พลังงานไฟฟ้า นับเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งพลังงานไฟฟ้ามีความสำคัญในหลายระดับ ตั้งแต่การใช้ในชีวิตประจำวัน ในครัวเรือน การขนส่ง ไปจนถึงภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม
จากความสำคัญข้างต้น ทำให้ปัญหาเรื่อง “เสถียรภาพ” และ “ความมั่นคง” ด้านพลังงาน จึงมีความสำคัญในอันดับต้นๆ และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การจัดซื้อจัดหาในราคาที่ไม่แพงเกินไป และเป็นราคาที่มี “ความเป็นธรรม” แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่มีหน่วยงานมาดูแล และต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ คือใคร
กว่าที่ระบบไฟฟ้าไทย จะมีประสิทธิภาพ และมั่นคงเช่นทุกวันนี้ เบื้องหลังความสำเร็จมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้กำกับ” คอยมอนิเตอร์ และควบคุมระบบผลิตไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ พร้อมรองรับการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง
หน่วยงานนี้อาจไม่เป็นที่รู้จักนักสำหรับคนทั่วไป เพราะหากพูดถึงเรื่องของการผลิตไฟฟ้า คนส่วนใหญ่จะนึกถึง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ 2 หน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
แต่คนในแวดวงพลังงาน รู้จักเป็นอย่างดีในฐานะองค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อกำหนด “กฎ” และ “ระเบียบ” เพื่อกำกับดูแลระบบผลิต ระบบส่ง และ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ก็คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ ที่เรียกกันคุ้นหูว่า “เรกูเลเตอร์”
ย้อนไปเมื่อ 13 ปีก่อน หรือ ปี 2550 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากประเทศไทยได้ออกกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2550 นับเป็นจุดเริ่มต้นการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานของไทย โดยแยกงานด้านนโยบาย งานกำกับดูแล และการประกอบกิจการพลังงาน ออกจากกันอย่างชัดเจน
จากเดิมการบริหารจัดการกิจการพลังงานเป็น อำนาจของ “รัฐ” อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่มี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจการพลังงานในยุคนั้น แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ และการตรวจสอบการทำงาน
ดังนั้น เพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกรอบนโยบายของรัฐ พระราชบัญญัติฯนี้ จึงกำหนดให้แต่งตั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น องค์กรอิสระ ภายใต้นโยบายรัฐ เพื่อต้องการให้เกิดความอิสระในการดำเนินงาน
โครงสร้างของกกพ.
ภายใต้พระราชบัญญัติฯนี้ กำหนดโครงสร้างของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 6 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และกำหนดให้จัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ทำหน้าที่เลขานุการของ กกพ. เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์
สำหรับตัวบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการ กกพ. จะต้องเป็นผู้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย และต้องมีผลงาน หรือเคยปฏิบัติงานที่บ่งบอกถึงการมีความรู้ ความเข้าใจ มีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี ในแต่ละสาขาต่าง ๆ เช่น พลังงาน คณิตศาสตร์ นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเงิน การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
การแต่งตั้ง กรรมการ กกพ. กำหนดให้รัฐมนตรีเสนอชื่อคณะกรรมการสรรหา 1 คณะ จำนวน 9 คน ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น กรรมการ กกพ. 7 คน และให้ กรรมการ กกพ. โหวตเลือกประธาน 1 คน
กรรมการ กกพ. จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ซึ่งเมื่อครบกำหนด 3 ปีแรก ให้กรรมการออกจากตำแหน่งด้วยวิธีการจับสลาก ออก 3 คน โดยถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ และยังต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นมาทดแทน และกรรมการต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี
ปัจจุบันนี้ ประเทศไทย จึงมีการแต่งตั้ง กกพ. รวมแล้ว 4 ชุด นับจาก กกพ. ชุดแรกที่ถือกำเนิดขึ้น โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551
กกพ. มีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำกับกิจการพลังงานในเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ระบบไฟฟ้าไทยมีเสถียรภาพและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เปิดตัวโครงการ ‘ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION’ สร้างความรู้-สร้างเครือข่าย พลังงานสะอาด
- กกพ. ชูแนวคิด ‘CLEAN ENERGY FOR LIFE’ – ‘แกรมมี่’ สานต่อ ‘ไฟจากฟ้า’ เพื่อ 77 โรงพยาบาล
- กกพ. เปิดตัว 26 โครงการ รับทุน ร่วมสร้าง ‘เครือข่ายพลังงานสะอาด’