Environmental Sustainability

ปันส่วน “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” พัฒนาชุมชนเพื่อ “ผู้เสียสละ”

กระแสไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นปัจจัยด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในทุกระดับ แต่จะมีใครบ้างที่ยอมเป็น “ผู้เสียสละ” ให้โรงไฟฟ้าไปจัดตั้งขึ้นใกล้บ้าน หรือละแวกที่อยู่อาศัย เนื่องด้วยคนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงผลกระทบที่ตามมา จึงต้องดูแลด้วย กองทุนพัฒนาไฟฟ้า 

ด้วยเหตุนี้อีกบทบาท และภารกิจสำคัญของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องทำให้ชุมชนผู้เสียสละ ได้รับการพัฒนา และสร้างความเจริญให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรม และให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ระหว่างชุมชนและโรงไฟฟ้า ตลอดจนการมีโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน และปลอดภัยสูงสุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

การจัดตั้ง กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จึงเกิดขึ้นใน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นห่างไกล ให้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ในราคาที่เหมาะสม รวมทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ ให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้ได้รับประโยชน์จากการตั้งโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังนำเงิน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า บางส่วนไปส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยยกระดับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.

ดึงเงินจากผู้ประกอบกิจการดูแลผู้เสียสละ – แหล่งที่มาของเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้มาจาก

1. เงินที่ได้รับจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า
2. เงินค่าปรับจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ที่กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่ กกพ. กำหนด
3. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
4. ดอกผลหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

02 6 e1638263124908

กกพ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การนำส่งเงินเข้ากองทุน ให้มีการแยกบัญชีตามกิจการที่กำหนดไว้ใน มาตรา 97(1) 97(2) 97(3) 97(4) และ 97(5) เป็นตามกรอบนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

03 e1638263168951

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า การกระจายความเจริญสู่ชุมชน

การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ จึงต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ใน มาตรา 97 ของพระราชบัญญัติฯ ดังนี้

มาตรา 97(1) เพื่อชดเชยการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง อาจเป็นในรูปแบบทุนสนับสนุน ซึ่งเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น

มาตรา 97(2) เพื่อชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีเหตุที่ต้องจัดเก็บ

มาตรา 97(3) เพื่อพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ในรัศมี 1 ถึง 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 67 จังหวัด

ตามการแบ่งประเภทบริการทุนดังนี้

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าประเภท ก จำนวน 13 กองทุน ประเภท ข จำนวน 73 กองทุน และประเภท ค จำนวน 408 กองทุน

กองทุนประเภท ก พื้นที่ประกาศครอบคลุมหมู่บ้านใน รัศมี 5 กิโลเมตร จากศูนย์กลางโรงไฟฟ้าปริมาณการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 5,000 ล้านหน่วยต่อปี

กองทุนประเภท ข พื้นที่ประกาศครอบคลุมหมู่บ้านใน รัศมี 3 กิโลเมตร จากศูนย์กลางโรงไฟฟ้าปริมาณการผลิตไฟฟ้า 100 – 5,000 ล้านหน่วยต่อปี

กองทุนประเภท ค พื้นที่ประกาศครอบคลุมหมู่บ้านใน รัศมี 1 กิโลเมตร จากศูนย์กลางโรงไฟฟ้าปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 100 ล้านหน่วยต่อปี

คณะกรรมการกองทุนไฟฟ้า จำนวนไม่เกิน 35 คน ประกอบด้วย

– ผู้แทนภาคประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมด
– ผู้แทนภาครัฐไม่เกินกว่าหนึ่งในสาม
– ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน

อุดหนุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เสริมความรู้ประชาชน

มาตรา 97(4) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยมีเริ่มจัดสรรเงินตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

มาตรา 97(5) เพื่อส่งเสริมสังคม และประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า เป็นการถ่ายทอดความรู้ให้ประชาชน ประหยัด ใช้ไฟฟ้าที่ถูกวิธี โดยเริ่มจัดสรรเงินส่วนนี้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

มาตรา 97(6) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบริหารกองทุน สำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

04 e1638263250939

เข้มกลไกกำกับและตรวจสอบ

การบริหารจัดการ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มี กกพ. และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6 คณะ ที่จะพิจารณากลั่นกรองโครงการฯที่ยื่นขอรับเงินอุดหนุนเป็นรายปี และการดำเนินงานของกองทุนฯ เรียกได้ว่า มีการกำกับดูแลอย่างรัดกุม

สำนักงาน กกพ. ทำหน้าที่รับเงิน จ่ายเงิน เก็บรักษา และบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า แยกออกจากงบประมาณของสำนักงาน กกพ. ซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนตามประกาศกระทรวงการคลังที่ต้องจัดให้มีการประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานในฐานะทุนหมุนเวียนต่อกรมบัญชีกลาง ต้องผ่านการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และรายงานผลการดำเนินงานประจำปี ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา

นอกจากนี้ยังต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้จ่ายเงินกองทุนมีความโปร่งใส เกิดประโยชน์และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight