Environmental Sustainability

สผ. 4.0 ก้าวสู่ ‘องค์กรดิจิทัล’ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ บริการประชาชนเต็มรูปแบบ

สผ. 4.0 เดินหน้าสู่การเป็น “องค์กรดิจิทัล” นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ อำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้ง่ายดายขึ้น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า สผ. มีภารกิจเกี่ยวกับ การกำหนดนโยบาย แผนการส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

สผ. 4.0

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ เสนอแนะนโยบาย แผนการอนุรักษ์ และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการจัดการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบมาตรการเงื่อนไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดี  ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสมดุลทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืนในปี 2580”

S 128885714

ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมขาติ และ สิ่งแวดล้อม มีการดำเนินงานด้านดิจิทัล ที่โดดเด่นในหลายด้าน

Smart E-Fund

เป็นระบบฐานข้อมูลของกองทุนสิ่งแวดล้อม ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูล ให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน รองรับการใช้งานผ่าน ทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันบนมือถือ โดยนำมาใช้ยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ที่มีความสนใจ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน รวมถึงมีความถูกต้องและแม่นยำ

สผ. 4.0

Smart E-Fund จะเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลทั้ง 3 ระบบ ประกอบด้วย

  • ระบบยื่นข้อเสนอโครงการ

เป็นการยื่นข้อเสนอโครงการด้วยตนเองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

  • ระบบตรวจสอบสถานะโครงการ

เป็นการตรวจสอบสถานะของโครงการของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการว่าอยู่ในขั้นตอนใด

  • ระบบรายงานติดตามโครงการ

เป็นการรายงานผลการดำเนินโครงการของผู้ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ให้กองทุนสิ่งแวดล้อมทราบเป็นรายไตรมาสว่าโครงการมีการดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่

นอกจากนี้ Smart E-Fund ยังมีระบบที่สามารถใช้สืบค้นโครงการ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ และผู้ที่มีความสนใจก็สามารถเข้าถึง และใช้บริการดังกล่าวนี้ได้

ดังนั้น จึงถือได้ว่า Smart E-Fund เป็นระบบที่สร้างพลังเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อป้องกัน ดูแล ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ในยุคดิจิทัล พร้อมทั้งขับเคลื่อนองค์กร ให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สผ. 4.0

TH-BIF หรือ Thailand Biodiversity Information Facility

ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ของประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2561-2565 โดยดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ

สถาบันการศึกษา และหน่วยวิจัย สามารถให้บริการสืบค้นข้อมูลไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ระดับความรุนแรงของการรุกราน สถานภาพการคุกคาม (Red Data) สถานภาพทางกฎหมาย  ภูมิปัญญา และการนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงข้อมูลสนับสนุนอื่น ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เชี่ยวชาญ
และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สผ.พัฒนาช่องทางการนำเข้าระบบคลังข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการเข้าถึงการใช้งานระบบคลังข้อมูล การให้บริการข้อมูล ให้ผู้ใช้งาน และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึง และเรียกดูข้อมูลได้ ณ จุดเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และผู้สนใจ

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเพื่อปกป้องคุ้มครอง และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ข้อมูลที่สนับสนุนการเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร การติดตามข้อมูลงานวิจัย ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยต่างๆ รวมไปถึง การมีข้อมูลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ บนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย

สผ. 4.0

TGEIS หรือ Thailand Greenhouse Gas Emissions Inventory Systems

ระบบนี้ ได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย ทั้งด้านงบประมาณ และผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบสารสนเทศ การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

มีการออกแบบระบบฐานข้อมูล หรือ Database Management System (DBMS) พร้อมพัฒนาเว็บไซต์เป็น Web Applications ซึ่งจะยังเป็นระบบปิด และใช้งานผ่าน Intranet Web Base เพื่อรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสากล

มีวิธีประเมินผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามคู่มือ IPCC 2006 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคการเกษตร ภาคการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ และภาคของเสีย สนับสนุนการจัดเก็บ และรวบรวมข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ส่งให้ สผ. ทำการคำนวณผ่านระบบ TGEIS อย่างต่อเนื่อง และเป็นประจำทุกปี

ทำให้ประเทศไทย มีฐานข้อมูลกลางในการรวบรวม และจัดเก็บข้อมูล เพื่อประเมินบัญชีก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นระบบ สามารถนำไปใช้ประกอบในรายงาน ที่ต้องเสนอต่อ UNFCCC และเป็นข้อมูลพื้นฐาน สำหรับนำไปใช้ประกอบ ในการวางแผนกำหนดนโยบาย มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการกำหนดทิศทางการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วผ่านทางระบบ TGEIS

S 128893193

Smart EIA

สำหรับการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม “Smart EIA” ให้ประชาชน เจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เกิดการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงง่ายต่อการใช้งานในพื้นที่

สามารถสืบค้นข้อมูล และค้นหาโครงการที่ต้องจัดทำ EIA ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สผ. และสามารถตรวจสอบว่าในบริเวณใกล้เคียง มีโครงการที่ผ่านความเห็นชอบแล้วหรือไม่ และมีรายละเอียดโครงการเป็นอย่างไร ได้ทันที ผ่านทางแอปพลิเคชัน

ประชาชน และหน่วยงานทั่วไป สามารถตรวจสอบผลการพิจารณารายงาน EIA สถานะการส่งรายงาน Monitor และสถานภาพการขอรับใบอนุญาต เป็นผู้มีสิทธิทำรายงาน EIA ที่ยื่นผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

เจ้าของโครงการ นิติบุคคล ผู้มีสิทธิทำรายงาน หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ สามารถตรวจสอบสถานะรายงาน EIA รายงาน Monitor และการขอรับใบอนุญาต เป็นผู้มีสิทธิทำรายงาน EIA  ที่ยื่นผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งกระบวนการ เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รายงาน EIA รายงาน Monitor และข้อมูลการขอรับใบอนุญาตนั้น ได้รับการยอมรับจากประชาชน และหน่วยงานทั่วไปว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนในทุกระดับมีความเสมอภาค และเท่าเทียม

“เราจะก้าวเข้าสู่องค์กรดิจิทัล มีการทำงานที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศ และระดับโลกได้ ภายใต้การยกระดับการทำงานด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะต้องตอบสนองต่อการให้บริการประชาชน และจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไปสู่องค์กรดิจิทัล ภายใต้การดำเนินงานที่มุ่งเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาล บนพื้นฐานการขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สผ. กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo