต่อภายใต้การทบทวนหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้ 2 หลักการสำคัญคือ “เกษตรกรได้รับการประกันราคา” และ “ไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน”

สำหรับรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วน 90% และ 2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย ในสัดส่วน 10% โดยเป็นหุ้นบุริมสิทธิ

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ทั้งนี้มีการแบ่งผลประโยชน์เป็น 2 ส่วน คือ หุ้นบุริมสิทธิ 10% ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นผู้ปลูก หรือ จัดหาพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และเงินส่วนแบ่งรายได้ สำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า และชุมชนทำความตกลงกัน ทั้งนี้ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ด้านการรักษาพยาบาล ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบของ (Feed-in Tariff: FiT) 2 ประเภทเชื้อเพลิง คือ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) สัญญารับซื้อไฟฟ้าเป็นแบบ Non-Firm ระยะเวลา 20 ปี โดยกำหนดโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา (Power Purchase Agreement: PPA)

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีหน้าที่จัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ได้ดำเนินการร่างกรอบหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการใหม่ พร้อมจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น หรือโฟกัสกรุ๊ป กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าเอกชน รัฐวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 โดยเตรียมจัดทำโครงการนำร่อง ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 100-150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 75 เมกะวัตต์

นอกจากนี้จะต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการซื้อพืชพลังงาน ระยะเวลาการรับซื้อพืชพลังงาน คุณสมบัติของพืชพลังงาน และราคารับซื้อพืชพลังงานไว้ในสัญญาด้วย โดยต้องรับซื้อพืชพลังงานจากวิสาหกิจชุมชน 80% และผู้ประกอบการจัดหาเอง 20%

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ส่วนราคารับซื้อกำหนดในเบื้องต้นปี 2563 สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ให้รับซื้อไม่เกิน 4.8598 บาท/หน่วย โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 3-6 เมกะวัตต์ ไม่เกิน 4.2733 บาท/หน่วย และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ขนาดไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ไม่เกิน 4.7269 บาท/หน่วย

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ประเมินในเบื้องต้น คาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า 13,000 ล้านบาท ค่าดำเนินการและบำรุงรักษา ระยะเวลา 20 ปี รวม 14,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 27,000 ล้านบาท

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

นอกจากนี้ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าในระยะยาว 20 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 51,000 ล้านบาท และเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กว่า 24,000 อัตรา ซึ่งจะช่วยลดการย้ายถิ่นของแรงงาน และสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของชุมชน

ตามขั้นตอนแล้ว เมื่อจัดทำร่างกรอบหลักเกณฑ์เงื่อนไข “โรงไฟฟ้าชุมชน” แล้วเสร็จ จะต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช.อนุมัติอีกครั้ง จากนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจยื่นเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

กระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าหมายจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ในช่วงเดือนมกราคม 2564 หากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชุมชนจะมีสิทธิ์ร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า หรือมีส่วนร่วมลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศในระดับท้องถิ่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight