Environmental Sustainability

ตามติดชีวิต ผู้พิทักษ์ ‘เขื่อน กฟผ.’

ภายใต้ภารกิจสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย เพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้าทุกหน่วยได้ใช้อย่างเพียงพอ และเต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ เรื่องนี้มีผู้อยู่เบื้องหลังหลากหลายภารกิจ ที่คอยเป็นแรงสนับสนุนให้ได้มาซึ่งความมั่นคงดังกล่าว

ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน คือ หนึ่งในเบื้องหลังที่ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจวัด ติดตามและบำรุงรักษาเขื่อน เป็นประจำอยู่ในทุกๆเขื่อนของ กฟผ. เพื่อสร้างความอุ่นใจในด้านความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยของเขื่อนให้กับประชาชน

cover เขื่อนกฟผ1

การตรวจเขื่อนให้มั่นคง ปลอดภัย เขามีกระบวนการทำงานอย่างไร

เราจะขอพาผู้อ่านทุกท่าน ร่วมตามติดชีวิตของ “ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน” ที่ปฏิบัติกันเป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพื่อตอกย้ำความมั่นใจว่า เขื่อนยังคงมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถเก็บกักน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ ด้านชลประทาน การเกษตรกรรม อุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งการเก็บกักน้ำที่มีมากมายในฤดูฝน เพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย

ที่สำคัญผลพลอยได้จากน้ำที่ปล่อยทุกหยาดหยด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าสร้างความสุขให้กับประชาชนอีกด้วย

ทุกเช้าในขณะที่หลายๆคนเริ่มประกอบกิจวัตรประจำวัน ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ต้องตื่นเช้าตั้งแต่ไก่โห่ มุ่งหน้าขึ้นสันเขื่อน เพื่อตรวจวัดค่า “อุตุนิยมวิทยา” และ “อุทกวิทยา”

20200626 ART01 02 e1596766963458

20200626 ART01 03 e1596766980547

เริ่มตั้งแต่วัดอุณหภูมิสูงต่ำ วัดค่าการระเหยของน้ำ วัดปริมาณน้ำฝน วัดความชื้นสัมพัทธ์ วัดระดับน้ำ อ่านดูแล้ว เหมือนเป็นภารกิจที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แต่หารู้ไม่ว่า ข้อมูลเหล่านี้ สำคัญกับชีวิตประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะต้องนำข้อมูลไปคำนวณปริมาณน้ำเข้า-ออกในอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้สำหรับบริหารจัดการ รองรับสถานการณ์น้ำหลาก-น้ำแล้ง

หากพบว่า น้ำเข้าเขื่อนมีปริมาณมาก และมีฝนตกหนัก อาจสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน และเกิดน้ำท่วม ไปถึงบ้านเรือนของประชาชนได้ ซึ่งนี่เป็นเพียงภารกิจแรก ที่ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนต้องทำเป็นประจำทุกวัน ไม่มีวันหยุด

1596687974722

ในทุกๆ สัปดาห์ ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะมีภารกิจ “เข้าอุโมงค์ตรวจสอบความมั่นคงเขื่อน”  ซึ่งไม่ใช่อุโมงค์ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าได้ เพราะในอุโมงค์นี้เป็นพื้นที่อับอากาศ

ผู้ที่จะเข้าไปต้องผ่านการอบรมการทำงานในที่อับอากาศมาแล้วเท่านั้น และยังต้องมีการวัดค่าออกซิเจนในอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานก่อนทุกครั้ง จึงจะสามารถเข้าทำงานได้

1596688004044

ความชำนาญ ทำให้เรื่องลำบากไม่ใช่อุปสรรค 

ส่วนความกว้างของอุโมงค์ตรวจสอบความมั่นคงเขื่อน แต่ละเขื่อนมีความกว้างไม่เท่ากัน เช่น อุโมงค์ที่เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนที่เก็บกักน้ำได้มากที่สุดของประเทศไทย มีความกว้างของรากฐานกว่า 586 เมตร หรือเทียบได้กับกำแพงเมืองจีน ซ้อนกันมากกว่า 150 ชั้น ทำหน้าที่คั่นกลางระหว่างเหนือน้ำ และท้ายน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อน

ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะต้องเข้าตรวจสอบสำรวจสภาพคอนกรีตของอุโมงค์ด้วยสายตา โดย ลงบันไดชันที่มีความสูงราว ตึก 15 ชั้น และ ลงบันไดเวียนอีกมากกว่า 250 ขั้น ภายใต้ความมืดที่อาศัยแสงสว่างจากไฟฉาย และโคมไฟเล็กๆ ในอุโมงค์เท่านั้น

20200626 ART01 05

20200626 ART01 04

แต่ด้วยความชำนาญของทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ความท้าทายดังกล่าว จึงไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการหาร่องรอยและสำรวจสภาพคอนกรีตในอุโมงค์ ซึ่งหากพบความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยทันที

สำหรับการเข้าไปภายในอุโมงค์ ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องตรวจสอบความมั่นคงเขื่อนด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น วัดแรงดันน้ำ เพื่อติดตามแรงดันน้ำในฐานรากเขื่อน ตรวจวัดอัตราการไหลซึมของน้ำผ่านตัวเขื่อน และตรวจวัดระดับน้ำใต้ดิน ให้มีค่าวัดอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอด หากพบค่าบวก/ลบที่ผิดปกติ ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะไม่นิ่งนอนใจ และจะต้องเข้าตรวจสอบสาเหตุ และซ่อมแซม เพื่อรักษาสภาพของตัวเขื่อน ให้มีความมั่นคงปลอดภัยอยู่เสมอ

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเขื่อนที่สร้างขึ้นมาทำหน้าที่กั้นน้ำจำนวนมหาศาลจนเกิดเป็นอ่างเก็บน้ำ ต้องรองรับแรงดันที่เกิดจากน้ำเหล่านั้น จึงมีโอกาสเป็นไปได้ ที่จะเกิดการทรุดตัว และเคลื่อนตัวจากแรงดันน้ำ แต่การทรุดตัวและเคลื่อนตัวนั้น ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ออกแบบไว้ก่อนการสร้างเขื่อน

ดังนั้น ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จึงต้องติดตาม และคอยตรวจเช็คการทรุดตัว และเคลื่อนตัวของตัวเขื่อน ทุกๆ 3 เดือน เพื่อยืนยันว่าเขื่อนยังมีความมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ

1596687988004

20200626 ART01 09

ไม่ละเลยสิ่งแวดล้อมโดยรอบเขื่อน

นอกจากนั้น การตรวจเขื่อนไม่เพียงแค่นำเครื่องมือวัดมาใช้ ยังต้องเดินสำรวจสันเขื่อน ที่เป็นแนวหินเสริมความแข็งแรง ทีละก้อนด้วยสายตา และความชำนาญสูง เพราะมีความลาดชัน และสูงกว่า 140 เมตร เพื่อตรวจสอบการทรุดตัวของแนวหินทิ้งลาดท้ายเขื่อน และสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับแนวหินทิ้งทั้งหมด

การระบายน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ จะต้องเป็นน้ำที่ปราศจากขยะ และสวะ จึงได้มีการจัดทำทุ่นลอยน้ำ พร้อมตะแกรงกันขยะใต้น้ำ เพื่อคอยทำหน้าที่กั้นขยะบริเวณเหนือน้ำ ก่อนที่น้ำจะไหลเข้าสู่ท่อส่งน้ำ

ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ต้องคอยดูแลทุ่นลอยน้ำดังกล่าวให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมทั้งคอยเก็บขยะและสวะอยู่เป็นประจำทุกๆสัปดาห์ อีกทั้งทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยต้องสำรวจอ่างเก็บน้ำอยู่เสมอ เพื่อสังเกตการรุกล้ำของสิ่งก่อสร้างถาวรในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ

20200626 ART01 10

20200626 ART01 08

หากพบสิ่งก่อสร้างถาวรที่รุกล้ำ ต้องมีการส่งจดหมายแจ้งเตือน ให้ผู้บุกรุกรับทราบทันที เพื่อป้องกันผลกระทบต่ออ่างเก็บน้ำ ความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน และสิ่งแวดล้อม

ทั้งหมดนี้ เป็นภารกิจของ ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ที่ล้วนแล้วแต่ใช้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนงาน โดย ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ยังคงมุ่งมั่นในการดูแลและบำรุงรักษาเขื่อนทุกเขื่อนของ กฟผ. ทั่วทั้งประเทศไทย ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย เพื่อคอยเป็นเบื้องหลังในการผลิตไฟฟ้าสร้างความสุขและอยู่เคียงข้างสังคมไทยตลอดไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo