Environmental Sustainability

ผู้ให้ใบอนุญาตกิจการ “ไฟฟ้า” และ “ก๊าซธรรมชาติ” ให้เพียงพอและมั่นคง

“องค์กรกำกับกิจการพลังงาน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการแข่งขันให้เหมาะสมเป็นธรรม” คือ วิสัยทัศน์ ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ประกาศเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นกำกับดูแลกิจการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ทั่วประเทศ

ภารกิจที่สำคัญของ กกพ. ผู้กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ โดยบทบาทและหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เกิดขึ้นนับจากมีการออกพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำกับดูแลกิจการพลังงานใน 2 เรื่องหลัก คือ “ไฟฟ้า” และ “ก๊าซธรรมชาติ”

ปัจจุบัน “การผลิตกระแสไฟฟ้า” ของไทยจะเปิดกว้างให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าได้ แต่ต้องขายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในราคาที่รัฐกำหนด

ในส่วนของ “การจำหน่ายไฟฟ้า” ระบบสายส่งในปัจจุบันยังถือว่า “ผูกขาด” แต่ก็ใช่ว่าใครอยากผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วป้อนเข้าสู่สายส่งก็สามารถทำได้ เพราะมี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังทำหน้าที่ดูแล ระบบส่งไฟฟ้า และมี 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทำหน้าที่ดูแล ระบบจำหน่ายไฟฟ้า และกิจการจำหน่ายค้าปลีก

กกพ. ผู้กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า

เช่นเดียวกับ “ก๊าซธรรมชาติ” ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในสัดส่วนสูง 60-70% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ โดย “การจัดหา” และ “ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ” ยังผูกขาดภายใต้การดูแลของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน

กกพ. ผู้กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ

กกพ. ผู้กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าปัจจุบัน รัฐจะเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดหา และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อปูทางสู่การแข่งขันกับกิจการก๊าซธรรมชาติเสรีในอนาคต ถึงแม้จะมีลักษณะ “ผูกขาด” แต่การกำกับดูแลให้เกิด “ความเป็นธรรม” กับทุกฝ่าย จึงเป็นภาระของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่กำกับดูแล “กิจการไฟฟ้า” และ “กิจการก๊าซธรรมชาติ” คือ

  1. ออกใบอนุญาตกิจการไฟฟ้า ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า ระบบจำหน่ายไฟฟ้า และการขายปลีกไฟฟ้า
  2. ออกใบอนุญาตกิจการก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ กิจการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซธรรมชาติ (คลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติ หรือ โรงงาน LNG) การจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(ขายส่ง) กิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซฯ (การขนส่งก๊าซธรรมชาติ) และค้าปลีกก๊าซธรรมชาติผ่านระบบจำหน่าย (ขายปลีก)
  3. กำกับดูแลอัตราค่าบริการและคุณภาพบริการ ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ คุณภาพการให้บริการของไฟฟ้า ไม่ให้เกิดปัญหาไฟตกไฟดับ และให้เป็นไปตามแผนรับซื้อไฟฟ้าที่รัฐกำหนด ตลอดจนต้องเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัย และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
  4. กำกับดูแลเรื่องการใช้ที่ดินและทรัพย์สิน เพื่อการวางเขตระบบโครงข่ายพลังงาน ได้แก่ การรอนสิทธ์ในการสร้างสายส่ง สายจำหน่ายไฟฟ้า และท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของที่ดินที่ถูกรอนสิทธิ์
  5. กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยนำเงินที่จัดเก็บจากผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า แต่ละประเภทเข้าสู่กองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ และดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และการดำเนินการโรงไฟฟ้า หรือชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ที่จัดเป็น “ผู้เสียสละ” ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่พระราชบัญญัติกำหนด
  6. การให้ความเป็นธรรม ได้แก่ การอุทธรณ์ข้อขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ เช่น ค่าทดแทนของสายส่ง สายจำหน่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ข้อขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ข้อขัดแย้งระหว่างผู้ใช้พลังงานกับผู้ประกอบการ โดยสามารถร้องเรียนมาที่ กกพ.เพื่อขอความชอบธรรมได้
  7. การเสนอความคิดเห็นต่อกระทรวงพลังงาน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทย (PDP) แผนการลงทุนกิจการไฟฟ้า แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan ) และแผนขยายระบบโครงข่ายพลังงาน

กกพ. ผู้กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า

ด้วยบทบาทและหน้าที่ดังกล่าวของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถือเป็น “องค์กรอิสระ” ภายใต้นโยบายรัฐ ที่มีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเหมาะสม และเป็นธรรมตามนโยบายของภาครัฐ ตลอดจนให้ความคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นที่ตั้ง

กกพ. ผู้กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า

ทั้งนี้มี สำนักงาน กกพ. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ที่คอยสนับสนุนการปฏิบัติงานของ กกพ. ให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้ตลอด 13 ปีของ กกพ. บนเส้นทางกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ เติบโตอย่างมั่นคง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight