Environmental Sustainability

ปลุก “ท้องถิ่น” สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน!

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ แม้ว่าจะส่งผลดีในแง่ของการมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ และช่วยกระจายความเจริญเข้าสู่ท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ในทางตรงกันข้ามหาก “ผู้ใช้ไฟฟ้า” ได้รับผลกระทบ หรือความไม่เป็นธรรมจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงแต่งตั้ง คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. ขึ้น ตามมาตรา 98 ของ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยแต่งตั้งจากผู้แทนผู้ใช้พลังงาน เพื่อมาเป็นกลไกของ กกพ. ในการ คุ้มครองผู้ใช้พลังงาน โดยจะคัดสรรตัวแทนจากท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และการประกอบธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในทุกด้าน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั่วประเทศ

โครงสร้าง คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) ครอบคลุม 13 เขต

การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. หรือ ผู้แทนจิตอาสาภาคประชาชน ดำเนินการรูปแบบกระบวนการสรรหา รวมทั้งสิ้น 143 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ 13 เขต ที่เป็นที่ตั้งของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประจำเขตทั่วประเทศ โดยในแต่ละเขตมีจำนวน คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. 11 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอีกไม่เกิน 10 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประจำเขต ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการ

คุณสมบัติเบื้องต้นคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. คือ อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ในวันปิดรับสมัคร จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ในเขตจังหวัดนั้น ๆ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนวันรับสมัคร

นอกจากนี้การดำรงตำแหน่ง คพข. จะไม่ติดต่อกันเกิน 2 วาระ และเพื่อเป็นการเปิดกว้างในการสรรหา ดังนั้น กกพ. จึงกำหนดให้สรรหา คพข. โดยวิธีการจับสลาก และ คพข. ชุดปัจจุบัน ถือเป็นชุดที่ 3 หลังจากมีการแต่งตั้ง คพข.ชุดแรก เมื่อสิงหาคม ปี 2553

คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต

รักษาผลประโยชน์ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า

คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้พลังงาน 3 ประเภท

1. ความเดือดร้อนเสียหายที่ผู้ใช้พลังงานได้รับจากการให้บริการผู้รับใบอนุญาต เช่น ไฟฟ้าตก ดับ หรือ อื่น ๆ ที่ทำให้ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเสียหาย

2. การเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เช่น การจดหน่วยผิด ความคลาดเคลื่อนของมิเตอร์ไม่ตรง หรือค่าบริการส่วนอื่น ๆ ที่ไม่เป็นธรรม

3. เรื่องที่เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้ากับผู้ได้รับใบอนุญาต เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ
โดย คพข. จะดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนดังกล่าว ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อหาข้อยุติตามเวลาที่กำหนดไว้ 60 วัน

ส่วนขั้นตอนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน กำหนดให้เป็นไปตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ การยื่นเรื่องร้องเรียน รับเรื่องร้องเรียน และวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้พลังงานฯ พ.ศ. 2553 และปัจจุบันได้แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ. 2558 โดยผู้ร้องเรียน ยื่นเสนอเรื่องร้องเรียนมายังเจ้าหน้าที่

จากนั้นจะตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง ซึ่งหากข้อมูลไม่เพียงพอจะประสานขอเพิ่มเติม และหากข้อมูลเพียงพอ เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องไว้ โดยสำนักงาน กกพ.เขต จะประสานผู้ร้องเรียน และผู้ประกอบการ เพื่อนัดหมายไกล่เกลี่ย

คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยผ่านกระบวนการวินิจฉัย และแจ้งคำวินัจฉัย ให้ผู้ร้องเรียนและผู้ประกอบการพลังงานรับทราบ จากนั้นจะบันทึกข้อมูล และรายงานต่อกกพ. ถือว่าเสร็จสิ้น

หากผู้ใช้พลังงานไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ของ คพข. ก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ กกพ. ได้ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุทธณ์ และการพิจารณาอุทธรณ์การคัดค้าน และการพิจารณาคำร้องคัดค้าน พ.ศ. 2552

คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต

เปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมปรับปรุงการให้บริการ

นอกจากนี้ คพข. ในฐานะตัวแทนผู้ใช้พลังงาน ยังมีบทบาทเสนอมาตรการแก้ไขปรับปรุงการให้บริการพลังงาน ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในด้านการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานต่อ กกพ.

ที่ผ่านมา คพข. ทั้ง 13 เขต ก็ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ และส่งข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้ใช้พลังงานในหลายประการที่สำคัญคือ มาตรฐานของสัญญาให้บริการไฟฟ้า พ.ศ. 2558 ที่ กกพ. ประกาศใช้ก็เป็นผลสืบเนื่องจากข้อเสนอแนะของ คพข. เป็นการช่วยยกระดับ การคุ้มครองผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยกว่า 20 ล้านราย ทั่วประเทศ

คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. จึงเป็นกลไกสำคัญระดับท้องถิ่น ที่ปลุกการมีส่วนร่วม ในงานกำกับกิจการพลังงาน และคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน และผู้ประกอบการพลังงานให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight