สำเร็จ! วิถี “Waste This Way” ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ งานบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จัดการขยะครบวงจร ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 18,121 กก. คาร์บอนไดออกไซด์ เทียบปลูกต้นไม้ 2,013 ต้น GC เดินหน้า “ลด เปลี่ยน แยก” ขยะ ต่อเนื่อง
แคมเปญ “Waste This Way #รักษ์โลกให้ถูกทาง” แคมเปญผลักดันการจัดการขยะในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน สอดรับแนวคิด GC Circular Living มุ่งมั่นสร้าง Solution for Everyone หรือ การสร้างโซลูชั่น เพื่อรองรับความต้องการของทุกคน และผลักดันให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยครั้งนี้ GC มีเป้าหมายปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ เริ่มต้นจากนิสิตนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย ผ่านคอนเซ็ปต์ “ลด เปลี่ยน แยก” และนำมาปรับใช้ในกิจกรรมทุกส่วน ของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ครั้งนี้
“ลด” หมายถึง ลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณการสร้างขยะ และคัดแยกขยะภายในงาน และนำไปคำนวณ เพื่อหาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากงานนี้
“เปลี่ยน” ไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือ พลาสติกชีวภาพ โดยนิสิตนักศึกษาบนแสตนด์แปรอักษร จะรับประทานอาหารจากกล่องบรรจุอาหาร เคลือบพลาสติกชีวภาพ และใช้ถุงใส่อุปกรณ์ที่ Upcycling จากขยะขวดพลาสติก
“แยก” สนับสนุนให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกภาคส่วนในงาน แยกขยะ ประเภทต่างๆ ออกจากกัน แบ่งขยะออกเป็น 5 ถัง 5 ประเภท ได้แก่ ขยะเศษอาหาร, ขยะแห้ง, ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก , ขยะทั่วไป และขยะพลาสติกชีวภาพ เพื่อนำไปบริหารจัดการต่อไป รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ
โดยผู้ชม ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป ก็มีส่วนร่วม ด้วยการแยกขยะ โดยเทน้ำ และเศษอาหาร ออกจากขยะรีไซเคิล และขยะทั่วไป เพื่อลดการปนเปื้อน และเพิ่มความสะดวก ในการขนส่งไปจัดการต่ออย่างเหมาะสม ซึ่งบนถัง จะมีคำอธิบายการแยกขยะที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้เข้าใจง่าย มองเห็นได้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีสตาฟคอยให้คำอธิบายเรื่องการแยกขยะทุกๆจุด
ขณะที่วัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงไม้ ผ้าดิบ ไวนิล หลังจบงาน ได้มีการคัดแยก เพื่อนำวัสดุที่ยังใช้ได้ มาหมุนเวียนใช้ใหม่ด้วยการ Reuse, Recycle และ Upcycle เพื่อให้ทุกวัสดุเกิดประโยชน์สูงสุด
ตลอดการจัดกิจกรรมต่างๆ และการแข่งขันฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในวันนั้น ทุกภาคส่วน ทั้งนิสิตนักศึกษา ศิษย์เก่า ทีมผู้จัดงาน หน่วยงานองค์กร ที่เข้าร่วมงาน และประชาชนทั่วไป ต่างให้ความร่วมมืออย่างดี นำมาสู่ผลสัมฤทธิ์ในการลดขยะภายในงาน
โดยสามารถ “ลด” ก๊าซเรือนกระจกได้ 18,121 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นการปลูกต้นไม้ 2,013 ต้น ลดใช้แก้วพลาสติก (Single-use Plastic) ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง 2,487 ชิ้น ลดการนำขยะไปฝั่งกลบได้ 72%
ส่วนกิจกรรม “เปลี่ยน” พบว่าสามารถเปลี่ยนไปใช้กล่องบรรจุอาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพ 8,880 ชิ้น เปลี่ยนไปใช้เสื้อ Upcycling จากขวดพลาสติกสำหรับเสื้อสตาฟเชียร์ 3,700 ตัว และเปลี่ยนไปช้ถุง Upcycling จากขวดพลาสติก 5,700 ใบ
กิจกรรม “แยก” สามารถแยกขยะได้รวม 4,995 กิโลกรัม ถูกนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยขวดพลาสติก ผลิตเป็นรองเท้า ส่วน ผ้า และไวนิล นำไปทำเป็นกระเป๋า ทั้งหมดมอบให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ส่วน ไม้ นำไปสร้างบ้านร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ทางด้านขยะแห้ง ไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล และเผาเป็นพลังงาน เศษอาหาร ทำเป็นอาหารสัตว์ และปุ๋ย ขยะพลาสติกชีวภาพ ฝัง เพื่อสลายตัวเป็นปุ๋ย หรือใช้เป็นกระดาษเพาะชำ
เรียกได้ว่า นอกจากจะเป็นฟุตบอลประเพณีเชื่อมความรักความสามัคคีระหว่าง 2 สถาบันแล้ว ยังเป็นงานแห่งการสานพลัง “การจัดการขยะ” ของประเทศด้วยความร่ว่มมือจากทุกภาคส่วน
อย่างที่ผู้บริหาร GC ได้ประกาศไว้ตั้งแต่เริ่มต้นจับมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าจะไม่หยุดแค่การจัดการขยะในงานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้เท่านั้น แต่จะเข้าไปจับมือกับสถาบันการศึกษาอื่น รวมถึงองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในการจัดการขยะอย่างจริงจัง และให้วัดผลได้เป็นรูปธรรม โดยคาดหวังที่จะส่งต่อภารกิจนี้ กระจายออกไปยังทุกคนในสังคม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ “ลด เปลี่ยน แยก” ขยะอย่างจริงจัง