Environmental Sustainability

รู้จักแผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกของประเทศไทย (AEDP)

สภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลายเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และประเทศไทยได้ตอบรับต่อทิศทางของโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุดประกาศความร่วมมือผ่านเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 21 หรือ COP 21 ที่บรรลุความตกลงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ตามเป้าหมายภายในปี 2573

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก

รัฐบาลในอดีตจึงมอบหมายให้กระทรวงพลังงานจัดทำ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan) หรือชื่อย่อว่า แผน AEDP เพื่อกำหนดกรอบ และทิศทางการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ ตามทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นการรักษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และหันมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ตอนที่2 01 1 e1638855961872

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 หรือแผน AEDP 2018

ตาม แผน AEDP 2018 ได้เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเป็น 34.23% โดยเพิ่มจาก 10.04% ในแผน AEDP 2015 มีการเพิ่มการผลิตไฟฟ้า 6 ประเภท คือ พลังงานแสงอาทิตย์ 15,574 เมกะวัตต์ ชีวมวล 5,790 เมกะวัตต์ พลังงานลม 2,989 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย/พืชพลังงาน) 1,565 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 900 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 75 เมกะวัตต์ และพลังน้ำขนาดเล็ก 308 เมกะวัตต์ ส่วนพลังน้ำขนาดใหญ่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแผนเดิม

ในยุคแรก ๆ ภาครัฐส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยจูงใจให้เอกชนลงทุนในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ต่อมาปรับใช้รูปแบบการให้เงินสนับสนุนค่าไฟ ตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in Tariff) หรือ FiT

ในอนาคตมีแนวโน้มจะยกเลิกการให้เงินสนับสนุน เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้า ประกอบกับเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนถูกลงอย่างต่อเนื่อง และใกล้ถึงจุดที่จะแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ

แผนพัฒนาพลังงานทดแทน อยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนานแล้ว แต่เดิมถูกเรียกว่า แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (REDP) ต่อมามีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ในช่วงปี 2545 ได้แยก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่เดิมอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ออกมาสังกัดกระทรวงพลังงาน จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงเวลานั้นได้ปรับยุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) หรือคลอด แผน AEDP 2012 ขึ้น

ตอนที่2 02 e1638856016614

การกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนตามแผน AEDP ประกอบด้วย 6 ประเด็นสำคัญ

1. ส่งเสริมให้ชุมชนลงทุน
2. ปรับมาตรการจูงใจให้เอกชนลงทุน
3. แก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้อ ต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน
4. ปรับปรุงระบบสายส่ง และโครงสร้างพื้นฐาน
5. ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจต่อประชาชน
6. ส่งเสริมให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแบบครบวงจร

แผน AEDP ยังแบ่งการส่งเสริมพลังงานทดแทน ออกเป็น 3 ประเภท คือ ไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ แผน AEDP ให้สอดรับกับ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และ แผน AEDP มักจะปรับปรุงตามการทบทวนแผน PDP ฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการตามแผนงาน

ขั้นตอนการจัดทำ แผน AEDP คล้ายกับ แผน PDP เมื่อยกร่างแผนเสร็จแล้ว จะต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย จากนั้นนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ก่อนประกาศใช้ต่อไป

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561–2580 (AEDP 2018) เป็นฉบับล่าสุด ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 แผนนี้ภาพรวมยังคงเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2580 และคงเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 29,411 เมกะวัตต์

ในส่วนนี้ยังแบ่งเป็นโควตารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ รวม 520 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น เชื้อเพลิงขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 120 เมกะวัตต์ รวมถึงมีการปรับเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเข้ามาในระบบ ในปี 2563-2567 รวม 1,933 เมกะวัตต์

แผน AEDP 2018 มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใน ปี 2580 ดังนี้ พลังงานแสงอาทิตย์ 12,139 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ชีวมวล 5,790 เมกะวัตต์ พลังงานลม 2,989 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย/พืชพลังงาน) 1,565 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 900 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 75 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดใหญ่ 2,920 เมกะวัตต์ และพลังน้ำขนาดเล็ก 308 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 29,411 เมกะวัตต์

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะกำกับดูแลกิจการพลังงานของประเทศ ได้ทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อแผน AEDP ฉบับนี้ว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ควรพิจารณาด้านปริมาณ ราคา และระยะเวลาที่เหมาะสม
แผน AEDP นับว่าสำคัญต่อประเทศไทย เพราะจะการันตีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามนโยบายของรัฐ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี และตลอด 20 ปีข้างหน้า สร้างความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจลงทุนของเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า และเกษตรกรยังสามารถวางแผนปลูกพืชพลังงานได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังช่วยประเทศลดการพึ่งพา การนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ที่มีมูลค่ามหาศาล

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight